…จะดีไหม ? ถ้าปลายทางของการเรียนไม่ได้จบลงเพียงแค่ในห้องสอบ แต่เป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตได้จริง และเชื่อมโยงกับบริบทชีวิตของผู้เรียน…
เมื่อผู้เรียนอยู่ในบริบทของสังคม ชุมชน และโรงเรียนที่มีการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้แตกต่างกัน การเรียนรู้อย่างไรจึงจะตอบรับและมีความหมายต่อความหลากหลายเหล่านี้ได้ ?
ครูก่อการคูณ หรือ X-Teachers ที่รวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ คือหนึ่งในกลุ่มครูที่อยากขับเคลื่อนประเด็นทางการศึกษา สร้าง “วัฒนธรรมการศึกษาแบบใหม่” ที่มีความสุขและความหมาย และหนึ่งในความฝันที่หลายพื้นที่เครือข่ายอยากจะเห็นก็คือ การศึกษาที่เชื่อมโยงกับบริบท ทรัพยากร ชุมชน และชีวิตของผู้เรียน
“ตอนที่เราคุยกัน คือเราต้องการสร้างห้องเรียน ทำยังไงที่ห้องเรียนจะมีความหมายสำหรับทุกคนได้ การเรียนรู้มันไม่ได้เรียนไปเพื่อสอบ แต่เรียนไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของเขา”
‘แอน-นาฎฤดี จิตรรังสรรค์’ หนึ่งในครูก่อการคูณผู้ขับเคลื่อนเครือข่าย ก่อการครู Bangkok และ พันธมิตร กล่าวถึง การเรียนรู้ที่ควรนำไปใช้ในชีวิตของผู้เรียนได้จริง มากกว่าการเรียนเพื่อไปสอบ ซึ่งเป็นแว่นมุมมองของทีมครูแอนที่นำมาสู่โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนเครือข่ายว่า แล้วจะออกแบบห้องเรียนที่มีความหมายสำหรับทุกคนได้อย่างไร ?

“ทีมเรามองว่า ตัวชุดความรู้แบบเดิมๆ ลักษณะการเรียนการสอนแบบเดิมๆ มันไม่ได้ตอบโจทย์ เราไม่ได้มองเห็นเด็กเป็นคนๆ การสอนที่เป็นเรื่องของ CBE จะทำให้เรามองเห็นเด็กเป็นคนๆ มากขึ้น ทำให้การเรียนรู้ในห้องเรียนมีความหมาย”
หมุดหมายเพื่อสร้างห้องเรียนที่มีความหมายต่อนักเรียน “ทุกคน” ทำให้ทีม ก่อการครู Bangkok และ พันธมิตร เห็นร่วมกันว่าอยากขับเคลื่อนพื้นที่ของตนด้วยแนวทางการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency – based Education : CBE) โดยขยายแนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะสู่ครูที่สนใจ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการออกแบบการเรียนรู้ที่เริ่มจากสิ่งรอบตัวและผู้เรียนทุกคนเป็นฐาน
“การสอน CBE แต่ละพื้นที่มีบริบทของตัวเองที่แตกต่างกัน แต่มันจะมีจุดเชื่อมอะไรบางอย่าง ในเรื่องหลักสูตรหรือวิธีการเรียนการสอน มันเป็นวิธีการที่จะดึงเอาเชิงพื้นที่ของตัวเอง เข้ามาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอน”
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเครือข่ายย่อย 3 เครือข่ายของ ก่อการครู Bangkok และ พันธมิตร ซึ่งก่อร่างจากการเริ่มมองที่ตัวตนและพื้นที่ของสมาชิกในทีม เกิดเป็น ก่อการครูละโว้ ก่อการครูแปดริ้ว และก่อการครูมักกะสัน
ก่อการครูละโว้ (ลพบุรี) เริ่มมองจากประวัติศาสตร์ เพราะมีแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาตร์มากมาย ในขณะที่ ก่อการครูมักกะสัน จะมองไปถึงบริบทชุมชนที่กำลังจะกลายเป็นชุมชนรถไฟซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีและผู้คน ส่วน ก่อการครูแปดริ้ว เป็นพื้นที่ที่จะกลายเป็น EEC (Eastern Economic Corridor) หรือ “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” ชุมชนก็จะมีเรื่องการใช้นวัตกรรมพลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้าทั้งหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง

จะเห็นว่าทั้งสามพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่โจทย์ที่เหมือนกันในการขับเคลื่อนเครือข่ายครั้งนี้คือ ทำอย่างไรที่ครูจะสามารถดึงสิ่งเหล่านี้มาออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กๆ ได้ แล้วมันจะทำให้เด็กได้เห็นความหมายและความเกี่ยวโยงของบริบทกับตัวเขาเอง
“การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าคุณครูหยิบสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเค้ามาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนได้ จะทำให้ห้องเรียนมีความหมาย ไม่ได้สอนตามหลักสูตร ไม่ได้สอนตามกระทรวง แต่สอนไปแล้วเค้าจะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องและมีคุณค่ากับเค้ายังไง”
การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน
“การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน” ประโยคนี้ของครูแอนชวนคิดต่อไปถึงการศึกษาแห่งการมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้นึกถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายของก่อการครูทางภาคอีสาน โดยเฉพาะ ก่อการครูกาฬสินธุ์ ที่ชวนหลายภาคส่วนในพื้นที่มาออกแบบการศึกษาร่วมกันก่อนขับเคลื่อนเครือข่ายต่อไป
“ออกแบบหน้าตาการศึกษาบ้านเฮา เราถามว่า เค้าอยากได้อะไร อยากเห็นอะไรในกาฬสินธุ์ มีเครือข่ายหลายเครือข่ายมาร่วมกับเรา การเรียนรู้ที่สร้างประสบการณ์ ความรู้แบบยั่งยืน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและชุมชน นี่เป็นหน้าตาการศึกษากาฬสินธุ์ที่หลายคนอยากเห็น”
‘ครูฝน-สายฝน จันบุตราช’ หนึ่งในสมาชิกทีม ก่อการครูกาฬสินธุ์ เล่าถึงกิจกรรม “ออกแบบหน้าตาการศึกษาบ้านเฮา” ที่ชวนเครือข่ายหลายภาคส่วนร่วมระดมความคิดเห็นว่าอยากเห็นการศึกษาของกาฬสินธุ์เป็นอย่างไร สะท้อนให้เห็นวิธีคิดที่ว่า เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เราจึงต้องออกแบบร่วมกัน

ครูฝนยังเล่าต่ออีกว่า การขับเคลื่อนของก่อการครูกาฬสินธุ์ เป้าหมายปลายฝันคือการอยากเห็นการศึกษาในพื้นที่เคลื่อนไปถึงความเป็น “กาฬสินธุ์ศึกษา” ให้ได้
“เราอยากทำให้กาฬสินธุ์ศึกษาโดดขึ้นมา ถ้าค้นหากาฬสินธุ์ในกูเกิล จะไม่เจอแค่การไปเที่ยวลำน้ำปาว หรือไดโนเสาร์ เราอยากให้พบว่า กาฬสินธุ์ศึกษามีโมเดลการศึกษาอย่างไร”
ครูฝนเล่าด้วยน้ำเสียงและสายตาที่เอาจริงเอาจังกับการร่วมกันขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ปลายทางที่มุ่งหวังดังกล่าว โดยขยายความให้เห็นต่อว่า “กาฬสินธุ์ศึกษา” ที่ว่ามานี้เป็นอย่างไร
“ทีมก็ได้มองกลับมาที่กาฬสินธุ์ว่ามีทรัพยากรแวดล้อมอย่างไรก็ใช้สิ่งแวดล้อมของกาฬสินธุ์เป็นฐานในการออกแบบกิจกรรมขับเคลื่อนในครั้งนี้ เพื่อการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและชุมชนได้จริง”
เช่นกันกับทาง ก่อการครู ณ ศรีสะเกษ ที่อาจไม่ได้นิยามการขับเคลื่อนของพวกเขาว่า กำลังสร้างศรีสะเกษศึกษาร่วมกัน แต่ทางเครือข่ายก่อการครูศรีสะเกษเองมีความหวังที่จะเห็น Learning Space ของจังหวัดเกิดขึ้นได้จริง กล่าวคือ อยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวโยงกับบริบทชีวิตจริงของเด็กได้
“เราอยากสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่เราอยากให้การเรียนรู้มันเชื่อมโยงกับโลกจริงได้ ทำไมเด็กต้องเรียนรู้เรื่องนี้ ทำไมเขาต้องทำเรื่องยางพารามันเกี่ยวข้องกับชีวิตของเค้ายังไง ถ้าเค้าไม่รู้เรื่องนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเค้า เราพยายามไปให้ถึงตรงนั้น”
‘ดา- ลัดดา เลิศศรี’ ครูก่อการคูณผู้เป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ก่อการครู ณ ศรีสะเกษ เล่าถึงมุมมองของการเรียนรู้ที่นักเรียนควรเชื่อมโยงกับโลกจริงได้ และยังเล่าต่อไปว่า การสร้าง Learning Space ในจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีความสำคัญต่อการขยายพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงชุมชน ทำให้คนเห็นคุณค่าของพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การศึกษาที่ไม่ผลักใครออกจากชุมชนของตน

“เวลาเราทำงานร่วมกับชุมชน เราเห็นว่าเมื่อไรก็ตามเราชวนชุมชนเข้ามาขยับเรื่องนี้ มันจะทำให้เด็กรู้สึกมีตัวตน โรงเรียนไม่ห่าง เด็กจะรู้สึกว่ามีรากฐานมาจากตรงนี้นะ การศึกษาของเรามันไม่ใช่เพียงให้เด็กเรียนรู้และไปไกลจากชุมชน เด็กควรจะได้กลับมา ถ้าเราสอนเด็กแล้วเด็กออกไปจากชุมชนหมด แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร เราจึงอยากสร้างพื้นที่ Learning Space ของตัวเองที่นี่ ให้มันเติบโต ยั่งยืน”
การศึกษาที่ไม่ผลักใครออกจากชุมชน
‘สอญอ-สัญญา มัครินทร์ ‘ หนึ่งในครูผู้ก่อการขับเคลื่อน ก่อการครู 3 ภู+ กล่าวถึงการศึกษาที่ทำให้คนออกจากชุมชนได้อย่างน่าสนใจว่า
“เรารู้สึกว่าที่ผ่านมาการศึกษามันแยกส่วนมาตลอด มีวาทกรรมคือ ไปเป็นเจ้าคนนายคน ไปทำงานในเมือง ระบบและสังคมมันหล่อหลอมให้คนหนีจากบ้าน…ภูผาม่านก็เป็นคนนอกที่มาทำเรื่องท่องเที่ยว แต่ว่าคนข้างในก็พยายามหนีไปในเมือง ทำงานต่างจังหวัด เราจะทำการศึกษายังไงให้คนข้างในเห็นทุนของตัวเอง เห็นปัญหา หรือเห็นความงาม”

นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลของการหันกลับมามอง ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อค้นหาความสำคัญและความหมายของมันต่อชีวิตของคน โดย ก่อการครู 3 ภู+ เลือกที่จะขับเคลื่อนเครือข่ายจาก 3 พื้นที่หลักคือ ภูกระดึง อำเภอสีชมพู และภูผาม่าน ซึ่งทั้งสามพื้นที่ล้วนเป็นตะเข็บชายแดน
ภูกระดึง มีพื้นที่ติดกับภาคเหนือ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ติดหนองบัวลำภู สีชมพูและภูผาม่าน คือชายขอบของเลยและขอนแก่น โดยมีทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา แม่น้ำ เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำพองสาขาสำคัญของขอนแก่น และยังมีลำน้ำเซินที่เป็นลำน้ำแม่น้ำชีของชาวอีสานตอนกลาง ซึ่งนับเป็นทรัพยากรที่มีความหมายต่อแก่นแกนการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งสิ้น

การชวนคนกลับมาสนใจชุมชน และหวนกลับมาพัฒนาพื้นที่ของตนจึงเริ่มจากการเห็นคุณค่าของทรัพยากร ชุดความรู้ที่อยู่รอบตัว นำไปสู่การเกิดไอเดียขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยว
“คือเราเห็นว่า ถ้าคนมันจะรักพื้นที่ มันควรจะถูกทำในเชิงการศึกษาด้วย หรือในเชิงสร้างสรรค์อื่นๆ ซึ่งโซนนี้ก็จะชูเรื่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเออ บ้านฉันมันก็มีอะไรนะเว้ย มันก็จะเริ่มทำให้คนเห็นบางอย่างในบ้านตัวเอง จากผลักไส จากที่มองไม่เห็น มันก็จะเริ่มเห็น ใกล้ชิดมากขึ้น มันก็จะนำไปสู่ความภาคภูมิใจ”
ครูสอญอมองว่าการเห็นความสำคัญของพื้นที่ตนเองในแง่ที่ว่าเห็นความเชื่อมโยง เห็นคุณค่า เห็นปัญหา เห็นการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว จะสร้างความรักและผูกพันกับพื้นที่ได้ เมื่อเกิดความรักถิ่นฐาน ก็จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนร่วมกัน ซึ่งการทำงานในบทบาทของครูก็มีโจทย์สำคัญคือ จะเชื่อมโยงให้เด็กเห็นสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
“เราฝันว่าสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ภาพฝันคืออยากเห็นคนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการมอง พัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจริงๆ โรงเรียน หรือ การศึกษาน่าจะเชื่อมโยงกับชุมชนและเชื่อมโยงกับปัญหาจริงๆ การศึกษามันแยกส่วนจากพื้นที่ เด็กก็เรียนเพียงแต่เรียน แต่มันมีของดีเยอะ มีพื้นที่เรียนรู้เยอะมาก ครูจะมีสกิลหรือทักษะในการเชื่อมโยงส่วนนี้ยังไง”

ความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่การขับเคลื่อนของครูก่อการคูณทั้ง 4 เครือข่ายที่กล่าวมานั้น ทำให้เห็นโอกาสในการออกแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่ ทั้งยังทำให้เห็นว่า “ความรู้” มีความหลากหลาย ทุกบริบทพื้นที่ล้วนมีความรู้ที่มีความหมายแก่การเรียนรู้ทั้งสิ้น
การออกแบบการเรียนรู้จึงไม่ได้มีปลายทางเป็นห้องสอบที่วัดผลประเมินผล “ความรู้” ด้วยวิธีการแบบเดียว หากแต่เป็นการสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจตัวเองว่าเชื่อมโยงกับบริบท ชุมชน ปัญหา และการเปลี่ยนแปลงรอบตัวอย่างไร
ติดตามการขับเคลื่อนเครือข่ายได้ที่ เพจ ก่อการครู