ใต้พรมที่ล้มเหลว คือการไม่ตั้งคำถามต่อ “มายาคติอันดีงามของการศึกษา”

ภาพโดย ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

การศึกษาบ้านเรามันล้มเหลว 

คือข้อค้นพบจากการทำงานในแวดวงการศึกษามานานกว่า 6 ปีของโครงการผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อะไร เพราะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ที่สนใจประเด็นปัญหาการศึกษาเห็นตรงกันอยู่แล้ว

“แต่ทำไมครูมักตกเป็นจำเลยคนแรก อันดับสองคือนักการเมือง/ผู้กำหนดนโยบายการศึกษา”

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม

หนนี้เรามาคุยกับเขาในฐานะหัวหน้าชุด ‘โครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย’ ที่ตั้งคำถามว่า ใต้พรมของการโทษครูและนักการเมืองนั้น มันน่าจะมีอะไรที่ถูกยัดถูกซุกไว้ลึกสุดหรือเปล่า ที่ทำให้การเที่ยวแก้ปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่าถึงจบลงที่ความป่วยทุกข์ของเด็ก

“นโยบายต่างประเทศที่มันน่าจะเวิร์คกับบ้านเรา ทั้งสิงคโปร์ ฟินแลนด์ สุดท้ายมันมาแป้กในบ้านเราเสมอ ทำไมมันเป็นแบบนั้น สรุปแล้วว่ามันเป็นเรื่องคุณภาพของคน หรือว่ามันเป็นเรื่องของระบบ แต่ไม่ว่าจะไปจัดการที่หน่วยใหญ่หรือหน่วยย่อย เราพบว่าปัญหามันยังอยู่ ทีมผู้นำแห่งอนาคตเห็นว่า มันน่าจะมีเรื่องของวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง มีคุณค่าความเชื่อบางอย่างคอยกำกับแล้วหล่อเลี้ยงให้ปัญหามันยังคงอยู่” 

โครงการนี้จึงตั้งคำถามต่อมายาคติทางการศึกษา 5 เรื่องคือ ความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับ, ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21, การจัดการห้องเรียนและการลงโทษ, ความสำเร็จทางการศึกษาในแง่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย, มายาคติทางเพศที่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของนักเรียน ปิดท้ายด้วยการสังเคราะห์มายาคติภาพรวมทั้งหมด 

ผศ.ดร.อดิศร รับผิดชอบต่อจิ๊กซอว์ทั้ง 5 ผ่านงานวิจัยเรื่อง ‘การสังเคราะห์ภาพรวมมายาคติทางการศึกษาของสังคมไทย’ 1 ใน 6 ของโครงการวิจัยฯ ชุดนี้ 

“งานวิจัยชุดนี้ เราย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่เราคิดว่าต้องเป็น หรือสิ่งที่สังคมบอกว่าดี จริงๆ แล้วมันคืออย่างนั้นเสมอไปหรือเปล่า” 

คำถามสำคัญของงานวิจัยชุดนี้คืออะไร

อะไรที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษา (ตามหัวข้อข้างต้น) เหล่านี้ มันทำงานยังไงกับสังคมไทย ส่งผลยังไงกับตัวเยาวชน ครู ผู้ปกครอง และสังคมบ้าง

การที่เราไม่ค่อยตั้งคำถามกับวิธีคิด มันจึงเกิดภาวะของความอิหลักอิเหลื่อในสังคม กลายเป็นภาวะที่เราไม่รู้จะไปยังไงกันต่อ มันเหมือนมาติดที่คอขวด โครงการนี้จึงหันกลับมาตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าเราไม่มองไปถึงรากวิธีคิดของคนในสังคม แล้วไปวิ่งแก้ไขในส่วนที่มันอยู่ระดับผิวๆ เราก็จะวนเวียนในการแก้ปัญหานั้นไม่รู้จบ แต่ถ้าเรามองเห็นว่าปัญหามันมีรากวิธีคิดมาจากระบบความเชื่อ คุณค่าแบบไหน แล้วเรานำเอาสิ่งนี้มาพูดคุยกันว่า ตกลงมันคืออะไร เรายังต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่ไหม เราจะไปต่อกันยังไง มันก็อาจจะช่วยเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้ 

เราไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าบางอย่างในสังคม เพราะบางเรื่องก็ยังทำให้สังคมดำรงอยู่ต่อได้ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อว่ามันจริงหรือเปล่า เช่น จริงหรือที่ทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็กทุกคน ความสำเร็จของเด็กคือการสอบได้คะแนนสูง ได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือมีอนาคตที่ดีตามที่สังคมบอกจริงไหม หรือบางเรื่องที่ความพยายามแก้ไขปัญหาจะเป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าดีงามแต่อาจนำไปสู่การถมปัญหานั้นให้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น เรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา

โครงการนี้พยายามตั้งคำถามหรือชวนคิดว่า ความคิดความเชื่อเหล่านี้ มันอาจจะมีข้อดี แต่มันดีจริงๆ หรือเหมาะสมกับสังคมเราหรือเปล่า?

พอเราไปนิยามว่ามันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ต้องทำ คำถามคือเมื่อเรานิยามแบบนี้มันส่งผลอะไรบ้าง เราจะเห็นตัวอย่างที่ชัดๆ คือ เรื่องทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นความสับสนอลหม่านของการจัดการชั้นเรียน เพราะว่าครูที่มีหน้าที่หรือถูกคาดหวังว่าจะต้องพัฒนาทักษะส่วนนั้นให้กับเด็ก แต่เขา (ครู) โตและเรียนรู้มากับสิ่งที่เป็นศตวรรษที่ 20  หรือจริงๆ แล้ว การใช้คำว่าศตวรรษที่ 21 ก็มีปัญหาในตัวของมันเอง เพราะว่าเส้นแบ่งไม่ชัดเจน แล้ววิธีคิดของศตวรรษที่ 21 มันถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากกลุ่มบริษัท Tech พวกสตาร์ทอัพต่างๆ ซึ่งต้องการคนในลักษณะแบบหนึ่ง แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดของสังคม 

ต่างๆ เหล่านี้ เราต้องหันกลับมาทบทวนและตั้งคำถามกับมันว่าถ้าเราสมาทานว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและต้องทำ หนึ่งคือดีจริงหรือเปล่า ถ้าเราตกลงกันว่ามันจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคนี้ ถ้าอย่างนั้นเราควรจะมีขั้นตอน กระบวนการ วิธีการยังไง ที่ผ่านมามันไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้เลย สิ่งที่เป็นนโยบายที่ส่งลงมาจากภาครัฐคือ สิ่งนี้ดี เอาลงไปทำ คล้ายๆ กับที่ผ่านมาที่เรามีนโยบาย Teach Less Learn More, Child Center หรือนโยบายการไม่มีการบ้านที่นำมาจากฟินแลนด์ เป็นต้น 

เราหยิบยืมนโยบายมา โดยที่เราไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วการตีความต่อคอนเซ็ปต์เหล่านี้ก็มีปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว บริบทวัฒนธรรมหนึ่งๆ ความพร้อมของคนหนึ่งๆ ก็แตกต่างกันออกไป เหมือนเราควรจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาแต่เราไม่เคยพูดถึงมันจริงๆ จังๆ ซักที

เพราะเรารู้แค่ผิวๆ หรือเปล่าจริงๆ เราควรจะรู้ให้มากกว่านี้ก่อนนำมาใช้? 

ที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องของความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักการศึกษาหรือนักการเมือง ไปเจอคอนเซ็ปต์ดีๆ น่าสนใจ ก็ไปหยิบยืมมา คือจะรู้หรือไม่รู้ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน บางท่านที่หยิบยืมมาอาจจะรู้สึก พยายามโปรโมท เผยแพร่ไอเดียเหล่านี้ ประเด็นก็คือคนที่จะสมาทานเอาไปใช้ พอประกาศใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มันมีคำเหล่านี้อยู่ปุ๊บ เลยกลายเป็นสิ่งที่ถูกคาดหวังแบบงงๆ ตั้งแต่จากข้างบนลงมาจนถึงระดับปฏิบัติการเลย 

ที่สำคัญก็คือถ้าไปถามว่าทักษะศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง ทุกคนท่องได้ แต่ถามว่าแล้วแต่ละอย่างมันสร้างได้ยังไง ทุกคนก็จะเริ่มงง เริ่มอึ้ง เพราะเรารู้แต่ว่าคอนเซ็ปต์เหล่านี้ประกอบด้วยอะไร แต่ไม่รู้ว่าจะสร้างยังไง สร้างได้ผลจริงหรือเปล่าด้วย เพราะมันไม่มีกระบวนการต่างๆ ที่จะช่วยให้คนในสังคมเข้าใจ 

เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างลึก ใช้คำถามเพื่อหาข้อมูลอย่างไรและวิจัยกับใครบ้าง

ส่วนหนึ่งเราลองไปดูว่าสื่อหรือพื้นที่สาธารณะพูดถึงเรื่องนี้ยังไง อีกส่วนเราคุยกับเครือข่ายครูที่เราทำงานด้วย และคุยกับนักเรียนด้วย ส่วนใหญ่เป็นงาน Narrative Research คือ ใช้เรื่องเล่าของคน ฟังเขาเล่าว่าชีวิตเป็นยังไง พอเราพูดถึงแต่ละหัวข้อให้ฟัง ให้รู้ว่าชีวิตแต่ละวันของเขามันเกี่ยวข้องกับมายาคติที่เราเข้าไปศึกษาอย่างไร แต่ละเรื่องเขาเข้าใจมันว่าเป็นยังไง เกี่ยวพันกับเขายังไง หรือนักเรียนเอง เข้าใจเรื่องนี้ว่ายังไง เห็นวิธีการปฏิบัติที่ครูปฏิบัติต่อเขาว่าเป็นยังไง เราจะได้เข้าไปเข้าใจโลกภายในของแต่ละคน 

เราไม่ได้จะพยายามตัดสินว่าคุณคิดแบบนี้ไม่ดี ล้าหลัง หรือคุณเป็นคนที่ไม่ควรจะปฏิบัติวิชาชีพนี้ต่อไป แต่สำหรับเรามันเป็นการพยายามทำความเข้าใจ เช่น ครูที่เลือกลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการตี การใช้ความรุนแรง ที่เรานิยามว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขามีคำอธิบายว่ายังไงบ้าง เขาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ว่ายังไง แล้วความเข้าใจเหล่านี้มาจากไหน ได้รับอิทธิพลมาจากไหน

ที่ผ่านมาพอเรามองว่าครูตีเด็ก นี่คือคนไม่ดี เราจบแค่นั้น แต่เราไม่ได้พยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไป มันมีวาทกรรมชุดไหนบ้างที่กำกับให้เขามองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีใครอยากมองว่าตัวเองเป็นผู้ร้าย แต่ละคนก็อยากมองว่าตัวเองเป็นคนที่พยายามจะทำงานบางอย่างเพื่อส่งผลที่ดีต่อนักเรียน ในสังคมศตวรรษที่ 21 ทำไมคนยังสมาทานกับวิธีคิดแบบนี้อยู่ แปลว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่สนับสนุนให้มันยังคงอยู่ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อ มุมมอง คุณค่า หรือความคาดหวังที่แต่ละคนมีต่อตัวเองและคนอื่นๆ  

ทำไมถึงเป็น 5 เรื่องนี้ทักษะศตวรรษที่ 21 / ความเสมอภาคทางการศึกษา / มายาคติเรื่องเพศในชั้นเรียน / ความสำเร็จ ซึ่งเราจัดไว้ที่เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และเรื่องการจัดการชั้นเรียนกับการลงโทษ

สองอย่างรวมกันคือ เราเปิดให้ทีมวิจัยเลือกประเด็นที่น่าสนใจและมีประเด็นอยู่ในสังคม และเราพยายามเลือกเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันมองได้สองทาง มุมมองทั้งด้านบวกและด้านลบ มุมมองที่เป็นข้อโต้แย้งบางอย่างในสังคม

คำว่ามายาคติ ความเห็นส่วนตัวของอาจารย์มันคือคำกลางๆ ที่มีทั้งแง่ดีและแง่ร้ายใช่ไหมคะ

ใช่ มายาคติมันมีความจริงบางอย่างของมันเองอยู่ แต่สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นมายาคติก็คือสิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว เราไม่ตั้งคำถามกับมัน ต้องเป็นแบบนั้นแหละ แต่สิ่งที่เราพยายามตั้งคำถามก็คือ มันไม่ใช่อย่างนั้นทั้งหมดหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทั้งใช่และไม่ใช่รวมกัน แต่สิ่งสำคัญคือ พอเราเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งนี้เป็นมายาคติหรือเปล่า มันทำให้คนต้องหันกลับมาพิจารณาอีกทีหนึ่งว่า มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยชุดนี้ยังศึกษาต่อเนื่องไปถึงผลกระทบของมายาคติต่อสุขภาวะต่างๆ ด้วย เบื้องต้นค้นพบผลกระทบอะไรบ้าง

ข้อค้นพบอันหนึ่งคือว่า แต่ละประเด็นมันจะมีมายาคติที่ซ้อนๆ กันอยู่เสมอ ทั้งที่สนับสนุนกันเองและที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องความสำเร็จทางการศึกษา 

อันแรกคือ ความสำเร็จคือเราต้องสอบเข้าในคณะแพทย์ คณะดีๆ ที่ได้รับการยอมรับ อันนี้จะเป็นฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งคือ เด็กรุ่นใหม่ต้องค้นพบตัวเอง ต้องได้ทำตามความฝันของตัวเอง ต้องหาตัวเองเจอเร็วๆ พอเด็กยุคใหม่โตขึ้นมาในสภาพการณ์ที่มายาคติสองเรื่องนี้ทำงานควบคู่กันในสังคม ลองคิดดูว่า ถ้าเราโตขึ้นมาบนความคาดหวังของสังคมที่บอกเราว่าคุณต้องเรียนให้ได้ดีๆ จะได้สอบเรียนเป็นหมอ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ถูกเสียงจากกลุ่มคนอีกกลุ่มที่รายล้อมรอบตัวคุณประโคมใส่ว่า คุณต้องหาตัวเองให้เจอนะ ต้องเดินตามความฝันของคุณนะ แล้วเราจะอยู่ยังไงกับโลกที่มันยื้อเราไว้ทั้งสองด้านแบบนี้ ตกลงเราควรจะตั้งใจเรียนให้ดี เพื่อสอบเข้าคณะแพทย์ หรือเราควรจะฟังเสียงตัวเอง ค้นหาความฝันของเราให้เจอ กลายเป็นว่า มันจะมีคำถามเหล่านี้สะกิดเราอยู่ตลอดเวลา 

แม้กระทั่งคนที่บอกว่าหาตัวเองเจอ เขาก็จะถูกตั้งคำถามจากสังคม จากอะไรบางอย่าง และเขาจะรู้สึกลึกๆ ว่าที่ฉันกำลังทำอยู่นี่ ตกลงมันใช่หรือเปล่า ตกลงอนาคตจะเป็นยังไง เพราะมันมีชุดมายาคติที่สู้กันตลอดเวลา และส่งผลต่อสุขภาวะของเด็กเองด้วยส่วนหนึ่ง

มายาคติที่บอกว่าเด็กต้องค้นพบตัวเองให้เจอ ยิ่งเจอตัวเองเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จริงๆ วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดชุดเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามา มันบอกว่าคุณต้องหาตัวเองให้เจอ สร้างตัวเอง สร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ชัดเจนขึ้นมา ทั้งที่จริงๆ คนบางคนกว่าจะหาตัวเองเจอก็ 30 40 50 แต่เราคาดคั้นกับพวกเขาเหล่านี้ว่า ถ้าคุณจะประสบความสำเร็จในชีวิต คุณต้องค้นพบตัวเองให้เจอภายใน 20 กว่าๆ เป็นต้น สองฝั่งที่มันโต้แย้งกันเองไปๆ มาๆ มันกลับร่วมมือกันทำงาน จนอาจทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาวะของเรา 

และการจะหาคนที่ประสบความสำเร็จได้สองฝั่งนั้นน้อยมาก?

ใช่ แล้วมันยังมีเงื่อนไขอีกว่า ความสำเร็จคืออะไร แบบไหน 

ต้องบอกก่อนว่า งานวิจัยของเราไม่ได้บอกว่าคนเรียนหมอแย่ หรือว่าคนหาตัวเองเจอเร็วๆ แย่ เรากำลังบอกว่า ทุกวันนี้เราเอาคุณค่าบางอย่างของสังคมไปครอบเขาหรือเปล่า เราเปิดให้เขาได้มีอิสระในการที่เขาจะไม่ทำทั้งสองอย่างได้ไหม เขาจะไม่ต้องเข้ามหา’ลัยในคณะที่ดีก็ได้ เขาไม่ต้องหาตัวเองเจอก็ได้ เขาเป็นคนตรงกลางๆ ได้ไหมที่หาตัวเองยังไม่เจอ เรียนก็ไม่เก่งตามขนบค่านิยม เพราะคนกลุ่มนี้มีเยอะมากในสังคม แต่กลายเป็นว่า พวกเขากำลังถูกคาดคั้นจากสังคมๆ พร้อมๆ กับตัดสินตัวเองไปเรียบร้อยแล้วว่าฉันทำไม่ได้ดีทั้งสองทางเลย

อดิศร จันทรสุข

ผมว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญ เราไม่เหลือพื้นที่ของความเป็นไปได้อื่นให้สังคม เราไม่เคยช่วยกันตั้งคำถามและมองว่าไอเดียความสำเร็จมันหมายถึงอะไรได้บ้าง แต่ที่ผ่านมา เรามักจะนิยามความสำเร็จไปพร้อมๆ กับนิยามความล้มเหลวในฐานะขั้วตรงข้าม มันไม่มีตรงกลาง 

ชีวิตคนเราจริงๆ สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำได้ไหม โดยยังไม่ต้องรีบแสวงหาความสำเร็จได้หรือเปล่า

ทุกวันนี้กลายเป็นว่า คนที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ยังเรียนไม่เก่ง เขาไม่รู้ว่าจะยืนตรงไหนในสังคมได้บ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาควรจะสามารถมีที่ยืน และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองในจังหวะและเวลาที่เหมาะสมกับตัวเขาเองได้ 

ที่งานวิจัยบอกว่า สาเหตุหนึ่งของความล้มเหลว คือนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาแบบไม่ตระหนักต่อวิธีคิดแล้วก็วิธีปฏิบัติของคน เช่น มันไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ ใช้กับคนที่ไม่ควรใช้ อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างว่ามีอะไรบ้าง

ผมคิดว่าคนกำหนดนโยบายไม่มีใครหวังร้ายหรอก เราไม่ได้บอกว่าคุณเป็นคนชั่วที่คิดนโยบายแบบนี้ขึ้นมา เช่น Teach Less Learn More ในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ 

เวลาที่เราผลิตสร้างนโยบายอะไรบางอย่างออกมา แน่นอนว่ามันก็ส่งผลกระทบตั้งแต่ระดับผู้บริหารลงมาถึงระดับปฏิบัติการ หลายๆ ครั้งเราพบว่า หลายๆ นโยบายเป็นนโยบายที่ถูกคิดขึ้นบนฐานของความหวังดี อยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่ลืมคิดไปว่า บริบทต่างๆ ของสังคมในบ้านเรา มันมีความจำเพาะเจาะจงอะไรหลายๆ อย่าง สังคมไทยมันมีความหลากหลายมาก ทั้งในเชิงชนชั้น เชิงพื้นที่ วัฒนธรรมต่างๆ  พอเรากำหนดนโยบายที่มันเป็นร่มใหญ่ แล้วมันพยายามจะเอาไปใช้ในทุกๆ บริบท ความล้มเหลวก็เกิดขึ้น เพราะมันอาจจะมีบางบริบทที่มันรับลูกแล้วมันทำได้ดีมาก เกิดดอกออกผลได้ดีมาก แต่ก็อาจจะส่งผลต่อบางบริบทที่มันไม่เข้ากันเพราะมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง 

ถ้าเราไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้ ไม่เข้าใจพลวัตที่มันเกิดขึ้นแบบนี้ แล้วไปพยายามคาดคั้น ไปด่า ไปเบลมว่าเขาทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ด่าไปถึงคนออกนโยบาย ที่ผ่านมามันเลยกลายเป็นการวิ่งเปลี่ยนหานโยบายใหม่ที่เราคิดว่ามันดีกว่าเดิม ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้แก้ไขปัญหา เพราะวิธีคิดเรายังเหมือนเดิมว่านโยบายหนึ่งๆ สามารถใช้ได้กับทุกบริบท

ความไม่ต่อเนื่องของแต่ละนโยบายแต่ละรัฐบาลจึงมีผลกระทบต่อมายาคติด้านการศึกษาน้อยมาก?

เพราะมายาคติด้านการศึกษามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างเดียว มันคือข่ายใยของคุณค่า คล้ายๆ ใยแมงมุมที่ซับซ้อน ความล้มเหลวทางการศึกษาในบ้านเรามันมีเรื่องของวัฒนธรรมที่ใหญ่ไปกว่าวัฒนธรรมในโรงเรียน หรือวัฒนธรรมในระบบการศึกษา แต่มันเป็นวัฒนธรรมในชีวิตประจำวันของคน เรื่องความเชื่อ หรือคุณค่าต่างๆ อาทิ ความกตัญญูรู้คุณ หรือความเชื่อในศาสนา ระบบชนชั้นวรรณะ ซึ่งมันดำรงอยู่ในสังคมมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นเนื้อเป็นตัวเราไปแล้ว เพราะฉะนั้นต่อให้คุณเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนโยบาย แต่ปัญหารากของการศึกษา มันยังเกี่ยวข้องกับคุณค่าระบบความเชื่อในเรื่องอื่นๆ อยู่ มันก็แก้ไม่ได้อยู่ดี

บอกไปเถอะว่า การศึกษาต้องให้เด็กหาตัวเองให้เจอ ต้องไม่คาดคั้น ไม่บีบเค้นอะไร แต่คุณยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ไอ้ระบบความเชื่อชุดวัฒนธรรมที่ล้อมรอบเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณค่าความกตัญญูต่อพ่อแม่ การเป็นเจ้าคนนายคน ความสำเร็จในชีวิต ถ้าวิธีคิดต่างๆ เหล่านี้มันยังคงทำงานอย่างขันแข็ง ต่อให้สื่อสมัยใหม่บอกเด็กทุกวันว่า คุณสามารถเดินตามความฝันตัวเองได้ แต่พอเขากลับบ้าน เขาก็ยังคงต้องอยู่กับความคาดหวังของพ่อแม่ที่มันแกะไม่หลุดอยู่ดี ยังไม่นับรวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนจำนวนมหาศาลไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้เลือก

ถ้าเราต้องการที่จะแก้ปัญหาหรือขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาในสังคม มันต้องมองให้เห็นภาพรวม และทำงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เราเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ได้ไหม ถ้าเปลี่ยนพ่อแม่ไม่ได้ เราเปลี่ยนทัศนคติของสังคมได้ไหม ไอ้ที่มันเป็นตัวล็อคกันอยู่ พูดง่ายๆ เราบอกว่า วิชาชีพไหนก็มีคุณค่าทั้งนั้น แต่พอเรียนจบไป คุณเป็นแพทย์ เป็นวิศวะได้เงินเดือนมากกว่า มันก็มีความย้อนแย้งในตัว เพราะฉะนั้นมันล็อคกันไปหมดเลย คุณจบธรรมศาสตร์ จบจุฬาฯ ก็มีภาษีดีกว่าในแง่ของการหางานทำ ถ้าเรื่องแบบนี้คุณไม่สามารถปฏิเสธได้ แล้วเราพยายามจะแค่วิ่งหาตัวเองให้เจอ ไม่ต้องเรียนจบก็ได้ มันเป็นเรื่องเพ้อฝัน ผมบอกได้เลย

ล่าสุดโดยเฉพาะเรื่องศตวรรษที่ 21 เราถูกหลอกว่าคุณไม่ต้องจบมหา’ลัยดีๆ คุณก็สามารถมีงานที่ดีได้ ถามว่าแล้วมีกี่คนที่จะมีโอกาสแบบนั้น ที่ผ่านมามันมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า เจ้าของเฟซบุ๊ค หรือคนก่อตั้งแอปเปิล เรียนไม่จบกันซักคนทำไมคนเหล่านี้ถึงมีอนาคตที่ดีได้ แต่พวกเค้าเป็นแค่หนึ่งในคนล้านๆ คนที่จะทำแบบนั้นได้ เอาง่ายๆ ถ้าคุณไปดูพนักงานในบริษัทแอปเปิ้ลหรือเฟซบุ๊คในปัจจุบัน เกือบทุกคน จบเยล จบฮาร์วาร์ด จบการศึกษาในไอวีลีกกันแทบทั้งนั้น แล้วมีซักประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เรียนไม่จบ แต่เป็นจีเนียส

ถามหน่อยว่าคนทั่วไปในสังคมจะมีคนที่เป็นจีเนียสได้ซักกี่คน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราถูกสร้างภาพฝันอะไรบางอย่าง ซึ่งเราไม่มีทางจะไปถึง พอไปไม่ถึงเราก็เป็นทุกข์

เหมือนงานวิจัยชุดนี้กำลังปลุกให้ทุกคน ‘ตื่นเถอะ’ จากมายาคติต่างๆ หรือเปล่า

ผมกำลังจะบอกว่า ใจเย็นๆ ก่อน ช่วยกันมอง ช่วยกันคิดเรื่องเหล่านี้ มันต้องใช้การมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ใช่แค่ในแวดวงการศึกษา เช่น ถ้าคุณจะแก้เรื่องการศึกษา คุณไม่ใช่แค่เอาคนในแวดวงการศึกษามาแก้ แต่คุณต้องมองให้เห็นถึงระบบนิเวศทั้งระบบว่ามันไปเกี่ยวข้องโยงใย พัวพันกับเรื่องต่างๆ อย่างไร แล้วการแก้ปัญหามันไม่ใช่เรื่องสมการที่ถอดสแควร์รูทแล้วจบ มันมีความพัวพันยุ่งเหยิงซับซ้อนมาก และมันก็อาจจะแก้ไม่สำเร็จในยุคสมัยของเรา แต่ประเด็นก็คือถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มตั้งคำถามกับมัน คล้ายๆ กับในหนัง ‘Matrix’ ที่พอเรากินวิตามินไปแล้ว ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราจะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราจะตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราเคยสมาทานว่ามันคือเรื่องจริง 

มันจะมีอะไรที่เป็นปัจจัยได้บ้าง ที่จะให้เรารู้สึกว่า อย่าเพิ่งรีบเชื่อ เหมือนให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

ผมว่า อันนี้เป็นเรื่องที่สังคมต้องช่วยกัน ตั้งแต่ระดับพ่อแม่ ครู สื่อต่างๆ ที่ช่วยกันตั้งคำถาม ถ้าเป็นไปได้ เราควรจะเหลือที่ว่างของความเป็นไปได้แบบอื่นๆ เช่นเดียวกัน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกว่า อันนี้เท่ากับสิ่งนี้แล้วจบอยู่แค่นี้ มันก็เท่ากับเราไม่ให้ทางเลือกอื่นๆ ความเป็นไปได้อื่นๆ 

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ถ้าเราชวนลูกตั้งคำถามตั้งแต่เขาเด็กๆ ให้เขารู้สึกมั่นคง มั่นใจในการที่เขาจะตัดสินใจเลือกบางสิ่งบางอย่างในชีวิต แล้วพ่อแม่คอยสนับสนุน คอยให้คำปรึกษาโดยที่ไม่พยายามคาดคั้น คาดหวังจากเขา ให้พื้นที่เขาได้เติบโตตามจังหวะเวลา บางคน 20 กว่าแล้วก็ยังค้นพบตัวเองไม่เจอ ก็ไม่เป็นไร เขาอาจจะตายโดยที่ไม่ค้นพบตัวเองเจอก็ได้ แต่ถามว่าเขาจะสามารถมีความสุขได้ไหม เขาจะสามารถเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมได้ไหม จริงๆ แล้วมันมีความเป็นไปได้มากมายที่เราสามารถสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้และการเติบโตให้กับคนรุ่นใหม่ได้

เราพยายามจะบอกว่า เราควรเริ่มตั้งคำถามกับอะไร ไม่ต้องบอกว่าคุณควรใช้ชีวิตแบบไหน แต่เราบอกคุณว่ามันมีความเป็นไปได้ยังไงบ้างของการใช้ชีวิต มีทางเลือกเยอะแยะมากมายที่คุณจะเลือกใช้ มันไม่มีทางไหนที่ถูกที่สุด และทางไหนที่ผิดที่สุด สิ่งสำคัญก็คือเราจะมีชีวิตอยู่ยังไงให้เรารู้สึกว่า เราทำตามคุณค่าความเชื่ออะไรบางอย่างของเราโดยที่เราไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นและตัวเราเองด้วย 

สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการ เป็นพลวัต ที่มันต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ เราพลาดได้ นี่เป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ค่อยให้พื้นที่ของความผิดพลาด เพราะพอเราบอกกับคนรุ่นใหม่ว่าคุณต้องเลือกให้ถูก ตัดสินใจให้ถูกต้อง เราก็ไม่เหลือพื้นที่ของความผิดพลาดที่เขาจะล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสร้างชุดความเชื่อบางอย่าง เติมลงไปในสังคม เรื่องของการให้พื้นที่ในการเติบโต พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่การผิดพลาดได้ ผมคิดว่าเราจะทำให้สังคมมีสุขภาวะที่ดีขึ้น เพราะว่าคนจะไม่ลงโทษตัวเอง ไม่คาดคั้นกับตัวเอง

ส่วนตัวของอาจารย์เอง เคยโดนผลกระทบของมายาคติทางการศึกษาเรื่องอะไรบ้าง

เจอทุกเรื่องอยู่แล้ว (หัวเราะ) เรื่องความสำเร็จ การลงโทษ การจัดการชั้นเรียน เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในสังคมต้องเจอและปฏิเสธได้ยาก เพียงแต่สมัยก่อนตอนที่เราถูกมันครอบงำ เราไม่รู้เท่าทันว่ามันเป็นแค่มายาคติอีกชุด หรือทุกวันนี้ แม้กระทั่งบางเรื่องก็รู้ แต่ก็ยังต้องทำ เพราะว่ามันช่วยตอบโจทย์บางอย่างในชีวิตของเราได้ 

เช่น เรื่องความสำเร็จ ผมเรียนต่อปริญญาเอก มันก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอันหนึ่งที่สังคมบอกว่า ถ้าคุณทำได้ตามนี้คุณก็จะได้รับการยอมรับในสังคม คุณจะได้งานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คุณทำอะไรก็แล้วแต่ คุณมีคำว่าดอกเตอร์นำหน้า มันก็ง่ายขึ้นในสังคม เมื่อก่อนรู้แหละว่ามันเป็นคุณค่าทางสังคม แต่เราอาจจะไม่เข้าใจว่ามันทำงานกับเรายังไง มันสร้างความเครียด ความกดดันกับเรายังไง เรารู้แค่ว่าเราน่าจะต้องเรียนปริญญาเอก พอปัจจุบันเราได้เริ่มทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากขึ้น เราก็ได้รู้ว่า อ๋อ ที่ผ่านมาที่เราคาดคั้นกับตัวเอง เราเลือกที่จะไม่ไปทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่เรียน หรือเลือกเรียนบางสิ่งบางอย่าง เพราะว่ามันมีวิธีคิดแบบนี้ที่มันกำกับเราอยู่

แน่นอนว่าเราผ่านตรงนั้นมาแล้ว แต่เราก็สามารถที่จะไม่ไปทำซ้ำกับลูกหลานเรา กับคนรอบตัวเรา ฉะนั้นอย่างผมก็อาจจะคุยกับครอบครัวในเรื่องนี้ คุยกับพี่ชายของผมที่เพิ่งมีลูก ในแง่ที่ว่า เออ แล้วเราจะไม่คาดคั้นกับหลานของเรายังไงบ้าง แล้วก็เอาบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ตรงนี้ไปใช้ต่อได้

สนใจที่อาจารย์บอกว่า อาจารย์เลือกเรียนอะไรและไม่เลือกเรียนอะไร

จริงๆ ผมอยากเรียนศิลปะมากกว่านี้ จริงๆ เป็นคนที่ชอบใช้มือในการทำงานมาก แล้วก็เราถูกทำให้เชื่อว่าเราไม่มีความสามารถ หรือว่าการเรียนศิลปะมันไม่นำไปสู่การสร้างอาชีพ ไม่นำไปสู่ความมั่นคง พ่อแม่เรามีหน้าที่การงานที่เป็นผู้บริหารทั้งคู่ อย่างผมมาเรียนคณะวารสารศาสตร์ ตอนปริญญาตรี ก็ถือว่าเป็นความพยายามวิ่งหนี เป็นความพยายามจะฉีกแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องวิ่งหาความมั่นคงอะไรบางอย่างในชีวิต 

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะมีความเท่าทัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราพ้นไปจากชุดวิธีคิดหรือระบบความเชื่อบางอย่างในสังคมได้ เราจะต้องอยู่ในนั้น แต่เราจะอยู่ยังไง ให้มีทุกข์น้อยที่สุด อยู่ยังไงให้รู้ว่าเรากำลังทำบางสิ่ง เพื่อบางอย่างก็แค่นั้น เราสามารถมีทางเลือกให้ชีวิตได้


บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ‘การสังเคราะห์ภาพรวมมายาคติทางการศึกษาของสังคมไทย’ หนึ่งในชุด‘โครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย’

ติดตามการนำเสนองานวิจัยทั้งหมดได้ในเวทีเสวนาวิชาการ “ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน” ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 202 ชั้น 2 อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://forms.gle/NotHA31v4PJ5f6yx6
(รับจำนวนจำกัดและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ)

หรือติดตาม Live ได้ที่เพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต, ก่อการครู, Way magazine

 , ,