เปลี่ยนห้องเรียนไปเรียนเรื่อง social distancing
เปลี่ยนห้องเรียนไปเรียนเรื่อง work from home
เปลี่ยนห้องเรียนที่ต้องลงพื้นที่จริง สู่การเดินทางสำรวจข้อมูลจากโลกโซเชียล
นี่คือตัวอย่างโจทย์บางส่วนที่ อาจารย์แท็ป-ชลิดา จูงพันธ์ และทีมอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนให้กับนักศึกษาในรายวิชาเชิงคิดทางวิทยาศาสตร์
หลังสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ยกระดับความรุนแรงขึ้น จนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศงดจัดการเรียนการสอน เหล่าคณะครูและอาจารย์ทั้งหลายจึงต้องเปลี่ยนตัวเองมา teach from home ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

สำหรับอาจารย์แท็ป ‘การสอนออนไลน์คือเรื่องยากและน่ากลัว’
ด้วยเนื้อหาวิชาที่เรียกร้องการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เรียน
โจทย์ใหญ่ที่เหล่าอาจารย์กำลังเผชิญคือ หนึ่ง จะทำอย่างไรให้ห้องเรียนออนไลน์ใกล้เคียงกับห้องเรียนแบบเดิมให้มากที่สุด และสอง จะทำให้ชั่วโมงเรียนนั้นมีความหมายต่อผู้เรียนอย่างไร เมื่อแต่ละวิชาต้องอาศัยการทำ workshop การออกท่าทางเพื่อจัดกระบวนการ และเน้นการทำกิจกรรมในห้องเรียน
โรคระบาดเขย่าห้องเรียน
อาจารย์แท็ปเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงผลกระทบจากเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ว่ามันสะเทือนไปถึงห้องเรียน ในฐานะอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยมีสิ่งที่ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงถึงสองเรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง-บทบาทการสอนหนังสือที่ต้องเปลี่ยนไปสอนออนไลน์อย่างเต็มสูบ สอง-วิธีการทำงานของอาจารย์
ก่อน COVID-19 จะไล่ล่ารุนแรงขนาดนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เฝ้าติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด บางวิชาถูกเปิดให้สอนออนไลน์ไปก่อนหน้านั้น แต่ในวิชาที่อาจารย์แท็ปรับผิดชอบนั้น ยังคงสอนในห้องเรียนแบบปกติจนถึงช่วงสุดท้าย ด้วยเหตุผลที่ว่าวิชาในเชิงคิดทางวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านการ discussion หรือการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักศึกษา
ทว่า เมื่อสถานการณ์แย่ลงเรื่อยๆ สถาบันการศึกษาทั่วประเทศถูกงดให้จัดการเรียนการสอน อาจารย์แท็ปจึงต้องเปลี่ยนไปสอนออนไลน์โดยไม่มีข้อแม้
“พอมีโจทย์ว่าต้องสอนออนไลน์ เราและอาจารย์อีกสามคนในทีมก็คุยกันเพื่อหาแพลตฟอร์มหรือโปรแกรมที่จะใช้สอนนักศึกษา เราจึงเริ่มจากการใช้ระบบห้องเรียนออนไลน์ที่ทางคณะใช้อยู่ก่อนแล้ว จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับไปใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น โปรแกรม Zoom, Microsoft Teams เพื่อค้นหาว่าแพลตฟอร์มไหนเหมาะกับกระบวนวิชาใดมากที่สุด”
วิชาเชิงวิทยาศาสตร์ที่อาจารย์แท็ปรับผิดชอบแบ่งออกเป็น 3 วิชาหลัก แต่ละวิชามีกระบวนการสอนที่ต่างกัน และนี่กลายเป็นโจทย์อันท้าทายว่า กระบวนการสอนออนไลน์แบบไหน ‘ใช่’ กับแต่ละวิชามากที่สุด
ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน
3 วิชาหลักที่อาจารย์แท็ปจะต้องสอนนักศึกษา เริ่มต้นด้วย
- วิชาการแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Problem Solving in Science and Math)
จุดประสงค์ของวิชานี้จะเชิญชวนให้นักศึกษามาเรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างไร เป็นวิชาที่เน้นการ discussion เพื่อระดมไอเดียกันแก้ปัญหาในชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เมื่อต้องปรับไปเรียนออนไลน์ เธอจึงเลือกใช้ช่องทาง Seesaw ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ทำหน้าที่คล้ายกับแฟ้มรายงาน เพราะสามารถเก็บภาพ วิดีโอ เอกสารต่างๆ และเป็นแพลตฟอร์มที่ทางอาจารย์ในคณะใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนเป็นประจำอยู่แล้วก่อนจะเกิดวิกฤติโรคระบาด
อาจารย์แท็ปยกตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ในวิชานี้ผ่านโจทย์ ‘จำลองสถานการณ์การแพร่กระจายของโรค’ โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน โดยแจกแจงเวลาในการสอนออนไลน์ในคาบดังนี้
9.30 น. เช็คอินสุขภาพกายสุขภาพจิต ถ่ายรูปตัวเอง
10.00 น. ปล่อยโจทย์ จำลองสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคผ่านคลิปวิดีโอ และให้เวลาทำงานยาว 2 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นถ้ามีข้อสงสัยให้ถามผ่านแชทในกลุ่มไลน์ได้
12.00 น. ปล่อยคลิปเฉลย แล้วให้นักศึกษาเขียนสะท้อนกลับมาว่าคิดเห็นอย่างไร คิดตรงกับอาจารย์ไหม ได้ใช้ทักษะวิทย์-คณิตอะไรบ้าง และวันนี้รู้สึกติดขัดตรงไหน
12.30 น. ปิดห้องเรียน ร่ำลานักศึกษา สอบถามความเห็นเพิ่มเติม ส่งสติกเกอร์ลากันทางไลน์
หรือบางคาบก็ปล่อยโจทย์ที่ยากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ระยะเวลาทำที่มากขึ้น เช่น ให้โจทย์เด็กๆ ทำละครวิทยุในประเด็น social distancing และผลกระทบต่ออาชีพต่างๆ
- วิชาวิทยศึกษาสัญจร (scientific fieldwork)
ตามปกติแล้ววิชานี้เป็นวิชาที่เด็กๆ ต้องออกเดินทางไปเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เมื่อปรับไปเรียนออนไลน์จึงจำเป็นต้องงดการลงพื้นที่และเรียนผ่านช่องทาง Zoom เพราะโปรแกรมนี้ไม่ยุ่งยากและมีฟังก์ชั่นครบถ้วน ตอบโจทย์ ใช้ง่าย เข้ามือผู้สอนและผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว
“วิชานี้เป็นวิชาที่ยากที่สุดในการจัดการเรียนรู้ของเราและทีมครู ซึ่งหนักกว่านั้นคือจังหวะที่เกิดโรคระบาดตรงกับพาร์ทสุดท้ายซึ่งนักศึกษาจะต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลพอดี”
อาจารย์แท็ปได้ยกตัวอย่างการเรียนในวิชาวิทยศึกษาสัญจรซึ่งเป็นวิชาภาคสนามผ่านออนไลน์ให้ฟังว่า โดยปกติจะพาเด็กๆ ไปลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อทำกิจกรรม เช่น เก็บข้อมูลผ่านการพูดคุย สัมภาษณ์ แต่พอมี COVID-19 ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน
“แรกๆ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จนสุดท้ายได้ไอเดียจากเพื่อนอาจารย์ และชีวิตตัวเอง เรานึกถึงตอนที่เราป่วยและเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเก็บข้อมูลทำวิจัย เราใช้วิธีการเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการหาข้อมูล หรืออยากได้เชิงลึกก็ใช้วิธีติดต่อสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เราจึงเปลี่ยนรูปแบบของการลงพื้นที่ตามชุมชนหรือหมู่บ้านให้พวกเขาไปเก็บข้อมูลในโลกเสมือนที่กว้างใหญ่อย่างโลกโซเชียลแทน นี่คือสิ่งที่เราปรับตัว”
ผลลัพธ์ของการปรับการเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ถือเป็นที่น่าพอใจสำหรับอาจารย์แท็ป
“วิธีนี้เราเน้นให้เขาเลือกประเด็นอะไรก็ได้ที่เขาสนใจ ให้เลือกกลุ่มคนที่เขาอยากศึกษา อยากสัมภาษณ์ จากนั้นให้เขาลงไปเก็บข้อมูลเพื่อดูว่าคนกลุ่มนี้เขายังต้องการข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์อะไรอีกบ้าง
“นักศึกษากลุ่มหนึ่งสนใจทำเรื่องภาวะการบริจาคโลหิตขาดแคลนในสภากาชาดไทย เราจึงแนะนำให้เขาเข้าไปหาข้อมูลในเพจเกี่ยวกับการบริจาคเลือด เพื่อสัมภาษณ์ด้วยการตั้งคำถามว่าเหตุผลใดทำให้เขาเลิกบริจาคเลือด ซึ่งเราเข้าใจว่าที่เขาไม่บริจาคเพราะคนกลัวและไม่มั่นใจในความปลอดภัยและขั้นตอนที่ไม่สะอาด แต่เมื่อไปสอบถามจริงๆ คำตอบกลับพบว่าที่คนไม่บริจาคเลือด เพราะพวกเขารู้สึกว่าในช่วงเวลาโรคระบาดนี้ร่างกายจำเป็นต้องแข็งแรง จึงกลัวว่าถ้าบริจาคเลือดอาจจะทำให้ภูมิต้านทานลดลงและป่วยง่าย ซึ่งคำตอบเหล่านี้ก็ทำให้นักศึกษาและเราได้เจอกับข้อมูลที่น่าสนใจและไม่เคยรู้มาก่อน”
- วิชาการเรียนรู้บนฐานของปัญหาและการวิจัย (Problem-based and Research-based Learning)
วิชานี้เป็นวิชาที่ให้นักศึกษาในคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ได้รู้จักและทดลองจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL หรือ RBL ซึ่งตามหลักสูตรวิชานี้จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในโรงเรียนหรือสถานศึกษาจริง
ก่อนเหตุการณ์ COVID-19 จะรุนแรง นักศึกษาได้ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการทดสอบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เมื่อปรับเป็นออนไลน์จึงจำเป็นต้องให้นักศึกษาสอบจัดกระบวนการผ่านโปรแกรม Zoom โดยคะแนนส่วนหนึ่งจะถูกประเมินโดยผู้ที่เข้าร่วมเรียนในห้องที่นักศึกษาจัดและคนนอกที่นักศึกษาเชิญมา
“แต่การที่จะให้นักศึกษาสอบจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL หรือ RBL ในเวอร์ชั่นออนไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักศึกษาอาจไม่เชื่อว่าพวกเขาจะทำได้ เราจึงจำเป็นต้องทำเป็น Demo ทดลองจัดการสอนให้พวกเขาดูก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจและปล่อยพื้นที่ให้เขาดีไซน์กระบวนการของตัวเองออกมา”

เรียนจากวิกฤติ เมื่อ COVID-19 มาเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน
แน่นอนว่าความรู้ในแต่ละวิชาที่อาจารย์แท็ปสอนอยู่ เน้นไปทางฝั่งวิทย์-คณิตและการแก้ปัญหาท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดนี้ เหมือนเป็นตำราที่เป็นรูปธรรมให้อาจารย์ได้หยิบฉวยมาสอนนักศึกษา
“เรียกได้ว่านักศึกษาได้เรียนเรื่อง COVID-19 นานร่วมเดือนเลยค่ะ (หัวเราะ)”
เธออธิบายต่อว่า ในภาวะที่ทุกคนในประเทศต้องการข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก นี่คือโอกาสทองที่จะสอดแทรกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้นักศึกษา เพราะกำลังตรงกับความสนใจของพวกเขา ทีมอาจารย์จึงใช้ COVID-19 เป็นตัวช่วยในการสร้างการเรียนรู้มาตลอด แต่ด้วยความที่รายละเอียดเยอะมากๆ จึงเลือกหยิบเอาสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาขึ้นมาเป็นบทเรียนแทน
ยกตัวอย่าง ในวิชาแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Problem Solving in Science and Math)
“เราตั้งต้นว่าในสัปดาห์นั้นมันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น คนพูดถึงเรื่องการกักตัว การกักตุนอาหาร เราก็หยิบประเด็นนี้มาสอน ถ้าเราจะต้องอยู่คนเดียว 14 วัน เราจะวางแผนการซื้ออาหารอย่างไร กินแบบไหนถึงจะได้คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงประเด็นการแพร่เชื้อที่คนในสังคมถกเถียงว่าใส่หน้ากาก-ไม่ใส่หน้ากาก แบบไหนช่วยป้องกันมากกว่ากัน นี่คือโจทย์ที่เราให้พวกเขาไป”
แต่พอเรียนไปสักพัก เด็กๆ ก็สะท้อนว่าเริ่มเบื่อ อาจารย์แท็ปจึงขยับไปพูดถึงประเด็น work from home
“เราลองชวนเขาคุยว่าหากเราต้องอยู่กับภาวะนี้ไปเรื่อยๆ เราจะทำอย่างไรดี เราจะมีทางออกอย่างไรได้บ้าง เด็กๆ ก็ช่วยกันแชร์ไอเดียถึงการจัดห้อง จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการทำงานและการเรียนออนไลน์ จากนั้นเราก็แทรกคอนเทนต์ทางวิทยาศาสตร์เข้าไป เช่น อาการออฟฟิศซินโดรม การจัดแสงในห้อง เด็กๆ ก็รู้สึกอินกับการจัดห้องในคาบนั้น”

สร้างกระบวนกรผ่านระบบออนไลน์
อาจารย์แท็ปยอมรับว่าการสอน ‘เรื่องการเรียนรู้หรือการจัดกระบวนการเรียนรู้’ ทำได้ยากในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะโดยพื้นฐานการถ่ายทอดเนื้อหาประเภทนี้มักใช้การทำกิจกรรมร่วมกัน
“ในช่วงแรกที่ย้ายมาเรียนออนไลน์ เราคิดว่าเด็กๆ น่าจะมีความเครียด เขาอาจจะไม่มั่นใจว่าเขาจะจัดการสอนผ่านออนไลน์ได้ แต่เท่าที่ผ่านมาเราพบว่าเด็กๆ ทำได้ และทำได้ดี บางกลุ่มจัดกระบวนการสอนได้อย่างน่าสนใจ เขามีทริคเล็กๆ น้อยๆ ที่เราคาดไม่ถึง เช่น ใช้เพลงเปิดรอขณะที่ยังไม่ถึงเวลาสอนหรือการใช้น้ำเสียงเพิ่มลูกเล่นความหนักเบา”
และแน่นอนไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้นที่เครียด เหล่าอาจารย์ก็เครียดและกังวลในการปรับตัวไม่ต่างกัน
“ก่อนหน้าจะจัดกระบวนการสอน ทีมอาจารย์ต้องซ้อมสอนผ่านห้องเรียน Zoom หลายครั้ง เพื่อให้เกิดความลื่นไหล เราต้องเตรียมตัวหนักเพื่อทดลองใช้แฟลตฟอร์มต่างๆ เพื่อหาว่าแต่ละวิชานี้ควรใช้โปรแกรมอะไร เราทำสคริปต์ในการสอนร่วมกับเพื่อนอาจารย์ในทีม เพื่อแบ่งจังหวะในการพูดกัน เพราะเดิมที่เราสอนในห้องเรียน เราอาจจะใช้วิธีมองตากันเพื่อแบ่งจังหวะในการสอน แต่พอเรียนออนไลน์เราทำแบบนั้นไม่ได้”
เป็นความโชคดีที่อาจารย์แท็ปและทีมอาจารย์เริ่มบริหารจัดการความเครียดและความกังวลเหล่านั้นได้แล้วเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความคุ้นชินในการใช้ช่องทางการทำงานร่วมกัน
“เราสอนแบบ team teaching เราทำงานกันเป็นทีมเสมอ เราใช้วิธีการประชุมออนไลน์ ทำงานออนไลน์ พิมพ์งานออนไลน์กันเป็นปกติอยู่แล้ว ในเรื่องของการทำงานกับเพื่อนไม่ค่อยยาก แต่จะยากในการตัดสินใจและการออกแบบวิธีสอนให้เด็กๆ”
นอกจากนั้นประสบการณ์การเป็นอาจารย์ที่สอนออนไลน์ ช่วยเติมเต็มความรู้สึกอะไรบางอย่างให้อาจารย์แท็ปได้อีกด้วย
“การทำงานออนไลน์มันทลายความเชื่อบางอย่างของเราด้วยซ้ำไป แต่ก่อนเราเป็นคนไม่ชอบการประชุมออนไลน์ เราชอบการประชุมที่ทุกคนมาเจอหน้ากัน เราต้องเห็นหน้ากัน แพลตฟอร์มออนไลน์มีไว้สำหรับเหตุการณ์จำเป็นเท่านั้น แต่การเรียนการสอนเท่าที่ผ่านมาช่วยบอกให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วมันทำได้และไม่ต่างกันนัก เราและเพื่อนครูก็ทำงานได้เหมือนเดิม เราเข้าประชุมกันตรงเวลา เข้าสอนตามเวลาเหมือนเดิม”
สอนในห้องอย่างไร สอนออนไลน์อย่างนั้น
โจทย์ที่ท้าทายในการสอนออนไลน์ คือ ผู้สอนจะมีวิธีในการสร้าง engagement ให้กับผู้เรียนอย่างไร
สำหรับอาจารย์แท็ป ใช้วิธีการระลึกอยู่เสมอและอย่าลืมว่าตอนนี้กำลังสอนหนังสืออยู่
“ดังนั้น 3 ชั่วโมง เราต้องมีสมาธิอยู่กับผู้เรียนจริงจังตลอดเวลา เราต้องสนใจผู้เรียนตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนเริ่มเรียน ถามไถ่ความรู้สึกผู้เรียน เช่นเดียวกันหากเราแบ่งห้องย่อยเมื่อสอนออนไลน์ ในฐานะอาจารย์จะต้องหมั่นเข้าไปถามไถ่ผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าเหมือนมีอาจารย์เดินอยู่ในห้องเรียนตลอดเวลา พยายามคุยกับเขาเรื่อยๆ อาจารย์ต้องเปิดกล้องอยู่ตลอดเวลา ผู้เรียนจะได้เห็นหน้าเราและรู้สึกว่าอาจารย์อยู่กับเขา”
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เธอค้นพบเมื่อย้ายไปเรียนออนไลน์ นั่นคือ การเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ติดต่ออาจารย์ผู้สอนได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม เพราะผู้เรียนเดินมาหาเราที่ห้องพักอาจารย์ไม่ได้เหมือนก่อน อาจารย์จึงต้องเอาใจใส่ในจุดนี้ให้มากขึ้น อาจจะสร้างกรุ๊ปไลน์แยกไว้เพื่อแชทสอบถามทุกปัญหา เผื่อผู้เรียนที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่สูงมาก หรือไม่เข้าใจเนื้อหาก็สามารถสอบถามได้ เราจะไม่ทิ้งนักศึกษาให้เขารู้สึกตามไม่ทัน
“ข้อดีอีกอย่างของการถามความรู้สึกของผู้เรียนอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ทำให้เขารู้ว่ายังมีคนหนึ่งที่สนใจเขาไม่ว่าเขาจะคิด พูด หรือรู้สึกอย่างไร สิ่งสำคัญจากการถามจะทำให้อาจารย์ผู้สอนได้ประโยชน์คือหากเด็กรู้สึกเบื่อเราจะได้ปรับหรือเพิ่มพลังในการสอนของตัวเองให้สนุกขึ้น”
เรียนออนไลน์ก็ประเมินการเรียนรู้ได้
เพื่อเป็นข้อยืนยันว่าการเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพ การประเมินการเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ สำหรับอาจารย์แท็ปการประเมินขึ้นอยู่กับธงที่ตั้งและมีหลายตัวชี้วัด ในฐานะผู้สอนประเมินได้ตั้งแต่ความรู้สึกในการเรียน ชิ้นงาน หรือผลลัพธ์ทางวิชาการ
ตัวอย่างในวิชาแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Problem Solving in Science and Math) เธอได้ใช้วิธีการประเมินผ่านการสะท้อนของผู้เรียน
“ตามปกติในแต่ละคาบเราจะมีกติการ่วมกัน เช่น เมื่อถึงเวลาเรียน 9 โมงเช้า ในช่วง 10-15 นาทีแรกของคาบ ให้นักเรียนถ่ายรูปเซลฟี่ตัวเองพร้อมเช็คสุขภาพกายสุขใจของตัวเองก่อนเข้าเรียนทุกครั้ง เพื่อประเมินความรู้สึกก่อนและหลังเรียน ซึ่งประโยชน์ของการเช็คอินเช่นนี้จะทำให้ครูผู้สอนทราบว่าลูกศิษย์ของตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่”
หลังจากเสร็จกิจกรรมเช็คอิน อาจารย์แท็ปเล่าว่าต่อไปจะเป็นช่วงปล่อยโจทย์ทำให้นักเรียนไปหาคำตอบด้วยตัวเองประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ในระหว่างนั้นจะมีการคุยกันตลอดว่ามีใครมีปัญหาหรือไม่เข้าใจตรงไหน หลังจากนั้นจะเป็นช่วง reflect หรือสะท้อนว่าเขาได้ความรู้ใหม่หรือต่อยอดความรู้เดิมอย่างไรบ้าง
ในวิกฤติ COVID-19 เราเจอโอกาสในการเรียนรู้
นอกจากทลายความเชื่อในการทำงานร่วมกับผู้อื่นของอาจารย์แท็ปแล้ว การเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาสอนออนไลน์ยังเปลี่ยนแปลงความคิดด้านการเรียนรู้บางอย่างที่เคยเชื่ออีกด้วย
“เราเคยเป็นคนที่สอนภาคสนามมาก่อน เราจึงคิดว่าการเรียนรู้มันต้องไปเจอของจริง คนจริง ไปเจอประสบการณ์จริงเท่านั้น เราชินกับเจอหน้าเจอตากัน และด้วยความที่เราไม่ถนัดเทคโนโลยีเลย เราจึงเลี่ยงการสอนหรือการทำคอนเทนต์ออนไลน์มาโดยตลอด เราไม่เรียนรู้เอง แต่วิกฤตินี้มันไม่มีทางเลือก จึงเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของเราเหมือนกัน เราพบว่าเราก็ทำได้เหมือนกันนะ”

ในขณะเดียวกัน วิกฤตินี้ก็เปิดทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับนักศึกษาในฐานะผู้เรียนอีกด้วย
“เด็กปี 4 ที่กำลังจะเรียนจบที่เราสอนอยู่ตอนนี้ เป็นเด็กรุ่นแรกของคณะ เรามองเขาเป็นเพื่อนร่วมงานมาตลอด เพราะพวกเขาเติบโตมาพร้อมกับเรา เราเชื่อว่านี่คือโอกาสที่เราจะได้สร้างวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน
“ยิ่งเวลาเราเห็นว่าเขาทำได้ ทำได้ดี มันยิ่งทำให้เรามั่นใจในตัวพวกเขาว่าเขามีศักยภาพในการเป็นผู้สร้างการเรียนรู้แล้ว จริงๆ นี่คือโอกาสของเขาที่จะได้เห็นช่องทางการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง”
การเรียนรู้ต้องสร้างความหมายต่อผู้เรียน ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มใดก็ตาม
“ส่วนตัวเรายังคงเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบไหนก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ เราต้องทำให้การเรียนรู้นั้นมันมีความหมายให้ได้ เราต้องก้าวผ่านแพลตฟอร์มทุกอย่าง”
หากถามว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์ การเรียนรู้นั้นสร้างความหมายต่อผู้เรียนได้ไหม อาจารย์แท็ปตอบทันทีว่า “มันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้”
ตัวอย่างในวิชาแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Problem Solving in Science and Math) ที่ถูกวางแผนมาแล้วทุกอย่าง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ทีมอาจารย์จึงต้องปรับโจทย์ให้เข้ากับช่วงเวลานั้น เพื่อสร้างความหมายในสิ่งที่เรียนให้นักศึกษา เช่น ในเวลานี้จำเป็นต้องพูดเรื่องการระบาดของโรค เราก็ต้องพูด แม้จะตรงข้ามกับสิ่งที่เตรียมจะสอนตอนแรก
นี่คือทักษะที่อาจารย์หรือผู้ให้ความรู้ทุกคนควรจะมี
“ไม่ใช่แค่สอนออนไลน์หรือไม่ออนไลน์ ไม่ว่าจะสอนที่ใด อันดับแรกที่ต้องนึกถึงนั่นก็คือการสร้างการเรียนให้มีความหมาย ถ้าอาจารย์สามารถสร้างเนื้อหาหรือปรับบริบทเนื้อหาให้เกาะติดกับสถานการณ์ต่างๆ ของโลกได้ การเรียนรู้ก็จะมีความหมายกับตัวเขามากขึ้น การเรียนรู้จะเกาะติดไปกับตัวผู้เรียนไปด้วย”
นอกจากนี้อาจารย์ควรจะรู้จักนักเรียนของตัวเอง รู้จักผู้เรียนว่าเขาเป็นใคร เขาเป็นคนอย่างไร เขาต้องการอะไร เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้เหมาะสมเพื่อให้เขาได้พูด แสดงความคิดเห็น
ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ทั่วทั้งโลกยิ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวหากเราต้องอยู่ในภาวะนี้ไปจนถึงสิ้นปี อาจารย์แท็ปมองว่าระบบการเรียนออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
“มหาวิทยาลัยทั่วประเทศจะปรับเข้าสู่การเรียนออนไลน์มากขึ้น และเมื่อการเรียนออนไลน์ถูกยอมรับและใช้งานมากขึ้น มันก็จะทำให้เราเห็นข้อจำกัดต่างๆ ของระบบออนไลน์ แต่ในที่สุดข้อจำกัดเหล่านั้นก็จะถูกทลายลงเพราะการแข่งขันทางเทคโนโลยีการศึกษาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน”
เธอยังบอกอีกว่าไม่ว่าสถาบันการศึกษาใดก็ตาม โรงเรียน มหาวิทยาลัย อาจจะเกิดการแข่งขันในการใช้เทคโนโลยีด้านการศึกษากันเอง ซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้สร้างคอนเทนต์หรือผู้สร้างการเรียนรู้ได้ การเรียนรู้ก็จะทำได้หลายทางขึ้น รวมถึงเรียนรู้ข้ามสถาบันได้ง่าย
“แต่ในทางกลับกันเมื่อการแข่งขันสูงขึ้น เราก็จะยิ่งมองเห็นคนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงทรัพยากรซึ่งอาจนำไปสู่การแก้ไขในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ท้องถิ่นมีการจัดการโดยสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเองอย่างอิสระ นี่คือสิ่งที่สถานการณ์วิกฤติโรคระบาดช่วยสะท้อนให้เราเห็น”

เช่นเดียวกันหากมองในมุมเด็กในฐานะผู้เรียนรู้ ถ้าต้องอยู่ในบรรยากาศวิกฤติเช่นนี้อีก ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเด็กอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้อาจเรียกร้องบทบาทของพ่อแม่มากขึ้น พ่อแม่เข้ามาช่วยเติมเต็ม เข้ามาเรียนรู้พร้อมลูก และสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกของตัวเอง ซึ่งในอนาคตเราอาจจะเห็นภาพโรงเรียนและครอบครัวทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อส่งเสริมเรื่องพัฒนาการของลูกก็เป็นได้
“นี่อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกเราชอบเรียนอะไร สไตล์การเรียนรู้เป็นอย่างไร ลูกมีทักษะอย่างไรบ้าง ทำให้พ่อแม่สังเกตพวกเขาเห็นมากขึ้นหลังจากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนเพียงผู้เดียว และถึงแม้จะไม่เต็มสูบ เนื่องจากภาระของพ่อแม่แต่ละคนไม่เท่ากัน”
แต่ท้ายที่สุดอาจารย์แท็ปเชื่อว่าหากเกิดการสร้างช่องทางเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นเครือข่ายระหว่างโรงเรียนและครอบครัวที่ทำงานร่วมกัน มันก็จะยิ่งเสริมให้การเรียนรู้ของเด็กไทยครบวงจรมากยิ่งขึ้น