“เมื่อครูรู้ตัวว่าต้องสอนออนไลน์ ต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมอะไรอีกบ้าง”
เป็นโจทย์ ที่ มะโหนก-ศุภวิชช์ สงวนคัมธรณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท แบล็คบ็อกซ์ ทีมและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ก่อการครู’ กำลังทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนจะถอดสูตรออกมาคร่าวๆ พร้อมคำอธิบายละเอียดยิบ คุณครูสามารถเลือกหยิบมาใช้ได้ทีละขั้นตอน
เราเชื่อมือสุภาพบุรุษคนนี้ได้ เพราะหมวกหลายใบที่สวมอยู่ ทั้งโค้ช ครูของครู และผู้เชี่ยวชาญด้าน Visual Thinking
สูตรการสอนออนไลน์ของเขายืนอยู่บนหลักคิดสำคัญที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กๆ อยู่หน้าจอน้อยที่สุด
3 Knows

ก่อนลงมือสอนครูควรรู้จัก (know) 3 สิ่งนี้ก่อน
1. Know Tools – รู้จักเครื่องมือ
ข้อนี้ มะโหนกไม่ค่อยกังวล เพราะตอนนี้มีเครื่องมือมาช่วยคุณครูมากมาย เช่น Zoom (แอพพลิเคชั่นสำหรับการเรียน ทำงานออนไลน์) ฯลฯ ซึ่งดีอยู่แล้วแต่ไม่พอ ต้อง…
2. Know Student – รู้จักเด็ก
รู้จักเด็กและรู้จักอินเทอร์เน็ตของเด็กๆ
มะโหนกตั้งคำถามที่ครูต้องตอบให้ได้ว่า เด็กๆ ในห้องเรียน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีมากน้อยแค่ไหน คำว่า “มากน้อยแค่ไหน” หมายความว่า อินเทอร์เน็ตที่บ้านเด็กๆ นั้นเร็วหรือพร้อมถึงขนาดที่คุณครูสามารถพูดไปวาดไปขณะสอนออนไลน์ได้หรือไม่
ถ้าเด็กมีแค่ 4G ธรรมดา ครูไม่ควรใส่มัลติมีเดียมาก เพราะเด็กจะอ่านไม่ได้ ดังนั้นครูจำเป็นต้องเข้าถึงและรู้จักเด็กๆ ว่าบ้านเขา มีอะไรนำมาใช้ทำกิจกรรมได้บ้าง
“สมมุติว่าคุณครูจะสอนเรื่องกาพย์ยานี 11 คุณครูต้องรู้ว่า ที่บ้านเด็กมีหนังสือเรียนอะไรบ้าง หนังสือเรียนพร้อมไหม เข้าอินเทอร์เน็ตไปหากาพย์ยานีในกูเกิลได้ไหม ถ้าสอนเรื่องคณิตศาสตร์ เรื่องทรงกลม ก็อาจจะดูว่า ที่บ้านของเด็กๆ มีลูกบอลไหม คุณครูก็ต้องรู้พอสมควรว่าที่บ้านมีอะไรให้เล่นบ้าง”
ถามแบบกำปั้นทุบดินว่า อ้าว แล้วคุณครูจะรู้ได้อย่างไร? มะโหนกตอบว่ามีหลายวิธี เช่น คุณครูควรคุยกับเด็ก เช่น หัวหน้าห้อง หัวโจกห้อง แล้วให้เด็กๆ ไปถามกัน
“บางทีเด็กเป็นคนสอนครูด้วยซ้ำ ว่าครู Zoom (แม่ง) ไม่เวิร์ค วิธีที่ครูสอน ครูแอคติ้งเยอะเหลือเกิน ครูอาจจะต้องเปลี่ยนวิธี”
ความเหลื่อมล้ำคืออุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โอกาส นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำด้านอินเทอร์เน็ต – ซึ่งเป็นเรื่องจริง
คำแนะนำของมะโหนกคือ ให้ครูออกแบบโดยตั้งต้นจากคนที่มีน้อยหรือไม่มี
“ถ้าไม่มีไปเลย เราจะได้ดีไซน์ว่า อย่าไปใช้สื่อที่มัลติมีเดียมาก เน้นพาวเวอร์พอยต์ไว้ หรือเน้นกระดาษ เขียนฟลิปชาร์ต แล้วก็ถ่ายรูปส่งไป ถ้าสมมุติบางคนมี บางคนไม่มี มันก็ต้องเอนไปทางคนที่มีน้อยไปก่อน ส่วนคนที่มีมากก็อาจจะมี tutorial เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะไม่ได้จากครูก็ได้ อาจมาจากยูทูบ”

3. Know Content – รู้เนื้อหา
ครูต้องตัดเย็บเนื้อหากันใหม่ หมายความว่า จากคาบปกติมาเป็นออนไลน์ อาจจะต้องแบ่งหรือซอยมาเป็น 2 คาบ หรือมากกว่านั้น
“อันนี้คุณครูก็ต้องรู้ตัวเองว่า เนื้อหาจะสอน มันควรจะตัดแค่ไหน มันไม่ควรจะเป็น 1 คาบเรียนปกติ = 1 คาบเรียนออนไลน์เสมอไป”
และการรู้เนื้อหา ครูควรรู้ด้วยว่า
What สอนอะไร
ตั้งธงให้ดีว่า หนึ่งคาบเรียนออนไลน์ที่เราคิด จะสอนเรื่องอะไร แค่ไหน
How สอนอย่างไร
อย่าให้เป็นการสอนออนไลน์แบบ Passive แต่ควรเป็นแบบ Active
“เช่น มีบางจังหวะที่คุณครูพูดยาวประกอบสไลด์ ต้องดีไซน์กิจกรรมสลับบ้างนิดหน่อย เช่น เด็กฟังครูเสร็จแล้ว ให้เด็กเขียนมายด์แม็ปสรุป ส่งมาให้ครูดูหน่อย กิจกรรมนี้อาจใช้เวลา 5-10 นาที เพราะว่าเวลาเรียนออนไลน์ สมาธิจดจ่อของเด็กจะหลุดเร็วมาก 5 นาทีก็เปิดยูทูบฟังเพลงแล้ว”
ฉะนั้น การเปลี่ยนสื่อจึงต้องเปลี่ยนวิธีการสอนด้วย เช่น ปกติสอนหน้าห้องพูดเยอะ สลับโหมดมาสู่ออนไลน์แล้วพูดเยอะเหมือนเดิม เด็กก็จะไม่สนใจ จังหวะนั้นครูเองก็ควบคุม ห้ามปรามไม่ได้
Evaluate ประเมินอย่างไร
พอเป็นการสอนออนไลน์ การประเมินจะทำได้ค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะจากการมอง การสังเกตพฤติกรรม แต่สิ่งที่พอจะช่วยได้คือ ให้นักเรียนทำ Learning Evidence สรุปให้เห็นเป็นหลักฐานของการเรียนรู้ออกมา
“เช่น สอนเรื่องกาพย์ยานีไป ให้เด็กลอกมาหนึ่งบท เขียนสัมผัสให้ดูหน่อย แล้วก็ถ่ายรูปมา เราก็จะดูได้ว่าใครเข้าใจ ใครไม่เข้าใจ เป็นการประเมินระหว่างสอนเลย แต่พอสอนเสร็จก็ต้องมีประเมินอีกครั้งนะครับ”
ลงมือสอน

1. Intro – ต้นคาบ
เชื่อมโยง link ในกรณีที่มีบทเรียนก่อนหน้านี้ เรียกดู หรือชวนให้คุยทบทวนกันก่อนตอนต้นคาบ แล้วคาบนี้จึงสอนต่อ
เล็งเป้า focus คุยกับผู้เรียนให้เข้าใจตรงกันว่า บทนี้จะเล็งเป้าอะไร 50 นาทีต่อจากนี้จะโฟกัสเรื่องนี้ อะไรแบบนี้
2. Activity – สอนสลับกิจกรรม
สอนคือพูดให้ฟัง ประกอบสื่อต่างๆ แล้วแต่คุณครูจะออกแบบ แต่ทุกการสอนควรมีกิจกรรมแทรก ยิ่งเด็กเท่าไหร่ กิจกรรมต้องเยอะ เยอะแต่ไม่ต้องยาว หนึ่งช็อตสั้นๆ อาจจะครั้งละ 2-5 นาที แต่ควรมีให้บ่อย
ที่สำคัญ แต่ละคาบ ไม่ควรยาวเกินไป
“คนเราปกติรับสารแบบทางเดียวได้ไม่นานอยู่แล้ว เช่นถ้าเราฟังใครพูดยาวๆ เต็มที่ก็ 15 นาที ถ้าเป็นวัยเด็กๆ ก็จะยิ่งหลุดโฟกัสเร็วกว่านั้นอีก ดังนั้นเวลาทำคลาสออนไลน์ ถ้าจำเป็นต้องพูด ต้องสั้นกว่า 15 นาที ขึ้นกับตัวผู้เรียนด้วยนะ ไม่ควรนานกว่านี้สำหรับวัยรุ่น แต่ถ้าเด็กกว่านี้ ระยะเวลาต่อเฟสควรลดลงอีก
เมื่อพูดไปแล้วช่วงหนึ่ง 10-15 นาที ควรคั่นด้วยกิจกรรม ให้เด็กได้เอาเนื้อหา/ความรู้นั้นไปขบ ไปคิดต่อ เหมือนเป็น mini activity
“ถามว่า มินิแค่ไหน เอาที่มันไหวกับความพร้อมและศักยภาพของเด็ก แต่เท่าที่ผมทำมา คือ บรรยายไป 10 นาทีแล้ว ไหนลองสรุปมาหนึ่งแผ่นซิ จะเขียนหรือวาดก็ได้ สลับเป็นระยะอย่างนี้ ยกตัวอย่างให้ชัด เช่น ช่วง 10 นาทีนี้ สรุปมาเป็น visual 1 แผ่น 10 นาทีต่อไปลองสรุปมาเป็นคีย์เวิร์ด เขียนมาให้ดูหน่อย คือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”

ทีนี้ ถ้าต้องสอนยาว มีเนื้อหาหลายเรื่อง เช่นคาบหนึ่ง 50 นาที – 1 ชั่วโมง มะโหนกแนะนำเบื้องต้นว่าให้แบ่ง 3-4 เฟสใน 1 คาบ ให้แบ่งเนื้อหาที่ตัวเองจะสอน สอนไปตรงๆ เล่าประกอบสื่อช่วงละไม่เกิน 15 นาที สลับแทรกด้วย mini activity แล้วสอนต่ออีก 10-15 นาที เป็นเฟสสลับกันไปอย่างนี้
ที่ ตัว mini activity ที่แทรกสลับการสอน เป็นหลักฐานการเรียนรู้ได้ด้วย เช่น ให้เด็กๆ ถ่ายรูปส่งมา
3. Self Regulate – ให้เด็กทบทวนตัวเอง
จบด้วยการทวนตัวเอง ง่ายที่สุดคือถามเด็กๆ ว่า คาบนี้ได้อะไรบ้าง อาจจะขอคนละหนึ่งประโยค เป็นช่วงให้เขาตกตะกอนตัวเอง
ปิดท้ายด้วยการบ้าน ถ้าคาบนั้นหรือเนื้อหานั้นมีอะไรไปเล่นต่อหลังจากคาบได้ ก็ให้เป็นการบ้านไป ซึ่งส่วนใหญ่ การบ้านจะกลับมาใช้อีกทีตอนอินโทรของคาบต่อไป
“เช่น คราวที่แล้วครูให้ช่วยกันหากาพย์ยานีมาคนละบท ไหนลองโชว์หน่อย มันก็เป็นการทวนไปในตัว”
Visual Thinking ช่วยอะไรได้บ้าง
Visual กับ Intro
จุดประสงค์ของ intro คือทำให้เด็กและครูรู้ว่าคาบนี้จะเจออะไร มะโหนกเสนอ 2 วิธีง่ายๆ
1. Content Mapping เหมาะสำหรับเนื้อหาที่เป็นรูปธรรม/จับต้องได้ โดยคุณครูวาดมายด์แม็ปขึ้นมาหนึ่งรูปแสดงถึงเนื้อหาน้ันๆ เพื่อให้เด็กและครูเห็นธงร่วมกันว่าคาบนี้เรียนเรื่องอะไร
“เช่น เรื่องกาพย์ยานี 11 (เขียนไว้ตรงกลาง) แต่กาพย์ยานีต้องรู้เรื่องสระ, จำนวนคำ, สัมผัสระหว่างวรรค แล้วคุณครูก็ถ่ายรูปมายด์แม็ปให้เด็กๆ ดู พร้อมบอกว่าวันนี้จะมาเรียนเรื่องกาพย์ยานี 11 นะ อาจจะแรเงาเฉพาะเรื่องที่จะเรียนในคาบนี้ เช่น เราจะเรียนเรื่องสัมผัสระหว่างบทก่อน เพื่อให้เด็กเห็นว่าตอนนี้ครูอยู่ตรงไหนของเรื่องนี้”
2. Outcome Snapshot เหมาะสำหรับเนื้อหานามธรรม เรื่องทางสังคม
“เหมือนภาพการ์ตูน ฉากเหตุการณ์ ฉากละคร มีคนพูด มีคนวาด มีคนแอคชั่น สมมุติวันนี้เรียนเรื่องโควิดซึ่งหัวข้อใหญ่มาก แต่เราสโคปมาเป็นเรื่องหลักการล้างมือให้รอดจากโควิด เราอาจจะวาดรูปหนึ่งที่สื่อถึงเรื่องการล้างมือ ให้เด็กเห็นว่าวันนี้เราจะมาเรียนเรื่องแอคชั่นนี้”
เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะได้เรียนใน 50 นาทีนี้ เดี๋ยวมันจะโยงกลับมายังเรื่องล้างมือทุกครั้ง มะโหนกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับการวาดภาพเป้าหมายให้เด็กๆ เห็น หลงไปไหนก็สามารถกลับมาที่เป้าหมายได้ทุกครั้ง-ไม่งง

Visual กับ Activity
1. Visual Talk ครูสามารถสอนไปวาดรูปไป ไม่ว่าจะวิชาอะไรก็สามารถทำได้ วิชาเคมีอาจจะวาดแบบจำลองอะตอม หรือสอนพระพุทธศาสนา ก็อาจจะวาดปางประพุทธรูป
“ครูถามว่า ใช้รูปถ่ายได้ไหม ได้ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ข้อดีของ visual ถ้าเป็นรูปถ่าย มันก็จะไม่ค่อยน่าสนใจ เห็นกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเราวาดรูปพระพุทธรูปปางห้ามญาติ มันก็จะน่าสนใจมากกว่า ตลกด้วย เช่น ครูวาดปางห้ามญาติ ครูอาจจะถูกถาม มือเป็นอะไร มือพระพุทธรูปหรือโดเรมอน มี engagement เยอะกว่ารูปถ่าย”
2. Visual Template ถ้าสอนเรื่องอะไร แล้วแปลเรื่องนั้นให้เป็นรูปแบบภาพง่ายๆ
มี 4 template ง่ายๆ แนะนำ
Point คือ สิ่งที่ครูพูดเป็นเรื่องๆ ไป ก็อาจจะวาดรูปแยกกัน เป็นจุด เป็นก้อน เขียนประกอบกัน เช่นพระพุทธรูป อาจจะวาดปางต่างๆ
Map ฝึกเชิงตำแหน่งแห่งที่ เช่น โควิด ในชุมชนเรามีใครติดอยู่ตรงไหนแล้วบ้าง
Compare ใช้สำหรับข้อมูลหลายๆ ชุด ดูแล้วเก็บความต่าง-ความเหมือน เช่น เปรียบเทียบโควิดกับซาร์ส หรือเทียบมาตรการโควิดของไทยกับของไต้หวันหรือเกาหลี
Flow Chart ใช้เล่าคอนเทนต์ เล่ากระบวนการ ตำแหน่งของเหตุการณ์
Visual กับ Self Regulate
1. Visual Capture
เป็นช่วงที่เด็กจะได้อุปกรณ์และลงมือทำเอง ประเมินไปในตัวว่าตัวเองเข้าใจอะไรและเรียนรู้อะไรบ้าง
“Visual Capture คือ คุณครูสั่ง ออกแบบโจทย์ให้เด็กวาดรูปสรุป เช่น วันนี้เรียนมา 50 นาที ลองสรุปเป็นภาพ+คำ คนละหนึ่งแผ่นเป็นอย่างต่ำ Visual Capture คือแคปทั้งหมดให้อยู่ในหนึ่งภาพ “
2. Visual Note Post
ถ้าอยากให้เด็กๆ เขียนบรรยาย อาจทำเป็นโพสต์ นำรูปที่ได้จาก Visual Capture ไปโพสต์ในเฟซบุ๊คกรุ๊ปพร้อมเขียนแคปชั่น แล้วนำไปเชื่อมโยงกับคาบต่อไป
5 ทักษะที่ครูควรมีก่อนสอนออนไลน์
1. เพิ่มทักษะการเม้าท์มอย ทักษะการไปยุ่งกับชีวิตเด็ก ถ้าไปเองไม่ได้ก็อาจจะต้องหาวิธี หรือวานเด็กด้วยกันไปช่วยดูให้หน่อย เพื่อให้รู้จักนักเรียนมากที่สุด
2. IT Activity ศึกษาดู platform ต่างๆ เช่น เราจะสอนแบบนี้ เราเป็นคนแบบนี้ เราชอบกิจกรรมแบ่งกลุ่ม มี platform ไหนที่เหมาะบ้าง
3. รู้จักสิ่งที่จะสอนจริงๆ นี่เป็นทักษะสำคัญที่สุดสำหรับมะโหนก เพราะคุณครูจำนวนมาก อาจจะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่สอนอยู่ คือเรื่องอะไร
“ถ้าเด็ก 50 คนมาอยู่ในคลาสเดียวกันแล้วเราสอนตามหนังสือ มันทำแบบนี้กันมาเยอะมาก หลายปีแล้ว ซึ่งมันง่ายต่อครู แต่เอาจริงได้ผลกับผู้เรียนน้อย แต่ตอนนี้เด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียนกับเราแล้ว คุณจะคิดวิธีสอนอย่างไร เช่น สอนเรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ เดิมถ้าเราสอนในห้องคงต้องจำกันว่า ท่านี้เรียกว่าปางนี้ แต่ถ้าเราต้องเลือกจริงๆ ว่าเด็กควรเรียนรู้เรื่องอะไร เราอาจเลือกให้เด็กวิเคราะห์ว่า แต่ละปางมีความสำคัญอย่างไร หรือโยงกับเหตุผลในเชิงวัฒนธรรม แล้วปางห้ามญาติมันหมายถึงเหตุการณ์อะไร”

มะโหนกย้ำว่า การสอนออนไลน์ทำให้ครูสอนเนื้อหา (content) ได้น้อยลง แต่นี่คือโอกาสที่คุณครูจะต้องถามตัวเองว่า content อะไรที่สำคัญสำหรับวิชานี้จริงๆ อันไหนตัดทิ้งหรือให้เด็กค้นเองได้
4. ออกแบบกิจกรรมสำหรับประเมินระหว่างทางเพื่อพัฒนา (Formative Assessment) สามารถออกแบบกิจกรรมให้มีหลักฐานการเรียนรู้ได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้กิจกรรมมีลูกเล่น ที่สำคัญลูกเล่นต้องไม่ไร้สาระ ต้องอยู่ในเรื่องที่สอน ซึ่งลูกเล่นนั้น ถ้าดีไซน์ให้เป็น Learning Evidence ที่ครูสามารถเอามาใช้ต่อได้ด้วยก็จะยิ่งดี ช่วยทั้งเด็กช่วยทั้งครู
“ไม่ต้องออกแบบอะไรหรูหรา แต่ออกแบบขั้นตอนให้เด็กได้ “ทำอะไรบางอย่างแล้วได้เรียนรู้” วาดรูปสรุป อัดวิดีโอเล่าความคิด หาข่าวที่เกี่ยวข้องมาส่ง อะไรก็ได้ หลายๆ คนพอพูดถึงการออกแบบ เขาก็จะไปในทางแต่งพรีเซนเทชั่นให้สวยเข้าไว้ หรือใช้แอพฯ วิลิศมาหรา แต่มันเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือ คุณจะใช้ไลน์กรุ๊ปก็ได้ถ้าคุณถนัด ถ้ากระบวนการที่คุณนำให้เด็กเรียนมันมีคุณภาพ เด็กได้สิ่งที่คุณสื่อเต็มๆ แล้วเด็กได้ทำ ได้ไปค้นเอง ได้คุยกัน ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แค่นั้นก็พอแล้ว”
5. ดีไซน์การสอนเด็กด้วยวิธีใหม่ๆ
“มันน่าจะพาเด็กไปยังไง เหมือนกาพย์ยานี ถ้าสอนในห้อง มันคงสอนรวดเดียวจบง่ายในหนึ่งคาบ แต่พอมันออนไลน์แล้ว มันจะสอนด้วยลำดับเดิมไม่ได้ คุณครูต้องดีไซน์วิธีใหม่ เช่น เด็กจะเข้าใจกาพย์ยานี จะต้องไปที่ไหนก่อน”
ให้เด็กโฟกัสหน้าจอน้อยที่สุด
ในจังหวะที่ทุกคนเตรียมตัวสอนออนไลน์ คิดวนไปมาว่าทำอย่างไร เด็กถึงจะอยู่หน้าจอได้นานที่สุด มะโหนกกลับคิดสวนทางว่า “จะทำอย่างไรให้เด็กโฟกัสกับหน้าจอน้อยที่สุด”
“ถ้าเราแค่เปลี่ยนสื่อ แต่ยังสอนเหมือนเดิมคือเน้นอัดเนื้อหาความรู้เยอะๆๆๆๆ ไม่เวิร์คหรอก แต่ว่าถ้าสมมุติเราบอกว่า ออนไลน์มันมาช่วยให้เด็กเข้าหาเราได้ง่ายแล้วนะ แต่ว่าคำว่าง่ายคือ เด็กโฟกัสกับบทเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอได้ไม่นาน ผมคิดว่ามันจะกลับมาท้าทายว่า ต้องทำยังไงให้คลาสออนไลน์มันสั้น แต่อิมแพค”
สั้นแต่ต้องดาบเดียว มะโหนกเปรียบเทียบ
“50 นาที อาจจะหั่นได้ 5 สเต็ป แต่ละสเต็ป คือดูแล้วคือจบเลยนะ ดูแล้วเข้าใจ มีการบ้านให้ทำเล็กน้อย แล้วจบ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ของเด็กในกรณีนี้จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่หน้าจอแต่เขาไปเรียนในโลกจริงๆ เลย เขาแค่รับโจทย์แล้วรับความเข้าใจเบื้องต้นจากหน้าจอก็พอ”
รับโจทย์จากหน้าจอ-ปิดเครื่อง-กลับไปสำรวจรอบตัว-ลงมือทำ แล้วทำให้เด็กๆ นำไปเรียนต่อในชีวิตจริงได้ นี่คือเสต็ปของการเรียนออนไลน์ที่เจ๋งของมะโหนก
“ผมว่าของดีมันอยู่รอบๆ ตัวเด็กอยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่เด็กยังไม่มีก็คือแว่นในการมอง สมมุติว่าขุมทรัพย์คุณอยู่ในสวน คุณอยู่ในชุมชน คุณจะทำยังไงให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา ครูทำให้ได้แค่นั้นพอ แต่ว่าคำว่า ‘แค่นั้นพอ’ แม่งโคตรยากเลยนะ”
ยากแค่ไหน ครูก็ต้องเดินหน้าต่อ และกำลังใจก้อนใหญ่คือสิ่งที่โค้ชมะโหนกมอบให้ครูทุกคน พร้อมแสดงความยินดีที่คุณครูได้กลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง และเป็นโอกาสที่ดีที่ครูจะผิดได้ ไม่รู้ หรือไม่ฉลาด เพราะกลับมานับหนึ่งใหม่กันหมด
“อยากบอกคุณครูว่า ดีไหมล่ะได้เป็นนักเรียนไง บางเรื่องในโลกออนไลน์ เด็กเก่งกว่าเราเยอะ ผมอยากให้มองเป็นขุมทรัพย์ว่ามันคือครั้งแรกนะ ที่เราได้กลับไปสัมผัสว่าการเป็นนักเรียนสนุกอย่างนี้นี่เอง อาจจะเสียวๆ หน่อยเหมือนยืนอยู่บนหน้าผา ตกไปเด็กอาจจะด่า ครูโง่จังเลย เราแค่ยิ้มๆ แล้วก็บอก ก็ใช่ไง โอเค ก็ครูไม่รู้ไง งั้นเรามาแลกกันสอน”

เหมือนกับที่ครูรู้เรื่องกาพย์ยานี ขณะที่เด็กๆ เก่งเรื่องแอพพลิเคชั่น Zoom โมเมนต์นี้ล่ะที่ครูกับเด็กๆ จะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน
“อยากให้ครูมั่นใจว่า เราเป็นนักเรียน เรียนไปกับเด็ก ถ้าครูรู้สึกว่าการเป็นครูมันหนัก เครียด นี่เป็นโมเมนต์ที่อ้างกับตัวเองได้เลยว่า เรามาเรียนเรื่องใหม่ มันก็อาจจะทำให้เราคลายมากขึ้นว่า โอเค คุณครูไม่ต้องฉลาดตลอด คุณครูไม่รู้ก็ได้”
หมายเหตุ : ภาพประกอบในบทความนี้ ถ่ายก่อนสถานการณ์ COVID-19