รื้อถอนมายาคติทางการศึกษา: หากครูไม่ใช่ผู้ให้ ไม่เป็นเรือจ้าง แล้วครูคือใคร

เพราะระบบการศึกษานั้นมีขนาดใหญ่มหึมา รายล้อมด้วยหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องมหาศาล ขณะเดียวกัน ปัญหาของการศึกษานั้นก็มีมากเสียจน เวลาเราพูดถึงการแก้ไขปัญหา ความเป็นไปได้อย่างน้อย คือการโฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งทว่าสุดท้ายแล้ว หลายครั้งของความพยายาม กลับตกร่องปัญหาเดิมอยู่ตลอดเวลา 

ปัญหาที่แท้นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ … ที่คุณภาพของคน ที่หน่วยงาน ที่ระบบ หรือจริงๆ แล้วนั้น ปัญหาของการศึกษานั้นมีอะไรมากกว่าที่เราเห็นๆ กันอยู่

‘งานวิจัยเพื่อรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา’ จึงเริ่มต้นจากคำถามข้างต้น โดยการย้อนกลับไปสำรวจว่า อะไรที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษาผ่าน 5 หัวข้อวิจัย คือ ความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับ, ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21, การจัดการห้องเรียนและการลงโทษ, ความสำเร็จทางการศึกษาในแง่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย, มายาคติทางเพศที่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของนักเรียน

เวทีเสวนาวิชาการ ‘ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน’

วิธีคิดเหล่านี้ทำงานอย่างไรกับสังคมไทย ส่งผลแบบไหนกับตัวเยาวชน ครู ผู้ปกครอง และสังคมบ้าง

จากการตั้งคำถาม สำรวจ สืบค้น และสัมภาษณ์บุคลากรทางการศึกษาโดยทีมวิจัยจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อเขียนถัดจากนี้คือข้อค้นพบและข้อสรุปบางประการ ถึงวิธีคิดเบื้องหลังโลกการศึกษา โลกของครู โลกของนักเรียน โลกของโรงเรียน ว่ามีสิ่งใดบ้างที่เป็นตัวล็อคสำคัญ ที่ทำให้การแก้ปัญหาการศึกษาในบ้านเราต้องเผชิญกับทางตันเสียทุกครั้งไป 

“ไม่มีช่วงเวลาเหมาะสมเท่านี้อีกแล้ว โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สังคมเรากำลังอยู่ในวิกฤติของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งระหว่างความคาดหวังของสังคมต่อโรงเรียน ต่อบทบาทครู ต่อบทบาทนักเรียน เหล่านี้ผมคิดว่า การคุย การรับฟัง และการพยายามเรียนรู้ระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ” 

ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเริ่มเรื่อง ก่อนชวนทุกคนมาตั้งคำถามต่อสิ่งที่สังคมมองว่าดีงามในระบบการศึกษา ในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน’ ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

(1)
ครูคือผู้ให้ 

มายาคติว่าด้วย ‘ครูคือผู้ให้’ มีร่มใหญ่ใจความว่าด้วยครูคือผู้เสียสละ เปรียบดั่งเรือจ้าง เป็นมายาคติที่กำกับวิธีคิดสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นวิธีคิดที่อนุญาตให้ครูเป็นผู้ที่ยอมให้เด็กเกลียดชังได้ ด้วยความเชื่อที่ว่า การกระทำในวันนี้ของครูแม้เป็นเรื่องผิด สุดท้ายแล้วเด็กจะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในวันข้างหน้า 

“อาชีพครูถูกสถาปนาขึ้นว่าเป็นอาชีพที่มีความพิเศษ เป็นผู้ปิดทองหลังพระ เป็นอุดมคติอันสูง เพราะคุณค่าของการเสียสละนั้นคือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมที่ยืนอยู่บนฐานคิดของศาสนา โดยเฉพาะในศาสนาพุทธ เพราะการเสียสละนั้น คือการยอมละทิ้งความสุขส่วนตน”

เมื่อครูถูกยกย่องให้อยู่ในสถานะของ ‘ผู้ให้’ ครูจึงไม่สามารถเป็น ‘ผู้รับ’ ไปโดยปริยาย ซึ่งคำว่า ‘ผู้ให้’ นี้ กินความหมายไปถึงการให้ความรู้ ให้ความสำนึกผิดชอบชั่วดี ให้การศึกษา และให้อนาคต

“วิธีคิดนี้อนุญาตให้ครูพ้นจากข้อกล่าวหาในการบังคับและการละเมิดสิทธิของเด็ก เพราะครูรู้ว่า สิ่งที่ตนทำไปนั้น วันข้างหน้าเด็กจะเข้าใจ และรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น เขาย่อมต้องทำเพราะเขากำลังให้บางสิ่งบางอย่างกับเด็กอยู่เสมอ”

ดร.อดิศร อธิบายถึงภาพลักษณ์ของ ‘ผู้ให้’ ซึ่งไปกลบลบปัญหาเรื่องศักยภาพและความรู้ของครูบางส่วนที่ขาดความสามารถในการสอนอย่างมีคุณภาพ และทำให้ครูเหล่านั้นไม่ถูกประเมินอย่างเข้มข้นจริงจังและตรงจุด เพราะมีภาพของการเป็นผู้ให้กำกับอยู่

“เมื่อความเป็นมืออาชีพถูกลดความสำคัญลงเหลือเพียงบทบาทของผู้ให้ ดังนั้น ความเป็นมืออาชีพจึงไม่ถูกตั้งคำถาม เพราะครูมีความปรารถนาดีเป็นจุดเริ่มต้น ต่อให้คุณยังทำได้ไม่ดีพอก็ไม่เป็นไร เพราะคุณคือผู้ให้เสมอๆ นี่คือมายาคติชุดแรกที่กำกับวิธีคิดของสังคมมาเป็นเวลานาน”

(2)
เด็กยังไงก็ยังเป็นเด็ก 

เด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า 

เด็กคืออนาคตของชาติ

เด็กคือผ้าขาวบริสุทธิ์’

เรามักได้ยินประโยคเหล่านี้อยู่เสมอๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะในรั้วบ้าน รั้วโรงเรียน สื่อออนไลน์หรือสิ่งพิมพ์ เด็กมักถูกมองเพียงลักษณะของพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ยังไม่เติบโตสมบูรณ์ และถูกเหมารวมเอาว่า เด็กยังไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เท่ากับผู้ใหญ่ 

“กระทั่งวิธีคิดทางจิตวิทยาพัฒนาการที่มองว่า เด็กเป็นวัยที่พัฒนาการทางด้านจิตใจยังไม่โตเต็มที่ จะเห็นได้ว่า มันมีสิ่งที่กำกับวิธีคิดต่อเรื่องของความเป็นเด็กที่ว่า เด็กยังเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ เด็กมีความขาดอะไรบางอย่างอยู่ และเด็กต้องการการเติบโตหรือกล่อมเกลาจึงควรเข้าไปกระทำบางอย่างกับเขา”

หรือหากมองผ่านแว่นทางเศรษฐศาสตร์ อาจหมายความว่า เด็กยังไม่สามารถเป็นหน่วยการผลิตในทางเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน แต่เป็นหน่วยที่สร้างผลผลิตให้กับประเทศชาติในอนาคต ซึ่งไม่ได้มีคุณค่าในปัจจุบัน เป็นทรัพยากรที่ต้องลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ 

จากการเก็บข้อมูลของ ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล และ ดร.อัครา เมธาสุข ผ่านงานวิจัย ‘ภายใต้ระบอบแห่งภาพลักษณ์: มายาคติทางเพศที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของนักเรียนในพื้นที่การศึกษาไทย’ พบว่าครูและนักเรียนกล่าวตรงกันว่าวิชาสุขศึกษามักเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านร่างกายและกระโดดข้ามไปสรุปเรื่องการป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ แต่เนื้อหาในวิชาเหล่านี้กลับไม่ได้ลงรายละเอียดเท่าที่ควรจะเป็นในเรื่องเหตุผลของความเสี่ยงต่างๆ และสิทธิบนร่างกายของนักเรียน 

“ครูมักจะเน้นย้ำและลงท้ายกับเด็กว่า “อย่ามีเพศสัมพันธ์” โดยอาจละเลยประเด็นที่ว่าปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอาจไม่ได้มีต้นตอมาจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่มาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ ‘ไม่ปลอดภัย’ หรือ ‘ไม่ได้ป้องกัน’ นอกจากนี้ เนื้อหาเรื่องสรีรวิทยาของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิ และการปฏิบัติตัวต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่ปรากฏให้เห็นในแบบเรียนเลย”

ดร.นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล (ซ้าย) ดร.อัครา เมธาสุข (ขวา)

เพราะเด็กอย่างไรก็เป็นเด็ก และครูคือผู้ให้ เหล่านี้คือมายาคติที่อนุญาตให้ผู้ใหญ่สามารถสั่งสอน ชี้นำ ป้องปรามจากความเห็นผิดเป็นชอบ และความชั่วร้ายทั้งหลายที่กำลังจะเข้ามาสู่เด็ก ด้วยความเชื่อว่า เด็กยังไม่สามารถตัดสินใจได้เอง  

นั่นจึงไม่ต่างอะไรกับการมองว่า เด็กยังอยู่ในสถานะและบทบาทของผู้ที่อ่อนแอและเปราะบางในสังคมไทย 

“จริงหรือไม่ที่การมีอายุที่มากขึ้นจะเท่ากับการที่มีความคิดที่เท่าทันโลก เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้นตามอายุ”  

ประโยคนี้ของ ดร.อดิศร มีเครื่องหมายคำถามห้อยหลัง และสมควรอย่างยิ่งต่อการหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง หากเรายังมุ่งหวังให้เด็กคืออนาคตของชาติอย่างแท้จริง

(3)
โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง

มายาคติข้อนี้ ดร.อดิศร อธิบายว่า  โรงเรียนได้รับการยกย่องให้มีสถานะเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก แน่นอนว่า บ้านหลังนี้ประกอบด้วย ‘ครู’ ที่เปรียบดั่งพ่อแม่คนที่สองของลูกๆ

เมื่อโรงเรียนเปรียบเหมือนบ้าน และครูเปรียบดั่งพ่อแม่ มายาคติข้อนี้จึงอนุญาตให้ครูมีสิทธิที่จะลงโทษ ควบคุม ดูแลกำกับร่างกายและจิตใจของเด็กในนามของความรักและความปรารถนาดีโดยไม่ต้องขออนุญาตลงโทษ เฉกเช่นเดียวกับที่พ่อและแม่ไม่เคยต้องขออนุญาตลูก

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า Domestic Violence หรือ ความรุนแรงภายในที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียน ไม่ต่างกับความรุนแรงที่พ่อแม่ตีลูกในบ้าน เป็นความรุนแรงที่สังคมรู้สึกว่า ‘พอจะยอมรับได้’ เพราะว่าพ่อแม่ก็ย่อมอยากให้ลูกได้ดี 

“กฎระเบียบ และการลงโทษยังมีอยู่ได้ เพราะสังคมมีความเชื่อว่าเด็กดีต้องตั้งใจเรียน แต่งตัวตามระเบียบ ไม่เถียง ไม่ออกนอกลู่นอกทาง อ่อนน้อม รู้ที่ทางว่าตัวเองต้องอยู่ตรงไหน เมื่อมีความเชื่อแบบนี้ ก็เป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้วที่ครูจะต้องทำหน้าที่รักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และใช้ทุกหนทางรวมถึงการตีเพื่ออบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นแบบที่ว่า” 

อาจารย์กานน คุมพ์ประพันธ์ และ อาจารย์อุฬาชา เหล่าชัย อธิบายผ่านงานวิจัยมายาคติการศึกษาในหัวข้อ ‘การจัดการห้องเรียนและการลงโทษ’ พร้อมทั้งชวนตั้งคำถามต่อมายาคตินี้ว่า “การบ่มเพาะนิสัยตั้งใจเรียนแบบที่ เงียบ ไม่เถียง ไม่ถาม คล้อยตามตลอดเนี่ย มันไปจำกัดความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ทำให้เด็กพัฒนาหรือเปล่า

“โรงเรียนมีวิธีการปกครองที่ย่อรูปแบบมาจากระบบครอบครัว ซึ่งทำให้ถูกท้าทายได้ยากมากระหว่างว่า เรามองเด็กเหมือนลูกเหมือนหลาน แทนที่จะมองเขาว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” 

อดิศรย้ำอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ข้อสรุปเพื่อชี้ผิดถูก แต่เพื่อตั้งคำถามว่า ความคิดเบื้องหลังที่ค้ำยันระบบการศึกษาในปัจจุบัน มีเหลี่ยมมุมใดบ้างที่เราควรหันหน้ามาพูดคุยกันในโลกยุคนี้ 

(4)
การศึกษาต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก 

วิธีคิดของคนส่วนใหญ่ต่อเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะในทัศนะของครู อาจารย์ หรือคนทำงานด้านการศึกษา มักมองว่าการศึกษาคือการช่วยเด็กๆ วิ่งตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งโลกที่ว่านี้ ดร.อดิศรได้สังเคราะห์ภาพรวมผ่านงานวิจัยโดยแบ่งออกเป็น 2 โลกย่อมๆ ได้แก่ 

หนึ่ง – โลกที่เต็มไปด้วยความน่ากลัว ความชั่วร้าย เต็มไปด้วยเรื่องผิดศีลธรรม ซึ่งครูมีหน้าที่ดึงเอาเด็กกลับมาโดยการหยิบยื่นศีลธรรม กำกับวิธีการแสดงออก กำกับพฤติกรรมของเด็ก โดยครูมักจะรู้สึกว่า หน้าที่ของครูนั้นต้องปกป้องเด็กจากโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป 

สอง – โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี เต็มไปด้วยความก้าวหน้า ทันสมัย นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งครูมีหน้าที่พาเด็กให้ก้าวทัน ไม่เช่นนั้นก็อาจตกขบวนของโลกได้ ครูจึงต้องเร่งสอนทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะอื่นๆ มากมาย 

ดร.วาสนา ศรีปรัชญาอนันต์ และ ปัณฑิตา จันทร์อร่าม ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านงานวิจัย ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21: มายาคติในการศึกษาไทย’ ต่อการพาเด็กไล่ตามการพัฒนาของโลก ผ่านการนำทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มาใช้ในการเรียนการสอน กระทั่งการนำมาบรรจุในนโยบายการศึกษาของชาติ

“ปัจจุบันแนวคิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ถูกมองเป็นนโยบายใหม่ทางการศึกษา เมื่อเป็นนโยบายจากระดับบนลงล่าง จึงพบช่องโหว่ในการทำงานมากมาย ทำให้ครูอาจารย์นักเรียนขาดการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ซึ่งกันและกัน บอกเพียงว่าเด็กต้องรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 เพราะมันสำคัญ แต่ไม่ได้บอกว่าสำคัญอย่างไร เราจะมีวิธีสร้างอย่างไรให้ได้ผล เรามองว่าสิ่งเหล่านี้ยังส่งต่อไม่ถึงครูอย่างทั่วถึง” 

ดร.อดิศรชวนตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์นี้ว่า “ตกลงแล้วเราต้องวิ่งให้ทันโลกเสมอไปหรือเปล่า? แล้วโลกที่ว่า มันคือโลกแบบไหน? เราไม่เคยมานั่งคุยกันจริงๆ จังๆ เลยว่า โลกที่กำลังเปลี่ยนไปนั้นจริงเสมอไปในทุกบริบทหรือเปล่า ทำไมเราไม่กลับมาโฟกัสกับความต้องการและพัฒนาการของเด็กในบริบทจริง เราชินกับการใช้ภาษาแบบนี้จนกลายเป็นวาทกรรมสวยหรู แต่ลืมตั้งคำถามกับความหมายจริงแท้ของมัน”

ครูคือผู้ให้, เด็กยังไงก็เป็นเด็ก, โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง, การศึกษาต้องก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง มายาคติทั้ง 4 เรื่องนี้ล้วนเกี่ยวพันกับทั้ง ครู เด็ก โรงเรียน และการศึกษา และเป็นตัวล็อคมายาคติชุดอื่นๆ ไม่ว่าจะเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับ, ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21, การจัดการห้องเรียนและการลงโทษ, ความสำเร็จทางการศึกษาในแง่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย, มายาคติทางเพศที่มีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของนักเรียน 

“เราไม่ได้บอกว่ามายาคติแต่ละชุดเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี แต่เราตั้งคำถามว่า ถ้าเราไม่เท่าทันมันว่าเรากำลังใช้วิธีคิดเหล่านี้มาอธิบายโลก และพยายามจะทำอะไรบางอย่าง ก็เป็นไปได้ว่ามันจะส่งผลลัพธ์ในทางลบอย่างคาดไม่ถึงตามมา”

(5)
เมื่อมายาคติ กลายเป็น ความปกติ 

หากลองถอยหลังสักก้าวเพื่อกวาดสายตามองภาพรวมของการศึกษา เราอาจเห็นว่า สุดท้ายแล้วเรื่องราวที่ถูกไล่เลียงมา ต่างอยู่ภายใต้ระบบที่ ดร.อดิศรใช้คำว่า  ระบบอุปถัมป์ และ ระบบความสัมพันธ์แบบครอบครัว ซึ่งทั้งสองระบบนี้คือเงื่อนตายที่พันธนาการมายาคติทั้งหมดเอาไว้ให้ ‘มายาคติ’ กลายเป็น ‘ความปกติ’

กล่าวได้ว่า มายาคติเรื่องระบบอุปถัมป์ในสังคมไทย มองว่าในระบบความสัมพันธ์นั้น ผู้ใหญ่ต้องคอยดูแลและอุปถัมป์ ผู้น้อยจะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ โดยระบบอุปถัมป์นั้นมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีระบบความสัมพันธ์แบบครอบครัวคอยหล่อเลี้ยงควบคู่อยู่ด้วย  

“เราจะเรียกคนรอบตัวเราว่า พ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้าน้าอาเสมอๆ ครูเรียกนักเรียนว่าลูก นักเรียนเรียกครู รุ่นพี่ รุ่นน้อง ด้วยสรรพนามดั่งครอบครัว เหล่านี้คือความสัมพันธ์แบบครอบครัว 

ดร.อดิศร จันทรสุข

“ระบบอุปถัมป์และระบบความสัมพันธ์แบบครอบครัว นั้นหล่อเลี้ยงมายาคติทั้งมวล และเป็นการยากหากใครก็ตามคิดจะท้าทายต่อต้านมายาคติ ด้วยสิ่งนี้ได้หยั่งรากลงในระบบวัฒนธรรมของสังคมไทย และถูกยึดมั่นไว้ยาวนาน 

ดร.อดิศรได้นำเสนอข้อสรุป 6 ข้อ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของมายาคติทางการศึกษาไว้ดังนี้

หนึ่ง สังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติที่ระบอบความคิด คุณค่า ความเชื่อที่เป็นคู่ขัดแย้งกำลังปะทะกันอยู่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของนักเรียนและครู ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

สอง มายาคติที่เกิดขึ้น มักถูกนำเสนอในนามแห่งความรักและความปรารถนาดี ที่มีเป้าหมายในการสร้างประชากรและสังคมแห่งอุดมคติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากในการที่เราจะท้าทาย เพราะเท่ากับเราไม่รักและไม่ปรารถนาดีต่อตัวเด็ก

สาม มายาคติแต่ละเรื่องทำงานสอดประสานและขัดแย้งกันเอง (ทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกของบุคคล) จนก่อให้เกิดเป็นข่ายใยของระบบคุณค่า วิธีคิด และความเชื่อในสังคมที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง 

สี่ อำนาจของมายาคติมีลักษณะที่เป็นพลวัตอันซับซ้อน ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ สามารถถูกท้าทายและต่อรองได้ตลอดเวลา 

ห้า การท้าทายและต่อรองอำนาจของทั้งนักเรียนและครู เป็นการต่อรองเพื่อประกอบสร้างอัตลักษณ์หรือตัวตน ทั้งการหยิบยื่นอัตลักษณ์ให้กับผู้อื่น เพราะฉะนั้นเราจะได้ยินอยู่ตลอดเวลาว่า เขาเป็นคนแบบนี้ ฉันเป็นคนแบบนี้ ภายในระบบของความคิดความเชื่อ มายาคติ วาทกรรมและเรื่องเล่าต่างๆ ในสังคม 

หก การรู้เท่าทันและท้าทายมายาคติ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสามารถมีทางเลือกให้กับชีวิตภายใต้ข้อจำกัดของระบบโครงสร้างทางสังคมที่เป็นผลมาจากมายาคติกระแสหลัก (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้าง เงินเดือน การเข้ารับราชการ และระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างๆ)

“ถึงแม้ว่าเราจะรู้เท่าทันมายาคติที่กำลังทำงานอยู่ในสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะก้าวข้ามพ้นได้ง่าย เพราะระบบโครงสร้างสังคมดันล็อคเอาไว้อย่างแน่นหนา” 

ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาการศึกษาไทยอาจไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น เพราะด้วยขนาดของระบบและความซับซ้อนของปัญหา การศึกษาอาจต้องถูกมองกว้างทั้งระบบนิเวศ และถูกตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงสิ่งที่เรายกย่องสมาทานว่าดีงาม 

สมควรแก่เวลาแล้ว ที่เราต้องหันหน้ามาพูดคุย รับฟังกันถึงคุณค่าที่คนแต่ละช่วงวัยยึดถือ ต่อวิธีคิดเบื้องหลังการกระทำ ไตร่ตรองการกำหนดนโนบาย ว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหานั้นเกิดจากอะไร ซึ่งการรับฟังและพูดคุยกันคงมิอาจลุล่วงไปสู่ความเข้าใจได้ หากเราต่างฝ่ายยังไม่ห้อยแขวนชุดความเชื่อความคิดเอาไว้ชั่วครู่ และเปิดใจไปสู่เรื่องราวของเพื่อนมนุษย์อีกฟากฝั่งความคิดอย่างแท้จริง

 ,