แม้โคโรนาไวรัส (COVID-19) จะแพร่ระบาดกระจายไปหลายประเทศทั่วโลก และ social distancing – การเพิ่มระยะห่างระหว่างกันในสังคม คือหนึ่งในวิธีรับมือกับการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้าง ในทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่ง การศึกษา
ทว่าการเรียนการสอนก็ยังคงต้องดำเนินไป ส่งผลให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถึงคราวต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ จากห้องเรียนออฟไลน์สู่ออนไลน์ เพื่อให้การศึกษายังคงดำเนินไปภายใต้วิกฤติครั้งนี้
เช่นเดียวกับ ครูนัท-ณัฏฐพล อิสรเสรีรักษ์ ครูพิเศษ วิชาเคมีในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ แต่ประกาศจากรัฐบาลกับคำสั่งปิดสถานศึกษาชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดนั้น กอปรกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดูจะไม่สามารถคลี่คลายในเร็ววัน ไอเดียการสอนหนังสือออนไลน์สไตล์ครูนัทจึงถูกดีไซน์ขึ้น โดยมีอุปกรณ์คู่ใจคือไอแพด 1 เครื่อง กับปากกาไอทีหนึ่งแท่ง!

ห้องเรียนในห้องนอน กับซีรีส์เคมีออนไลน์ของครูนัท
“ตอนนี้ทางโรงเรียนปิดเทอมจึงไม่มีการเรียนการสอน ไอเดียการสอนออนไลน์ของเราจึงมองไปถึงปีการศึกษาหน้า เพราะตั้งแต่แรกที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการ เราคิดอยู่แล้วว่าจะต้องเลื่อนเปิดเทอมไปไกลแน่ๆ” ความที่ครูนัทสอนวิชาเคมี ม.6 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อฤดูกาลปิดเทอมครั้งนี้ดูท่าจะยาวนานโดยไม่อาจคาดการณ์ได้ ครูนัทจึงใช้วิธีการตั้งโพลสำรวจความเห็นต่อการเรียนออนไลน์ช่วงปิดเทอมของลูกศิษย์ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ลงมติกันว่า ‘อยากเรียน!’
“ปกติแล้วการสอนออนไลน์มีหลากหลายวิธีมาก เบสิคที่สุดคือครูมีกระดานไวท์บอร์ดที่บ้าน ตั้งกล้องวิดีโอถ่าย ครูเขียนและพูดอธิบายกับกล้อง สองคือ การใช้แทบเล็ตหรือไอแพด แล้วมีปากกา ส่วนตัวผมถนัดแบบที่สอง คือการใช้ไอแพดและปากกามาช่วยในการสอน แต่ส่วนใหญ่แล้วแอพพลิเคชั่นในไอแพดจะไม่ฟรี ผมก็ลงทุนหน่อย ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่ผมใช้และรู้สึกว่าดีชื่อว่า Explain Everything”
ความเจ๋งของแอพพลิเคชั่นนี้ คือความสามารถในการโยนเนื้อหาหรือตำราเรียนที่เป็นไฟล์ PDF เข้าไปในแอพพลิเคชั่นได้ ประหนึ่งสไลด์การสอน และสามารถใช้ปากกาไอแพดในการเขียนคำอธิบายไปควบคู่กับกรอบวิดีโออธิบายเนื้อหา นั่นจึงทำให้นักเรียนสามารถเห็นทั้งบทเรียนและตัวครูอธิบายไปพร้อมๆ กันได้
“เราจะอัดวิดีโอไว้ เปิดกลุ่มในเฟซบุ๊คแล้วเอาวิดีโอนี้ใส่เข้าไป เด็กอยากจะเรียนตอนไหนก็เข้ามาเรียนได้เลย สมมุติว่าผมทำคลิปละ 20 นาที 60 ตอน ก็เหมือนเราดูซีรีส์ แต่เราก็ต้องหาเครื่องมือในการติดตามนะว่าเด็กแต่ละคนเขาดูไปถึงตอนไหนแล้ว เช่น Google Docs หรือ Google Sheet ให้เด็กมาเขียนบอกได้ว่าหนูดูมาถึงตอนนี้แล้วนะ” ครูนัทเล่า
“เมื่อเด็กเรียนแล้วมีปัญหา เขาจะถามอย่างไร ง่ายที่สุดคือ เขาสามารถเขียนคำถามในช่องคอมเมนต์ในคลิปนั้นๆ ได้เลย แล้วเดี๋ยวครูจะเข้าไปตอบ กับอีกวิธีคือ เราตั้งกรุ๊ปไลน์รวมของเด็กที่เรียน ถ้าเขาเรียนๆ อยู่แล้วมีคำถาม ก็พิมพ์มาถามในไลน์ได้เลย พูดง่ายๆ คือเราก็กำลังพยายามทำให้มันมี interactive ที่สุดในขณะที่เด็กเรียนภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี”
สอนเคมีออนไลน์ยังไงให้ไม่น่าเบื่อ
ไม่ใช่เพียงสร้างวิดีโอสอนตามเนื้อหาหรือตำราเรียน แต่การสอนออนไลน์ก็ยังสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่สนุกๆ ได้เช่นกัน โดยครูนัทมีไอเดียการนำเรื่องสารเคมีกับสถานการณ์โควิดมาทำสื่อการสอนเพื่อพิสูจน์เฟคนิวส์!
“ไอเดียที่เรากำลังจะทำคือ ความที่ทุกวันนี้สารที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้นั้น ไม่ได้มีแค่แอลกอฮอล์อย่างเดียว หรือแม้แต่แอลกอฮอล์นั้นก็มีหลายรูปแบบ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ แฮลกอฮอล์เจล หรือสารอื่นๆ เช่น เดทตอล ไฮเตอร์ โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เราก็เลยอยากตั้งประเด็นว่า สารนี้ฆ่าเชื้อได้ สารนั้นก็ฆ่าเชื้อได้ แต่จริงแล้วๆ สารเหล่านี้ทำงานต่างกันอย่างไร
“หรืออย่างนั้นเราใช้เดทตอลมาเช็ดแผลได้ไหม เอาแอลกอฮอล์มาแช่ผ้าได้ไหมไปจนถึงสารที่เราใช้แต่ละอย่างนั้น เราควรจะต้องระวังอะไรบ้าง เช่นข่าวที่แชร์กันว่า แอลกอฮอล์อย่าเอามาฉีดเล่นนะ เพราะมันจะติดไฟ อาจจะต้องทดสอบให้เห็นเลยว่าจริงไหม หรือข่าวนั้นเป็นเพียงแค่เฟคนิวส์”
นักเรียนจะได้หรือไม่ได้อะไรถ้าเทียบจากการเรียนปกติ – เราถามไปยังครูนัท
“เรามองว่ามันสามารถอธิบายได้ด้วย KPA (เกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน) นั่นคือ K-knowledge ต่างกันตามลักษณะนิสัยของครูแต่ละคน คือ ครูแต่ละคนเวลาสอนกระดานอาจจะดีมาก แต่พอมาสอนออนไลน์เขาอาจจะต้องมาปรับเอาเอง หมายถึงอาจจะสอนผ่านไวท์บอร์ดในคอมหรือว่าเบสิคที่สุดก็คือ สอนผ่านกระดานแล้วตั้งกล้องวิดีโอถ่าย ส่วนตัวเรามองว่า knowledge นั้น ถ้าจากออฟไลน์มาสอนออนไลน์ เด็กควรจะได้ knowledge 70-80 เปอร์เซ็นต์ จากปกติ
“P-practice ส่วนนี้เด็กจะได้ลดลงจากการเรียนปกติในห้องเรียนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เลย เพราะ practice มันหายไป บางอย่างก็สามารถทำผ่านออนไลน์ได้แต่ว่าวิชาปฏิบัติการเช่นในห้องแล็บ คงทำไม่ได้
“A-attitude เราคิดว่าตรงนี้ในออนไลน์เราทำอะไรไม่ได้ อย่างการสร้างความอยากเรียนในบทเรียนให้กับเด็ก หรือโดยเฉพาะเด็กหลังห้อง พอมาเป็นออนไลน์ ตรงนี้เรามองว่ามันคือ 0 มันสร้างกันไม่ได้ในออนไลน์ มันต้องอยู่ในห้องเรียนหรือสถานที่จริง”
ข้อจำกัดในบรรยากาศวิกฤติ
เมื่อการสอนออนไลน์แบบเรียลไทม์ไม่ใช่วิธีการที่ตอบโจทย์กับบริบทของโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนจำนวนมาก การสร้างสรรค์บทเรียนผ่านวิดีโอและอัพโหลดลงโซเชียลจึงเป็นวิธีการที่ครูนัทเลือก ทว่าวิธีการนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเช่นกัน สิ่งหนึ่งคือความสามารถในการเข้าไปค้นหาความหมาย และการสร้างความอยากเรียนต่อผู้เรียน ที่ครูนัทบอกว่า … เป็นไปได้ยาก
“ปกติแล้วต่อให้ไม่ใช่ออนไลน์ สิ่งที่สร้างได้ยากมากคือความอยาก เพราะความอยากจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นมันมี meaning (ความหมาย) กับนักเรียน การสอนในห้องเรียนแบบตัวต่อตัว เราสามารถที่จะเดินเข้าไปค้นหาว่าอะไรหรือวิธีการใดที่มีความหมายต่อเขา แล้วทำให้เขาเกิดความอยากขึ้นมา
แต่พอเป็นออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ relationship ไม่สามารถสร้างผ่านหน้าจอได้ แล้วพอเราไมได้เจอเขาตัวเป็นๆ เราก็ไม่รู้จะเสริมแรงอย่างไร จะ empower เขาอย่างไร จะทำอย่างไรให้เขาอยาก ตรงนี้เรามองว่ามันคือข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบออนไลน์”
แล้วการวัดผลโดยการสอบ ทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง – เรายิงคำถามไปยังครูนัทอีกครั้ง
“ทุกวันนี้ยังแก้ปัญหาการลอกข้อสอบไม่ได้ จะทำอย่างไรให้เด็กไม่ลอกกัน ความหมายคือ ต่อให้มีโปรแกรมสลับข้อ สลับชอยส์ คำถามเดียวเลย สมมุติว่าเขาไปจ้างรุ่นพี่มานั่งข้างๆ หรือจ้างคนมาทำให้ เราก็ไม่รู้อยู่ดี
“ปัญหาตรงนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบและจริยธรรมส่วนบุคคล มันเกินการควบคุมของเราไปแล้ว ยกตัวอย่างนะครับว่า ต่อให้เด็กไม่จ้างให้มาทำข้อสอบให้ เขาแค่ไปนั่ง Co-working Space ติดๆ กัน แค่นี้เราก็ไม่รู้แล้ว หรือครูบางคนก็บอกว่าต้องมีระบบตรวจกับหน้า แล้วนั่งสอบพร้อมกัน และเปิดกล้องให้ครูเห็นว่ากำลังทำข้อสอบอยู่ คำถามคือ เด็กแต่ละคนก็ไม่ได้มี resource เหมือนๆ กัน ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนไม่ได้มีคอมพิวเตอร์หรือแทบเล็ตไว้เรียนทุกคน มันเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง”

ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยี สิ่งนี้คือความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง ยิ่งในบริบทของโรงเรียนด้วยนั้น ครูนัทมองว่าแตกต่างจากการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยอย่างมาก ซึ่งหากมองในกรณีการระบาดของ COVID-19 ที่จะกินเวลายาวนานและการศึกษาต้องทำผ่านโลกออนไลน์ ครูนัทมองว่า กระทรวงศึกษาคือตัวกลางสำคัญในการอำนวยระบบหรือเทคโนโลยีบางอย่างเพื่อให้นักเรียนและครูเข้าถึงได้
“การเรียนการสอนออนไลน์ในระดับโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการเองควรจะเป็นเจ้าภาพในการทำอะไรบางอย่างกับการเปิดภาคเรียนในอนาคต เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ และมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต ฯลฯ ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างสอน ต่างโรงเรียนต่างสอนแบบนี้” ครูนัทว่า
COVID-19 กับความท้าทายของครู
แม้วิกฤตการณ์จะสร้างความอลหม่านเป็นวงกว้างกับการต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอด แต่ในอีกนัยหนึ่ง วิกฤติก็ได้สร้างความท้าทายต่อนักการศึกษา ที่จะต้องงัดทักษะต่างๆ มาใช้เพื่อออกแบบการเรียนการสอนภายใต้ข้อจำกัดที่มี ครูนัทก็เช่นกัน
“เราเคยเข้าคอร์สเวทมนตร์คาถาในการสร้างการเรียนรู้ที่เปี่ยมความหมาย ของ ครูจ๊อย-ดร.ปวีณา แช่มช้อย เราอินในเรื่องของการสร้าง ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ ระหว่างครูกับนักเรียน เรามองว่ามันคือเวทมนตร์ของครู ซึ่งมันไม่จำเป็นว่าครูต้องใจดี จะต้องเป็นเพื่อนได้ ครูบางคนที่เขาดุๆ แต่ก็มี relationship ที่ดีกับนักเรียนเหมือนกัน
“ถามว่าทำไมทักษะนี้ถึงสำคัญ คือเวลาเราสอนเด็ก ถ้าเขาเข้ากับเราได้ สอนอะไรเขาก็รับหมด แต่ถ้าเกิดเขาไม่ชอบเราล่ะ ต่อให้เราสอนดีหรือสิ่งที่เราสอนดีขนาดไหน แต่เขาไม่เอามันก็ไม่มีประโยชน์ ความหมายคือเขาจะเชื่อเรา จะฟังเรานั้น ความสัมพันธ์ที่เรามีกับเขาต้องดีก่อน”
อีกทักษะที่ครูนัทมองว่า สำคัญอย่างมากต่อการศึกษาทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ คือเรื่อง creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ ที่ครูนัทได้รับจากวิชาการออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ของ พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร
“คือครูต้องมีวิธีการที่หลากหลายมากกว่าการอยู่ในกรอบ บางครั้งเวลาเราคิดอะไรในกรอบอย่างเดียวมันก็จะได้ไม่กี่อย่างหรอก แต่พอเราเอาปัญหาตั้งต้นแล้วคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ นั่นแปลว่า 1 ปัญหามันไม่ได้มีทางแก้แค่ 1 หรือ 2 อย่างเท่านั้น ความหมายคือ เวลาเราสอนเด็กว่าอะไรบวกกันแล้วได้ 2 มันจะไม่ใช่ 1+1 แล้ว หรือ 0+2 แต่จะเป็น 5-3 ก็ได้ 7-5 ก็ได้”

นอกจากครูต้องสร้างความสัมพันธ์ และมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่ากรอบตำรา อีกสองทักษะที่ครูนัทแนะนำคือ communication หรือการสื่อสารที่ให้ความสำคัญกับท่วงท่า น้ำเสียง ที่เขาได้รับจากคอร์ส ‘ครูกล้าแสดง’ ของ ครูโอ๋-สุกัญญา สมไพบูลย์
“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเด็กทำงานไม่เป็นเลย ทำกิจกรรม ไม่เป็น ทำไม่ได้ และไม่ทำด้วย เฮ้ย ถ้าเป็นแบบนี้ได้เกรด 4 ไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็เลยพยายามชวนเขาวิเคราะห์ คิดตาม ไม่ใช่ว่าครูพูดอะไรก็ท่องจำเอา เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำ ทำไมต้องเป็นแบบนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรือ”
บทเรียนของครูนัทจึงไม่ใช่เพียงเปิดสไดล์และให้ความรู้ แต่เขามุ่งไปที่การตั้งคำถามและชวนวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยของสิ่งที่เกิดขึ้น ไปจนถึงชวนมองความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นของสิ่งนั้นๆ ในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย
“สุดท้ายคือ collaboration คือเราต้องรู้จักทำงานร่วมกัน แน่นอนว่าตัวเองเก่งก็ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเก่งแล้วทำงานกับคนอื่นได้ ถึงจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง” ครูนัทว่า