เท้าความไปยังประวัติศาสตร์ของชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ชุนชนขนาดใหญ่ที่ยังคงเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชาวไทยเบิ้งเอาไว้ ทั้งภาษา การละเล่น การแต่งกาย และเพลงพื้นบ้าน
ที่แห่งนี้เผชิญกับวิกฤตการณ์หลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากการวางผังเมืองที่กำหนดให้โคกสลุงเป็นเขตอุตสาหกรรม และการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่สร้างความกังวลสู่คนในชุมชนชาวไทยเบิ้ง ด้วยเกรงว่าวัฒนธธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อาจสูญหาย หรือกระทั่งถูกลืม อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าของชุมชนไปตลอดกาล
ย่นย่ออย่างง่าย คนไทยเบิ้งหาใช่ยอมศิโรราบ พวกเขาต่อสู้อย่างชาญฉลาด ผ่านการนำวัฒนธรรมมาเป็นทุนในการต่อรองกับภาครัฐ กระทั่งสามารถเปลี่ยนผังเมืองของประเทศได้ จากชุมชนที่เคยถูกหมายตาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นแหล่งถลุงแร่ บัดนี้โคกสลุงคือ ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

มากกว่า 20 ปี กับการขับเคลื่อนชุมชนของคนไทยเบิ้ง หลากหลายเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้พัฒนาคน และชุมชน ที่ พ่อมืด-ประทีป อ่อนสลุง หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของการทำงานชุมชนได้เล่าให้เราฟังว่า กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ ความรู้ที่เขาเสาะแสวงหาเพื่อสร้างวิธีคิด เกิดวิธีมองปัญหา นำมาสู่วิธีการทำงาน หนึ่งในเครื่องมือนั้นเรียกว่า Systems Thinking
“เรามีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องของการคิดเชิงระบบ หรือ Systems Thinking เมื่อตอนปี 2546-2548 ในหลักสูตรที่ค่อนข้างเข้มข้น ตอนเรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจมากนักหรอก แต่ก็เอาบางอย่างมาใช้ เช่น เอาทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Satir) มาใช้มองระบบของงานที่เราทำ ว่ามันไปเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
“เริ่มแรกคือเอา Systems Thinking มาถอดสาระสำคัญและใช้กับตัวเอง จากนั้นช่วงปี 2557 ก็เริ่มเอามาลองทำเป็นกระบวนการ พูดได้ว่าเรียนรู้ทฤษฎีแล้วเอามาใช้ผ่านการปฏิบัติในรูปแบบที่เหมาะกับพื้นที่และเหมาะกับชาวบ้าน เราไม่ได้เรียนแบบที่มหาวิทยาลัยเขาเรียนนะ แต่เอาแค่แก่นของมันมาอธิบายและสอนกันในชุมชน ให้เขาเข้าใจถึงงานที่ทำอยู่ไปด้วยกัน
“เราเอามาฝึกคิด ฝึกมองให้เห็นความเชื่อมโยงให้เห็นว่า งานที่เราทำมันเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร กับหน่วยงานไหน และเอาไปใช้ในเวลาที่เราจะทำแผนยุทธศาสตร์ชุมชน
เพื่อเห็นถึงว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร เป้าหมายของเราคืออะไร แล้วยุทธศาสตร์ที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายนั้น ต้องเชื่อมโยงส่วนไหนบ้าง Systems Thinking จะสอนเราเรื่องนี้ ให้เราเข้าใจว่าทุกเรื่องคือเรื่องเดียวกัน ไม่คิดแบบแยกส่วน”
พ่อมืดอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างในการนำหลักการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ 4 ระดับ (ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง – Satir) แบบฉบับไทยเบิ้ง ที่พ่อมืดมักนำมาใช้ในการทำงานเพื่อมองปัญหาหรือปรากฏการณ์อย่างเชื่อมโยง

“ระดับปรากฏการณ์ (event) คนเขาก็จะมองว่า โคกสลุงคือวัฒนธรรมไทยเบิ้ง อาจจะเห็นแค่เรื่องของภาษาพูด สำเนียง การแต่งกาย หรือการละเล่นเท่านั้น ตรงนี้ใครมองมาก็จะเห็นเลย
“สองคือ ระดับแบบแผน (pattern) ก็จะเป็นว่า โคกสลุงนี้มีรูปแบบวัฒนธรรมของชุมชนนี้อย่างไร เช่น ที่เขามีภาษาพูดแบบนี้ ก็เพราะเราเป็นชุมชนวัฒนธรรมที่อยู่ระหว่างรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เป็นดินแดนของการไหลผ่านทางวัฒนธรรมหลายเรื่อง โคกสลุงจึงมีความคล้ายคลึงกับภาคอีสาน เช่นคำว่า ส้ม ของภาษาอีสานแปลว่า เปรี้ยว ของเราก็เหมือนกัน เราก็จะมีเอาผลไม้ส้มมากินกับน้ำพริกตะเกลือ ตรงนี้ถ้าเราอธิบายของบ้านเราก็จะรู้ว่า ทำไมวัฒนธรรมไทยเบิ้งถึงมีวิถีชีวิตแบบนี้ มีการพูด การแต่งกายเช่นนี้ ก็เพราะที่นี่มีการผสมผสานรื่องวัฒนธรรมของทั้งภาคกลางและอีสานเข้าด้วยกัน
“หรือถ้าเรามองลึกลงไปกว่านั้นในระดับ การเห็นโครงสร้าง (structure) คือวัฒนธรรมไทยเบิ้งเขาอยู่กันอย่างไร เขาอยู่กันแบบพี่แบบน้องนะ แบบเครือญาตินะ ทำไมคน 2,000 – 3,000 ครัวเรือนถึงรู้จักกันหมด ฉะนั้นเราต้องมาดูเรื่องโครงสร้างทางสังคมของคนที่นี่ ซึ่งในสมัยก่อนนั้น คนที่นี่จะแต่งงานกันในหมู่บ้าน
“หากย้อนไปสัก 40 ปีที่แล้ว โอกาสที่คนข้างนอกจะเข้ามาแต่งงานกับคนที่นี่มีน้อยมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวก คนก็มีอาชีพที่อยู่กับเกษตรกรรม อยู่กับบ้าน กับครอบครัวในพื้นที่ และในความสัมพันธ์แบบเครือญาตินั้น เราก็จะมีความเชื่อว่าการที่ไปแต่งงานกับคนบ้านอื่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วจะไปเยี่ยมยามถามข่าวมันทำได้ยาก นี่คือโครงสร้างทางสังคมว่าทำไมคนถึงมีวิธีคิดแบบนี้
“หรือถ้ามองไปถึงภูมิประเทศของโคกสลุงนั้น สมัยก่อนที่นี่คือเป็นป่าอยู่ห่างไกลตัวเมือง แค่จะเข้าไปในตัวเมืองลพบุรีแต่ละครั้งใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวัน ไปแบบไม่กลับนะครับ ต้องค้างคืน เพราะฉะนั้นที่นี่ถึงได้มีภูมิปัญญาเพื่อการอยู่รอด เช่น ความรู้เรื่องสมุนไพร การพยาบาลดูแล หรือความเชื่อเรื่องผี ก็ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนโครงสร้างทางสังคมและภูมิศาสตร์ของเรา
“ระดับสุดท้ายคือ ความเชื่อ (mental model) ถ้าเราดูเรื่องของอุดมคติ หรืออุดมการณ์ของคนที่นี่ ก็คือคนที่นี่นั้นจริงๆ แล้วเรียบง่าย มีการแบ่งปันและอยู่กันแบบเกื้อกูลกัน มีความเสียสละและมีจิตอาสา ซึ่งมองไปถึงอดีตนั้น ทำไมวัดวาอารามถึงใหญ่โต ศาลาที่มีเสาเป็นร้อยๆ ต้นที่ใหญ่จนคนโอบไม่รอบทั้งที่ขณะนั้นก็ไม่ได้มีเครื่องทุ่นแรงในการสร้างมากนัก แสดงว่าคนในชุมชนนี้เสียสละ มีความเข้มแข็งในระบบเครือญาติในชุมชน และมีใจที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวม”
หากเปรียบโมเดลนี้เป็นสิ่งของ คงเหมือนแผนที่คอยนำทางแก่คนทำงาน ซึ่งพ่อมืดได้อธิบายผ่านการนำโคกสลุงมาเป็นกรณีศึกษา และแน่นอนว่าหากเปลี่ยนจากโคกสลุงเป็นการมองไปยังปัญหาหรือประเด็นอื่นๆ การทำงานที่เคยถึงทางตันก็จะคลี่คลายได้ผ่านการเชื่อมโยงปัญหา และเข้าใจคน

“ถ้าเรามองแค่ระดับปรากฏการณ์ โดยไม่ได้มองลึกลงไปในอีกหลายๆ ระดับที่อธิบายมา เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า ทำไมคนถึงคิดแบบนี้ เช่น เวลาหน่วยงานท้องถิ่นจะเข้ามาทำงานกับชุมชน ถ้าเขาไม่มองให้ลึก ไม่รู้นิสัย ไม่รู้บุคลิก ไม่รู้อะไรเลย เขาก็ไม่อาจทำงานแบบเข้าถึงชุมชนได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว บางเรื่องคำตอบมันไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานนะ มันอยู่ที่คน นี่คือเรื่องละเอียดอ่อนที่เราต้องเข้าใจและต้องใช้ระบบการมองแบบนี้เข้ามาช่วย”
เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้ พ่อมืดย้ำกับเราว่า การทำงานชุมชนนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวคนเดียว – ไม่มีทาง
“การทำงานชุมชนเช่นนี้ ไม่มีทางทำคนเดียวได้แน่นอน มันต้องไปด้วยกัน ทำด้วยกัน นั่นแปลว่า เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน แม้ระดับความสนใจหรือความเข้าใจในแต่ละเรื่องอย่างลึกซึ้งของคนในชุมชนจะไม่เท่ากันก็ตาม อาจเพราะประสบการณ์การทำงานและความรู้ในเรื่องนั้นๆ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่ได้มองไกล อาจจะมองแค่ในเรื่องของครัวเรือนของเขาหรือแค่ในประเด็นที่เขาทำ นั่นไม่เป็นไร เราไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องรู้และสนใจเหมือนๆ กันทั้งหมด แต่หัวใจคือ เป้าหมายร่วมกันที่จะต้องมองเห็นตรงกัน อย่างโคกสลุง เป้าหมายร่วมของชุมชนเราคือ ชุมชนสุขร่วมสร้าง (Collective Happiness)”
สามารถสมัครเรียนออนไลน์ว่าด้วยเรื่องของ ‘วิธีคิดเชิงระบบและสุนทรียสนทนา’ (System Thinking and Dialogue) ได้ที่ Gen Next Academy http://bit.ly/2m8tl0g