ธาราดล สิงห์สูงเนิน: ทลายกำแพงคอนกรีตสี่ด้าน แล้วเปลี่ยนห้องเรียนเป็นนาข้าว

ก่อนหน้านี้ ครูไก่-ธาราดล สิงห์สูงเนิน แห่งโรงเรียนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ บอกกับเราว่า ตลอดระยะเวลาของการดำรงอยู่ในวิชาชีพครู เขาผ่านการอบรมหลักสูตรครูมานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากจะไม่สามารถดับกระหายใคร่รู้ หรือเติมฟืนไฟในใจให้กับเขาได้แล้ว ยังสร้างความห่อเหี่ยวเมื่อเขาถูกมอบหมายให้ ‘เข้าอบรม’ ในบรรยากาศที่มีแต่วิทยากรผู้พูด และครูผู้ฟัง

“การที่เอาครูไปเรียนรู้ หรืออบรมเรื่องที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์สำหรับตัวครูเองและตัวเด็ก กิจกรรมที่มีแต่ผู้พูดฝ่ายเดียว แล้วก็สั่งให้ครูทำตามคำสั่ง กลับมาโรงเรียนก็ให้ครูส่งงานให้ครบตามจำนวนและเวลาที่กำหนด

“ยกตัวอย่างเช่น การอบรมเกี่ยวกับวิธีการสอนแบบ Active Learning แล้วให้ครูนั่งฟังอย่างเดียว จำขั้นตอน แล้วกลับมาสอนที่โรงเรียน ตามทฤษฎีที่เขาว่ามา โดยครูไม่ได้มีส่วนร่วมในการอบรมเลยนอกจากนั่งฟัง และการเรียนรู้ในการทำงานไม่ว่าจะระดับโรงเรียน หรือ เขตฯ เป็นการเรียนรู้แบบฉันรู้คนเดียว เธอทำตามนะ การเรียนรู้ที่ครูไม่ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ ไม่ได้ออกแบบเป็นการเรียนรู้ที่ไม่เติมไฟในใจครู” ครูไก่ว่า

ครูไก่-ธาราดล สิงห์สูงเนิน

การเรียนรู้ที่ไม่สร้างความหมายในห้องเรียนที่แห้งแล้ง

ครูห่อเหี่ยว ในขณะที่การเรียนรู้ของนักเรียนก็แห้งแล้ง ครูไก่เล่าว่า นอกจากการเรียนรู้ที่ไม่เติมพลังหรือติดอาวุธให้ครูแล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนยังไม่เป็นมิตรกับเด็กๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า เนื้อหาใจความของบทเรียนส่วนใหญ่ ล้วนห่างไกลและไม่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของผู้เรียน

“เด็กต้องเรียนแบบเต็มที่ทั้งวัน เรียนแบบหนักหน่วงมาก ไม่มีชั่วโมงว่างเลย การเรียนที่ครูยืนสอนคนเดียวภายในห้อง นักเรียนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเรียนเลยนอกจากฟังและจดบันทึก นักเรียนไม่ได้ออกแบบการเรียนรู้ ไม่รู้มาก่อนว่าต้องเรียนเรื่องอะไรบ้าง ไม่ได้ทำการทดลอง ไม่ได้ไปดูของจริง ไม่ได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ครูสอนเสร็จก็สอบ ตัดสินว่าใครเก่ง ผ่าน ใครไม่เก่ง ก็ตก”

การเรียนที่ไม่สนุก บทเรียนที่โคตรจะยาก บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความเหนื่อยล้า ไปจนถึงเวลาเรียนที่ถูกเบียดบังไปด้วยภาระงานของครูที่ถูกมอบหมายมามากมาย ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครูมากมายถูกดึงตัวออกจากห้องเรียนด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ดังเช่นครูไก่ ที่สะท้อนกับเราว่า

“ส่วนตัวผมทำงานฝ่ายวิชาการ ก็จะเป็นงานที่ทำหมุนเวียนตลอดทั้งปีตามปฏิทินงานวิชาการ ภาระงานที่ทำให้เราไม่ได้สอนมากที่สุด คือ หนึ่ง – การไปนั่งฟังเพื่อรับนโยบาย เช่น การยกระดับผลสัมฤทธิ์ การอบรมทีละหลายๆ วัน ที่ไกลๆ ซึ่งต้องเดินทางไปและกลับ และไม่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ สอง – การรวบรวมเอกสารเพื่อเสนอในหลายๆ รูปแบบ เช่น รางวัลโรงเรียนคุณภาพ สมศ. งานนโยบายที่ต้องให้ส่งรายงานกิจกรรมต่างๆ สาม – การทำผลงานวิชาการของครูที่เบียดเบียนเวลาสอน การทำเอกสารประเมินขั้นเงินเดือน สี่ – กิจกรรมในท้องถิ่นที่โรงเรียนต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งบางกิจกรรมไม่ได้เกิดประโยชน์กับเด็กและครูเลย”

รู้เขารู้เรา รบกี่ครั้งก็ชนะ

ราวกับว่าครูมิใช่มนุษย์ ราวกับว่าครูคือหุ่นยนต์ที่ต้องแบกรับภาระงานสารพัด เมื่อความอดทนเดินทางถึงจุดหนึ่งของชีวิต ครูไก่จึงตั้งต้นใหม่โดยการเดินทางหาเครื่องมือเพื่อเพิ่มพลังในการทำงาน สู่โครงการก่อการครู และบทเรียนแรกที่เขาได้รับ คือการกลับไปสำรวจภูมิทัศน์ภายในตัวเอง ครูไก่บอกว่าบทเรียนนี้ทำให้เขาเข้าใจว่า ‘รู้เรารู้เขา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง หากเรายังไม่รู้จักตัวเองดี แล้วเราจะไปรู้จักใครดีได้อย่างไร’

“คิดว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน ได้สำรวจภูมิทัศน์ข้างในของตัวเองจริงๆ รู้จักตัวเองแบบจริงจังมาก ได้ทำงานกับตัวเองมากขึ้น

ซึ่งในสภาพปัญหาการทำงานที่เราเจอ เราไม่ได้เจอสภาพนี้แค่คนเดียว มีเพื่อนครูอีกมากมายที่รู้สึกเหมือนเรา ทำให้เราเห็นอกเห็นใจเพื่อน เข้าใจสภาพที่เป็นอยู่ของตัวเองมากขึ้น เหมือนได้เอาความทุกข์ที่เจอมาตลอด 10 ปี มากองไว้ตรงหน้าแล้วพิจารณาตนเองอย่างลึกซึ้งว่า ฉันผ่านมาได้อย่างไร แต่เราก็ต้องลุกขึ้นสู้ เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับเราและเด็ก”

คราวนี้ ครูไก่ไม่ใช่เพียงผู้ฟังแล้วนั่งเลคเชอร์เหมือนเช่นการอบรมในอดีตอีกแล้ว แต่เขาได้ร่วมเล่น ร่วมเรียน ร่วมตั้งคำถาม และหาคำตอบไปพร้อมๆ กับเพื่อนครูมากมาย ที่เดินทางมาก่อการครูด้วยหมุดหมายเดียวกันนั่นคือ ‘ฉันจะเป็นครูที่ดีขึ้นได้อย่างไร’

“นอกจากนี้เราได้เครื่องมือที่สำคัญมากๆ ในการที่จะนำกลับไปออกแบบและจัดการห้องเรียนของตัวเอง เช่น จิตวิทยา ทักษะการโค้ช การออกแบบการเรียนรู้ด้วย learning curve ห้องเรียนแห่งความสุข การวัดและประเมินผล เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายมาก เพราะครูไม่ได้นั่งฟังอย่างเดียว ในระหว่างการเรียนรู้ ครูได้ใคร่ครวญกับตัวเอง ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ได้รับข้อมูลอะไรใหม่ๆ ที่เราเข้าใจและสามารถนำไปทำได้เลย เป็นการเติมไฟในใจครูอย่างแท้จริง ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ซับซ้อน

“เช่น การออกแบบห้องเรียนที่มีชีวิตด้วย learning curve (เส้นแห่งการเรียนรู้) ผมได้นำวิธีการนี้มาออกแบบตามเนื้อหาที่สอน ทำให้เราได้มองเห็นภาพรวมการสอนของตัวเองอย่างแท้จริง รู้ว่าต้องปรับ ต้องลดจุดไหน เด็กเกิดอะไรขึ้นบ้าง การสะท้อนผลที่เกิดหลังการสอนแต่ละครั้งมันมีความหมายมาก การวัดผลที่ไม่ได้ทิ้งแบบเดิมไปซะทีเดียว แต่เราค่อยๆ ปรับการวัดผลที่คอยแต่ตัดสินเด็ก ให้มีกิจกรรมที่เราสามารถวัดได้ เด็กๆ มีส่วนร่วมในการประเมิน”

ทักษะการโค้ชของครูไก่

ซึ่งอาวุธที่ครูไก่นำมาใช้บ่อยครั้งในการออกแบบห้องเรียน คือทักษะการโค้ช ที่ว่าด้วยการตั้งคำถามอันทรงพลัง และการฟังอย่างลึกซึ้ง เพราะเมื่อเขาได้ดูแลหัวใจและภายในของตนเองแล้ว ก็ตกผลึกได้ว่าหัวใจของนักเรียนก็ต้องการการดูแลด้วยความรักเช่นกัน

“เรานำทักษะการโค้ชไปใช้ในห้องเรียน ทำให้เด็กหลายๆ คนมีความสุขมากขึ้น ครูก็มีรอยยิ้ม นอกเหนือจากทุกสิ่งแล้วยังมีเครือข่ายเกิดขึ้นจากหลายอาชีพนอกจากอาชีพครู เป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่งมาก ได้เพื่อนที่เข้าอกเข้าใจ สนับสนุนส่งเสริมในการออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด มันเป็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่เปลี่ยนจากภายในตัวเองมาสู่คนรอบข้างรอบตัวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ห้องเรียนกลายเป็นห้องเรียนที่เด็กๆ มีความสุขมากขึ้น เพราะเป้าหมายในปีนี้ คืออยากปรับหลายๆ อย่างให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข เด็กๆ สนุกกับกิจกรรมที่ครูออกแบบ และเด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย ข้อตกลงที่มีความหมายระหว่างครูกับนักเรียน การสะท้อนผลระหว่างครูกับนักเรียน ไม่ต้องเคร่งเครียดกับการสอบแล้วตก แต่จะเป็นการประเมินที่มีความหมายสำหรับทุกคน คือทุกคนสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาเมื่อพร้อมที่จะเรียนรู้ ยอมรับว่าครูต้องเปิดใจมากๆ ในเรื่องนี้”

ทุกที่คือห้องเรียน ไม่เว้นแม้ในนาข้าว

จากห้องเรียนที่ครูยืนหน้ากระดาน สอนเนื้อหาตามหลักสูตรโดยมีนักเรียนนั่งฟังตาแป๋ว หลังจากครูไก่ได้ติดอาวุธมาหลายทักษะ เขาไม่รอช้าที่จะสร้างห้องเรียนของตัวเองในแบบที่เขาอยากทำ ห้องเรียนที่ไม่ต้องท่องเนื้อหาตามหน้าหนังสือ ห้องเรียนที่ไม่ถูกตีกรอบด้วยกำแพงคอนกรีตขาวสี่ด้าน ทว่าห้องเรียนที่ครูไก่สร้างขึ้นหลังจากกลับจากก่อการครูนั้น คือห้องเรียนในนาข้าว

“ผมจัดกิจกรรมค่ายขวัญรวงข้าว เป็นกิจกรรมบูรณาการที่ออกแบบร่วมกับเด็กๆ โดยนำเอาหลักการตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมไปทำการตรวจวัดในนาข้าว เด็กร่วมกันออกแบบตั้งแต่เตรียมดิน เตรียมต้นกล้าไปปลูกข้าว ดูแลให้เจริญเติบโตจนออกรวง และทำการเก็บเกี่ยว จากนั้นก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวและชาวนาของท้องถิ่นลำปลายมาศ การทำขวัญข้าวและนำข้าวมาทำเป็นขนม 9 ชนิด กิจกรรมนี้ นักเรียนได้เรียนรู้ ครูและผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการประเมินลูกของตนเอง ได้ใช้เวลาร่วมกัน

“อีกกิจกรรมคือ ตลาดนัดดาราศาสตร์ เป็นการสอบกลางภาค ของ ม.3 ที่เรามีโจทย์ร่วมกันว่า ให้นำเอาองค์ความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ มาออกแบบเป็นกิจกรรมเล็กๆ ผ่านของทำมือ อาหาร ดนตรี โมเดล เกม หรืออื่นๆ ที่สามารถออกแบบได้และนำมาออกร้านขายในตลาด ต่างคนต่างได้เรียนรู้ในไอเดียใหม่ๆ การจัดกิจกรรมนี้นักเรียนเป็นผู้วางแผน ออกแบบกิจกรรมเองร่วมกันทุกห้องที่เรียน ครูคอยแนะนำ เป็นการฝึกทำงานร่วมกัน ผู้ปกครอง ตัวเอง เพื่อน พี่ น้อง มีส่วนร่วมในการประเมิน ทุกคนสามารถถอดบทเรียนร่วมกันได้”

 ,