ปลุกความเป็น ​Youtuber เมื่อครูประวัติศาสตร์ต้องมา Teach from Home

เมื่อพูดถึงวิชาประวัติศาสตร์ เรามักจะจินตนาการถึงบรรยากาศในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความเงียบสงัด ซ้อนทับด้วยภาพวิธีการสอนของครูคนหนึ่งที่หน้าตาเคร่งขรึม เดินถือหนังสือเล่มหนึ่ง พร้อมกับเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โบราณไปมาอยู่หน้ากระดานเรียน

ตรงข้ามกับการเรียนการสอนของ ครูปอ-ปฏิพัทธ์ สถาพร คุณครูโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์แบบฉบับครูปอ ฉีกภาพจำเดิมๆ ออกไป ครูปอเน้นสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธี Active Learning ไม่ใช่แค่ลุกขึ้นมาเล่นเกมตอบคำถามหรือแสดงละครใดๆ แต่เน้นการสร้างความรู้สึก ปลุกความกระปรี้กระเปร่า ให้เด็กๆ กระหายอยากเรียนรู้และคิดวิธีการค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

ครูปอ-ปฏิพัทธ์ สถาพร

ทว่าในช่วงที่ผ่านมาการระบาดของโคโรนาไวรัส ส่งผลให้ผู้คนมากมายเลือกที่จะกักตัวอยู่บ้าน พนักงานออฟฟิศต้อง work from home และท่ามกลางสารพัดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาก็ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กัน โรงเรียนทั่วประเทศประกาศปิดอย่างไม่มีกำหนด ครูหลายคนต้องเปลี่ยนตัวเองมา teach from home เช่นเดียวกัน

แต่ครูจะ teach from home อย่างไรให้ตอบโจทย์การเรียนรู้มากที่สุด

คุยกับครูปอในฐานะผู้การออกแบบการเรียนรู้ ในประเด็นการปรับตัวเพื่อสอนหนังสือในภาวะโรคระบาด ครูเลือกใช้เครื่องมืออะไรในการออกแบบการเรียนการสอน ครูทำงานร่วมกันกับครูท่านอื่นๆ ภายใต้การเว้นระยะห่างทางสังคม ท้ายที่สุดหากเราต้องตกอยู่ในภาวะนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นในแวดวงการศึกษา

โรคระบาดทำโรงเรียนไม่เหมือนเดิม

เริ่มต้น ครูปอเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์โรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ช่วงต้นของการระบาดในประเทศจีน คณะครูยังเคยหยิบเอาประเด็นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กๆ เช่น สอนเรื่องวัฒนธรรมการกิน, ฝึกเด็กคิดวิเคราะห์ผ่านการจำลองบทบาทประชาชน นักวิชาการ รัฐมนตรี แพทย์, จัดเวิร์คช็อปทำเจลล้างมือ รวมถึงอนุญาตให้เด็กนักเรียนที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหยุดเรียนเพื่อกักตัวดูอาการ

ต่อมาสถานการณ์เริ่มหนักและรุนแรงมากขึ้นพอๆ กับจำนวนผู้ติดเชื้อ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงตัดสินใจประกาศหยุดเรียน 1 อาทิตย์ ก่อนมีนโยบายให้นักเรียน นักศึกษาเรียนในระบบออนไลน์โดยเริ่มทดลองเรียนวันแรกวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงเรียนสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเครือภายใต้มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวตาม

“สำหรับเด็กมัธยมเขาจะต้องปิดเทอมในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม นั่นแปลว่าพวกเขามีเวลาเรียนเหลืออีกเยอะมาก เราในฐานะคณะครูจึงเร่งประชุมวางแผน เริ่มแรกเราตัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงออกไปก่อน เช่น ไปทัศนศึกษานอกสถานที่ จากนั้นเริ่มหาเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์” ครูปอบอก

ก่อนสอนครูต้องเป็นนักเรียนก่อน

ระยะเวลาตลอดสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ประกาศหยุด ครูปอบอกว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เหล่าคณะครูโรงเรียนสาธิตฯ เก็บตัวประชุมกัน เพื่อค้นหาว่าจะใช้เครื่องมือและวิธีการสอนผ่านระบบออนไลน์แบบใดให้สอดคล้องกับนโยบายที่ประกาศออกมา โดยคุณครูทั้ง 5 กลุ่มประสบการณ์ 5 กลุ่มวิชา – 1. มนุษย์กับสังคม 2.สุขภาพและสุขภาวะ 3.สุนทรียะทางศิลปะ 4.การสื่อสารและภาษา 5.วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ – เริ่มวางแผนและประชุมกัน

“ที่ต้องแบ่งกลุ่มอย่างนี้ เป็นเพราะเราจะได้รู้ว่ากลุ่มวิชาควรจะออกแบบการเรียนออนไลน์อย่างไรให้เหมาะสมมากที่สุด”

ครูปออธิบายขั้นตอนการทำงานของคณะครูภายในสัปดาห์นั้นให้ฟังต่อว่า เมื่อปรับเป็นการสอนออนไลน์แล้ว ครูทำงานหรือวางแผนจัดการอย่างไร

“หนึ่ง-เมื่อปรับเป็นการสอนออนไลน์แล้ว แน่นอนว่ากระทบต่อกิจกรรมหรือกระบวนการที่อยู่ในห้องเรียนที่เคยวางแผนเอาไว้ตั้งแต่ต้นเทอม”

ดังนั้นสิ่งแรกที่คณะครูคุยกัน จึงเป็นเรื่องการสโคปเป้าหมายของแต่ละคาบเรียนที่เด็กควรจะได้รับให้ชัด ทั้งในเชิงเนื้อหาวิธีคิด ทักษะ เพื่อค้นหาหัวใจสำคัญที่เด็กมาเรียน ครูปอยอมรับว่าจุดนี้เป็นปัญหาใหญ่ของตัวเองและคุณครูท่านอื่นๆ เพราะโรงเรียนสาธิตฯ เน้นการเรียนการสอนผ่านการทำกระบวนการหรือกิจกรรมในห้องเรียน เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบไปสอนออนไลน์จึงนับว่าเป็นเรื่องท้าทาย

“สอง-เมื่อปรับเป็นการสอนออนไลน์ จำเป็นต้องค้นหาว่าสิ่งไหนพลาดไม่ได้ เพราะเมื่อเจอสิ่งที่พลาดไม่ได้ มันนำไปสู่การออกแบบวิธีการสอน”

ครูปอบอกว่าในแต่ละวิชา จำเป็นต้องพิจารณาดูว่า ธงการเรียนรู้ของคาบเรียนนั้นคืออะไร ในบางวิชาหรือคาบเรียนอาจจะเหมาะกับการสอนในรูปแบบไลฟ์ (Live) หรือการสอนในรูปแบบอัดวิดีโอธรรมดาๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าหัวใจสำคัญของคาบนั้นต้องการ interaction หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน, นักเรียน-นักเรียน รวมถึงต้องการการถกเถียงหรือการพูดคุยระหว่างกันไหม

แต่ไม่จำเป็นที่แต่ละวิชาต้องมีรูปแบบการสอนที่ตายตัว วิชาคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องสอนโดยอัดวิดีโอตลอดไป คณิตศาสตร์ก็สามารถสลับไปแบบไลฟ์ได้หากคาบนั้นเน้นการทำ Q&A ในส่วนนี้ให้ครูผู้สอนพิจารณาให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ที่ตั้งไว้

เช่นเดียวกันในบางวิชา ครูผู้สอนเพียงแค่วางรูปแบบการสอนผ่านการอัดคลิปวิดีโอธรรมดาๆ พูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ในบทเรียนและชวนให้นักเรียนคิดและตั้งข้อสงสัย จากนั้นครูค่อยมาให้ความคิดเห็นผ่านงานที่มอบหมายให้เด็กๆ ทำ โดยที่คาบเรียนนั้นไม่จำเป็นต้องสอนในรูปแบบไลฟ์ก็ได้

ครูปอยกตัวอย่างการสอนในเนื้อหาเชิงปรัชญาของนักเรียนชั้น ม.3 ตามปกติแล้วในวิชานี้ จะต้องเน้นการทำกิจกรรมในห้องเรียน เน้นให้เด็กๆ ตั้งวงพูดคุย อภิปรายและถกเถียงกันในห้องเรียน พอเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ คุณครูจึงเลือกสอนในวิชานี้ผ่านการไลฟ์ (Live) เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้เห็นสีหน้า เห็นท่าทางระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน

“สาม-เมื่อได้เป้าหมายและวิธีการสอนแล้ว หลังจากนั้นควรถอยมาดูภาพรวม ว่าครูพร้อมแค่ไหนในการใช้งานเครื่องมือ”

ช่วงเวลานั้นนอกจากประชุมวางแผนงานแล้วก็เป็นช่วงเดียวกับที่ครูแต่ละท่านต้องทำเวิร์คช็อปเพื่อให้ครูฝึกใช้เครื่องมือในการสอนออนไลน์

เมื่อสื่อการสอนไม่ใช่บอร์ดและปากกาอีกต่อไป

ตามปกติแล้วครูปอและครูท่านอื่นๆ จะพูดคุยสื่อสารในโลกออนไลน์เป็นประจำ ผ่านช่องทางทั่วไป เช่น แอพพลิเคชั่น LINE แต่การใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือตัวกลางในการสร้างการเรียนรู้ จำเป็นต้องใช้สิ่งที่เหนือกว่านั้น

“การสอนออนไลน์ครั้งนี้ ครูในโรงเรียนเราเลือกใช้ microsoft team ด้วยเหตุผลคือเครื่องมือนี้ถูกสนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และมีทีมบุคลากรซัพพอร์ตหากมีปัญหาติดขัด ที่สำคัญ microsoft team ตอบโจทย์ในการออกแบบการสอนของทีมครูมากๆ เพราะมันถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการจัดการงาน (work management) อีกอย่างเด็กๆ ในโรงเรียนทุกคนก็มี email ที่เชื่อมโยงกับ microsoft team ทำให้เด็กๆ สามารถใช้ฟังก์ชั่นของเครื่องมือนี้ได้เต็มที่”

ครูปออธิบายฟังก์ชั่นของ microsoft team ต่อว่าโปรแกรมนี้สามารถแบ่งนักเรียนออกเป็นทีม สามารถสร้างตารางนัดหมายในการประชุมตามวาระต่างๆ สร้างไฟล์เอกสารในตระกูล microsoft office ได้ทุกอย่าง สามารถแชร์หน้าจอวิดีโอเพื่อเห็นหน้าซึ่งกันและกันได้ รวมถึงยังสามารถสร้างห้องย่อยเพื่อสนทนาระหว่างกันได้อีก

แต่แน่นอนว่าสถานการณ์โรคระบาดเป็นเรื่องฉุกเฉินที่ไม่มีใครเตรียมรับมือได้ทัน โชคดีที่ครูปอเป็นคนชื่นชอบด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม จึงตื่นเต้นกับการลองอะไรใหม่ๆ แต่ครูท่านอื่นๆ หลายคนที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมืออย่างคล่องแคล่วเหมือนครูปอ จุดนี้จึงเป็นเป็นปัญหาอยู่บ้าง

“เราพบว่าครูบางคนไม่ถนัด ไม่พร้อม ไม่เคยทดลองใช้ระบบออนไลน์มาก่อน ครูบางท่านตามไม่ทัน ครูบางท่านต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่เราคิดว่านี่คือโอกาสอันดีอย่างหนึ่ง

“เพราะพวกเรามีความเชื่อกันอยู่แล้วว่าครูสามารถเป็นนักเรียนได้เสมอ โดยปกติเราเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพของเรา แต่ในสถานการณ์นี้เหล่าคณะครูจึงจำเป็นต้องงัดการเป็นนักเรียนรู้ของตัวเองออกมาใช้งาน

“เราพบว่าการเรียนรู้ของครูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสอนระบบออนไลน์ครั้งนี้ เรียนรู้สองทาง หนึ่ง-คือการที่ครูเราเรียนรู้ด้วยกันเอง สอง-ครูเรียนรู้จากเด็กนักเรียน เด็กๆ เขาไวมากในการใช้เครื่องมือ ตอนที่เราทดสอบกันช่วงแรก เมื่อพบปัญหาที่ทำให้เราเอ๊ะ เราสงสัย เด็กๆ หลายคนก็ช่วยเราแก้ไข เขาให้คำแนะนำว่าครูต้องกดคำสั่งนี้ก่อนหน้าจอถึงจะโชว์อะไรแบบนี้”

ช่วงเวลาแห่งการฝึกวินัยและความรับผิดชอบ

สำหรับบรรยากาศการเรียนเมื่อเปลี่ยนไปสอนออนไลน์ ครูปอบอกว่าเสียงตอบรับจากเด็กๆ เป็นไปอย่างดี

“เท่าที่ทดลองเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา สำหรับเราคิดว่าเด็กนักเรียนเริ่มมีความรับผิดชอบตัวเองได้ดีขึ้น แม้เราไม่ได้เห็นว่าเขาแอบเล่นมือถือหรือเปล่า เขานั่งเหม่อหรือเปล่า แต่เราต้องเชื่อใจเขา และคอยติดตามเขาจากทางไกล”

สำหรับครูปอแล้ว การเรียนหนังสือจากที่บ้านถือเป็นโอกาสในวิกฤติอย่างหนึ่ง

“พอเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ ประเด็นเรื่องวินัยก็เป็นเรื่องแรกๆ ที่เราสื่อสารกับผู้ปกครอง การเรียนที่บ้านถือเป็นโอกาสที่เด็กๆ จะได้ฝึกวินัย เขาจะทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยตัวเองได้ไหม เด็กๆ จะจัดการตัวเองดีเหมือนเดิมหรือเปล่า นี่คือช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องทำมันด้วยตัวเอง

เช่นเดียวกับพ่อแม่ พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกตัวเองไปพร้อมๆ ลูก เมื่อเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ พ่อแม่หลายๆ คนกังวลว่า ลูกจะตื่นมาเรียนไหม ลูกจะตั้งใจเรียนหรือเปล่า นี่คือนาทีทองที่พ่อแม่จะได้ฝึกไว้วางใจลูก ฝึกประคับประคองและมองเขาอยู่ห่างๆ”

ในวิกฤติยังพบโอกาสอยู่เสมอ ครูปอบอกว่าโชคดีที่ microsoft team ถูกออกแบบมาให้ง่ายต่อการตรวจเช็คและประเมินวินัยของเด็กๆ ในเบื้องต้นได้ เช่น ครูเปิดให้ทำแบบฝึกหัดตอน 9 โมงเช้า โปรแกรมจะแจ้งว่าเริ่มมีเด็กๆ เข้ามาทำกี่โมง เข้ามากี่คน ในช่วงที่ผ่านมาผลสะท้อนออกมาว่าเด็กๆ ตื่นเต้นและให้ความสนใจกับการเรียนในรูปแบบนี้อยู่

“พวกเขากระตือรือร้นในการเข้ามาทำแบบฝึกหัดภายในเวลาที่กำหนด จะมีเรื่องที่กังวลอยู่บ้าง เพราะการเรียนอยู่ที่บ้านทำให้พวกเขาไม่ได้มาเจอเพื่อน ไม่ได้มาเล่นกันเหมือนปกติ”

ส่วนการประเมินในเชิงการเรียนรู้ ครูปอบอกว่ามีหลายข้อที่ต้องพิจารณา แต่ในเบื้องต้นเมื่อเด็กๆ เรียนเนื้อหาผ่านวิดีโอแล้ว ก็จะมีแบบฝึกหัดออนไลน์ให้เด็กๆ ทำ แต่แบบฝึกหัดเหล่านั้นอาจจะต้องอาศัยความพิเศษเพิ่มเติม

“เช่น เราตั้งคำถามกว้างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ค้นคว้าเพิ่ม ให้เขาได้เชื่อมโยงและประมวลความรู้ใหม่และความรู้เดิมของเขา ให้เขาเรียบเรียงคำตอบออกมาผ่านการเขียน เราเปิดกว้างให้เขาพิมพ์ตอบเป็นข้อความมา ซึ่งการประเมินเช่นนี้ก็ตอบโจทย์จุดประสงค์ของเกณฑ์การเรียนรู้ที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการเรียนแบบออนไลน์ เพราะทำให้เราได้เห็นการประยุกต์หลายๆ ทักษะของเด็กได้ด้วย”

ครูปอยกตัวอย่างบทเรียนเรื่องการตั้งอาณาจักรโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนักเรียนชั้น ม.1 ที่มีเป้าหมายการเรียนรู้คือ การเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย

“ในช่วงที่โรงเรียนยังเปิดสอนตามปกติ นักเรียนได้เรียนเกี่ยวกับภูมิประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว คราวนี้พอต้องเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ เราก็หยิบข้อดีของเทคโนโลยีมาใช้ ตรงที่การดูคลิปวิดีโอสามารถดูซ้ำได้ ตรงไหนไม่เข้าใจก็ย้อนกลับไปดูได้เอง

“เราเลยทำคลิปทบทวนเนื้อหาที่เด็กเรียนไปแล้วว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีภูมิประเทศ พื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง ถือเป็นการเก็บตกสิ่งที่เขาอาจจะหลุดไปบ้างจากห้องเรียน หลังจากนั้นจึงให้แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ศึกษาได้เอง เช่น วิดีโอออนไลน์ที่มีใน Youtube แผนที่ภูมิประเทศ ภาพสามมิติ บทความต่างๆ เพื่อช่วยให้เขาเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น”

จากนั้นครูปอปิดท้ายด้วยการทำแบบทดสอบออนไลน์ เพื่อชวนเด็กคิดต่อว่าภูมิประเทศแบบไหนกันแน่ที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานและเหมาะกับการสร้างอาณาจักรมากที่สุด

วิธีการสอนเช่นนนี้จะทำให้เด็กๆ ได้แอคทีฟกับการประมวลข้อมูลและคิดหาคำตอบจากโจทย์ที่ได้รับไป เมื่อนักเรียนส่งคำตอบเข้ามา คุณครูก็ให้ feedback กลับไปได้เลยว่าคำตอบของเขามีจุดไหนที่ดี มีจุดไหนที่ยังปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก หากนักเรียนติดใจสงสัยอะไรก็สามารถใช้ฟังก์ชั่นการแชทมาสอบถามครูได้ทันที ถือว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนในช่วงที่เจอกันที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ต้องมาเจอกันในโลกออนไลน์แทน

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีหลายเรื่องที่ต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็นแรงต้านจากการฝึกใช้เทคโนโลยี การปรับตัวรับมือกับบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ครูปอบอกว่าในการออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งผลักและดันให้คุณครูงัดกลยุทธ์ส่วนตัวของตัวเองออกมาใช้สุดฤทธิ์

“ครูคนไหนที่สายบันเทิง เขาก็จะใช้วิธีพูดหรือหยิบลีลาแบบขายของออนไลน์ในโซเชียลนำมาประยุกต์ใช้ในการสอน ครูบางคนก็เริ่มหาตัวช่วยเป็นอุปกรณ์ต่างๆ มาเล่นกับนักเรียน เช่น กระดิ่ง หรือเตรียมสไลด์สนุกๆ ตัดต่อวิดีโอให้สนุก ใช้ดนตรีประกอบเพื่อดึงดูดให้นักเรียนให้สนใจขึ้น มันก็สนุกดีนะครับ (หัวเราะ)”

ความเครียดของครูในภาวะ COVID-19

ถ้าพูดถึงความยากในการทำงานระหว่างครูกับครูด้วยกันเอง ครูปอพบว่าความยากมีหลายระดับมาก

โชคดีที่คาแรคเตอร์ของครูในโรงเรียนสาธิตฯ เต็มไปด้วยครูที่ช่างเจรจา ชอบพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แต่ในจังหวะที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ก็ทำให้การพบปะเจอหน้าเจอตาก็น้อยลง นอกจากเด็กจะต้องเรียนจากบ้านแล้วครูก็ต้องสอนและทำงานอื่นๆ จากบ้านเช่นกัน

ครูปอบอกว่าราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนเริ่มสอนออนไลน์ กลุ่มครูใช้วิธีการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์เกือบทั้งหมดทำให้สิ่งหนึ่งหายไป นั่นคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เหตุผลนี้จึงทำให้ครูหลายๆ คนที่ชอบเข้าสังคม เกิดความเครียดขึ้นมา เพราะครูต้องนั่งอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เจอใคร จากที่มาเจอกันที่โรงเรียนเกือบทุกวัน แต่กลายเป็นว่าไม่ได้เจอใคร ต้องนั่งพูดหน้าคอมพิวเตอร์

ปฏิพัทธ์ สถาพร

“การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันมันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ มันเหมือนเราคุยกับคนอื่นเยอะมากผ่านตัวหนังสือและข้อความแต่เราไม่ได้ขยับปาก ไม่ได้ขยับร่างกาย ยิ่งช่วงวางแผนปรับการสอน ข้อมูลยิ่งไหลไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นว่าการทำงานอยู่ที่บ้านอาจจะต้องอาศัยการแบ่งเวลาให้เป็นสัดส่วนกว่าไปทำงานที่โรงเรียนอีก เพราะการสอนในโรงเรียนอย่างน้อยเราก็ทราบว่า เราจะสอนในคาบนี้กี่โมง สอนเสร็จกี่โมง เราจะมีเวลาว่างตอนไหน” ครูปอบอก

ฉะนั้นในระยะยาวถ้าต้องอยู่กับภาวะนี้อย่างเลวร้ายที่สุดจนถึงสิ้นปี จะส่งแรงสั่นสะเทือนต่อระบบการศึกษาไทยอย่างมาก

ครูปอตอบคำถามในฐานะบุคลากรที่มีหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ ว่าตอนนี้เราทำได้เพียงหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น มาโรงเรียนไม่ได้ก็บิดไปเรียนออนไลน์ แต่ถ้าเรามองภาพใหญ่ ถ้าปัญหามันยืดเยื้อไปกว่านี้ นี่อาจจะเป็นโอกาสของคนในแวดวงการศึกษาที่ต้องมาคุยกันอีกครั้งว่าเราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

“คำตอบอาจจะต้องช่วยกันคิดให้รอบด้าน การเรียนออนไลน์จะเกิดขึ้นจริงก็ต้องอาศัยความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งโรงเรียน ครู เด็ก การเข้าถึงอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งบริบทของแต่ละที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

“และเมื่อพิจารณาให้ดี การเรียนออนไลน์อาจไม่ใช่แค่ตัวเลือกเดียวที่เข้ามาช่วยแก้ไข เราอาจจะมีการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ เช่น เด็กสามารถเรียนด้วยตัวเอง อ่านหนังสือเอง ดูโทรทัศน์เพื่อการศึกษาเอง จับกลุ่ม community เพื่อเรียนรู้กับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เรารู้สึกว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเรียนรู้ขึ้นมาได้”

สำหรับครูปอ ในวิกฤติยังมีเรื่องราวสนุกๆ อยู่เสมอ

“วิกฤตินี้เป็นไฟท์บังคับทำให้เราต้องปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนแปลง ต่อไปการศึกษามันอาจจะมีความผสมผสานกันมากขึ้น เพราะครูและนักเรียนผ่านการใช้เครื่องมือออนไลน์อย่างเชี่ยวชาญ เมื่อก่อนครูอาจจะสนุกสนานในการออกแบบกระบวนการในห้องเรียน แต่ตอนนี้ความสนุกอาจจะเปลี่ยน ครูสนุกกับการหยิบจิตวิญญาณของ Youtuber Blogger ของตัวเองออกมา”

 , ,