แม้จะขลุกอยู่กับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่วัยรุ่น แต่ระยะเวลากว่า 10 ปีไม่ได้ทำให้ “สมิต – อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์” เข้าใจได้เลยว่าทำไมเด็กแต่ละคนจึงแตกต่าง ทั้งมุมมองต่อโลก และพฤติกรรมที่แสดงออกมา ซึ่งบางครั้งไม่ใช่สิ่งที่สังคมปรารถนาอยากให้เป็น
การพาเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยงมักเริ่มต้นด้วยการให้ทำกิจกรรมสิ ทำงานสร้างสรรค์สิ ค้นหาตัวเองสิ แน่ละว่ามันอาจจะได้ผล แต่ที่สุดเขาก็ไม่พบคำตอบอยู่ดีว่า ผลของมันเกิดจากตัวแปรใด กระทั่งเขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง และค้นพบห้องเรียนที่น่าเหลือเชื่อในบ้านกาญจนาฯ ที่นั่นคือบ้านของเด็กๆ ซึ่งเคยมีบาดแผลมาก่อน ทั้งทางกายและทางใจ ทำให้พวกเขาพลาดในบางจังหวะ กระทั่งนำพาชีวิตให้จมอยู่กับด้านมืด
แต่วันหนึ่งพวกเขาก้าวออกมา ยืนอยู่บนที่สว่างได้ ยิ้มกับอดีตของบาดแผล และอภัยให้กับตัวเอง ข้อค้นพบเหล่านั้นมีตัวแปรจากตัวละครสำคัญคือ “ป้ามล – ทิชา ณ นคร” ผู้เป็นป้า แม่ และเพื่อนของเด็กๆ บ้านกาญจนา
อ่านบทสนทนากับ อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักจิตวิทยาเชิงบวก และผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand เพื่อค้นหาแสงจากความมืด และร่วมเรียนรู้จิตวิทยาเชิงบวกจากบ้านกาญจนาฯ

จิตวิทยาเชิงบวก ต่างจากจิตวิทยาทั่วไปอย่างไร
เราต้องกลับมาพูดถึงคำว่าจิตวิทยาก่อน คำว่าจิตวิทยาคือการเข้าใจจิตใจของมนุษย์ ซึ่งในรูปแบบที่เราเรียนรู้กันในกระแสหลัก มักใช้จิตวิทยาในความหมายที่ไปเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์เชิงลบของมนุษย์ ไปเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการที่ไม่ปกติในความหมายของคนทั่วไป เช่น จิตวิทยาที่ใช้ในการแก้ปัญหาความเครียด อารมณ์ที่ไม่มั่นคง หรือภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ ถ้าในภาษาทางจิตวิทยาคือ Focus on what’s wrong จากนั้นจุดที่จะทำงานต่อของจิตวิทยากระแสหลัก คือการทำให้ภาวะที่ไม่ปกติกลับมาเป็นภาวะปกติ แต่คำว่าปกติของจิตวิทยากระแสปัจจุบันคือภาวะที่เราสามารถพูดคุยกันได้ สามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ได้ แต่ไม่ได้หมายรวมถึงว่า เราจะสามารถพัฒนาตัวเองให้ถึงจุดที่ดีที่สุดที่เป็นเราได้อย่างไร
แต่จิตวิทยาเชิงบวกจะมองว่า อะไรที่มันเวิร์คในตัวเรา หรือ what’s work แล้วดึงตรงนั้นขึ้นมาทำให้แตกดอกออกผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้โดยการที่เราจะไปแก้ปัญหา แต่ทำได้ผ่านวิธีการที่เราจะชวนให้คนๆ หนึ่งกลับมาอยู่กับตัวเอง กลับมาเรียนรู้การอยู่กับคนอื่นในรูปแบบที่เป็นเขา และในแบบที่ดีที่สุดได้อย่างไร เปรียบเสมือนเป็นเม็ดเลือดขาวทางจิตใจของคน
การมองในมุมที่ต่างกันจะส่งผลอย่างไรกับคนๆ หนึ่ง
ถ้าเราใช้จิตวิทยากระแสหลักพาให้คนจากผิดปกติมาสู่ภาวะปกติ สมมุติจาก -10 มาถึง 0 ศูนย์มันใกล้เคียงกับ -1 พอเขาไปเจอเหตุการณ์อะไรที่เป็นตัวเหนี่ยวนำบาดแผลในอดีต แล้วเขายังไม่เกิดการตีความใหม่ เข้าใจใหม่ หรือเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้น เขาก็สามารถกลับไปสู่ลูปเดิมได้ และเกิดการวนลูปอย่างอย่างนั้น
แต่เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถพาคนๆ หนึ่งจาก -10 ให้ไปสู่ +5 เขาลบไปหนึ่งก็ยัง +4 แน่นอนว่าเขาจะรู้วิธีการบวกของตัวเอง จิตวิทยาเชิงบวกคือการทำให้คนรู้วิธีการพาตัวเองไปอยู่ในภาวะที่บวกให้ได้
แนวคิดของจิตวิทยาเชิงบวกถูกนำไปพิสูจน์ที่ใดแล้วบ้าง
ถ้าในประเทศไทยในเราไม่สามารถบอกได้ว่ามีที่ไหนที่เขาทำเป็น Proven Program (โปรแกรมที่พิสูจน์แล้ว) ขึ้นมา แต่ในต่างประเทศมีหลาย Proven Program ที่เกิดขึ้นแล้วเช่นในออสเตรเลีย เขาเอาเรื่อง Character Strengths และ PERMA ไปบูรณาการเข้ากับการออกแบบโรงเรียน เขาใช้ชื่อว่า Positive Education (การศึกษาเชิงบวก) ซึ่งในออสเตรเลียจะมีสมาคมที่ชื่อว่า Positive Education Schools Association หรือ PESA โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนมากกว่า 200 แห่ง และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันในการทำงานเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก แต่มีหนึ่งโรงเรียนที่ถือว่าเป็นโรงเรียนแกนนำซึ่งถูกพัฒนาโปรแกรมตั้งแต่แรกร่วมกัน Martin Seligman ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีด้านจิตวิทยาเชิงบวก คือ Geelong Grammar School ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐเมลเบิร์น ของออสเตรเลีย การทำงานของโรงเรียนแห่งนี้ได้ออกแบบให้ทุกบทเรียนของโรงเรียนแล้วออกแบบโรงเรียนให้ทุกๆ โปรแกรมของโรงเรียน ใช้ภาษาทางจิตวิทยาเชิงบวก ใช้รูปแบบการประเมินทางจิตวิทยาเชิงบวก และใช้ระบบการพัฒนาครูในโรงเรียนด้วยจิตวิทยาเชิงบวกทั้งหมด รวมถึงออกแบบให้มีบทเรียนจิตวิทยาเชิงบวก แบบเชิงรุกเข้าไปสร้างการเรียนรู้กับนักเรียนโดยตรง โดยแบ่งรูปแบบการทำงานออกเป็น 4 ส่วนคือ
หนึ่ง – Learn it สอนให้ครูทุกคนในโรงเรียนรู้จักจิตวิทยาเชิงบวก และให้ครูไปออกแบบกระบวนการจิตวิทยาเชิงบวกที่สอดคล้องกับห้องเรียนของตัวเอง เพราะฉะนั้น จิตวิทยาเชิงบวกจะไม่มีเครื่องมือที่ตายตัวแบบใดแบบหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือที่หลากหลายมาก บางคนเอาไปทำเป็นเกมส์ พูดคุยกันในห้องเรียน บางคนเอาไปวาดรูป ซึ่งครูแต่ละคนจะมีพื้นที่ในการเอามาแลกเปลี่ยนกันว่าคุณเอาไปทำอย่างไร
สอง – Live it คือกระบวนการที่เอาวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของครูเป็นแกนของการมอง หมายความว่าในการอยู่ร่วมกันที่โรงเรียนของครู จะต้องใช้กระบวนการจิตวิทยาเชิงบวกในการสื่อสารกันเอง เช่นเราจะประชุมครู ครูต้องบอกให้ได้ว่า ครูคนอื่นๆ มี Character Strengths อะไร มีอารมณ์เชิงบวกจากเรื่องอะไรได้บ้าง มี Engagement กับอะไร เพราะจิตวิทยาเชิงบวกจะใช้ความเชื่อเรื่อง Role model (ต้นแบบ) หากเราต้องการให้เด็กของเราเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเป็นตัวอย่าง เพราะฉะนั้น Live it จึงกลายเป็นแกนอีกแกนหนึ่งของการทำโรงเรียนเชิงบวก
สาม – Teach it คือการสอน ซึ่งรูปแบบการสอนของจิตวิทยาเชิงบวกจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือการสอนที่เป็นชั่วโมงจิตวิทยาเชิงบวกเลย เช่น หนึ่งสัปดาห์มีเวลาหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งให้เด็กมาเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเชิงบวก และส่วนที่สองคือ การผสมผสานภาษา วิธีคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกเข้าไปในบทเรียนปกติ เช่น การตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ด้วยภาษาและวิธีคิดแบบจิตวิทยาเชิงบวก เป็นต้น
สี่ – Embed it คือการปรับระบบสวัสดิการ และระบบต่างๆภายในโรงเรียน ให้รองรับกับวิธีคิดของจิตวิทยาเชิงบวก เช่น การประเมินครู การจัดการพื้นที่ เป็นต้น
อะไรทำให้สนใจเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก
ผมทำงานด้านเด็กและเยาวชนมาได้ประมาณ 10 กว่าปีตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น เราพบว่ามันมีหลายคำถามที่เราหาคำตอบไม่ได้ ว่าอะไรที่ทำให้วัยรุ่นแต่ละคนแตกต่างกันในแง่ของการมองโลก ซึ่ง ณ วันนั้น เราก็เข้าใจว่ามันมีแค่เรื่องการทำให้วัยรุ่นค้นหาตัวเองให้เจอ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์เยอะๆ แล้วจะเป็นจุดที่ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น แต่เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าทำไมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มันถึงมีผลต่อการมองโลกของวัยรุ่นคนนั้น ณ วันนั้น
กระทั่งเราได้เรียนปริญญาโทด้านพัฒนาการมนุษย์ที่สถาบันเด็ก ม.มหิดล จึงเริ่มได้รับคำตอบบางส่วนว่า ในพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยมีเรื่องของจิตใจ อารมณ์ สังคมที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนอีกอยู่ดีว่า อะไรล่ะที่เป็นจุดแตกหักด้านการพัฒนาจิตใจของเด็ก จนวันหนึ่งผมได้มีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัยที่บ้านกาญจนาฯ และพบกับบางเรื่องที่มหัศจรรย์ใจ ว่าสิ่งที่ป้ามล (ทิชา ณ นคร) ได้ทำงานที่บ้านกาญจนาภิเษกนั้น เธอทำได้ย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือ Mindset ของเด็กที่อาจจะเคยถูกกระทำหรืออยู่ในภาวะที่เขาดำมืดมานาน ให้กลับมามีแสงสว่างในตัวเอง เป็นคำถามที่ใหญ่มาก ณ วันนั้น
ค้นพบคำตอบอะไรในบ้านกาญจนาภิเษกบ้าง
เราพบว่าสิ่งที่ป้ามลทำในแต่ละเรื่อง ไม่ได้มีอะไรที่แปลกพิสดารเกินกว่าที่คนปกติจะทำได้เลย เพียงแต่ในทุกๆ สิ่งที่ป้ามลทำ จะใช้กระบวนการที่เป็นเชิงบวกที่ไม่ได้เน้นการใช้อำนาจหรือบังคับ แต่เป็นกระบวนการที่ออกแบบเพื่อให้เยาวชนได้เข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนด้วยตัวเอง ป้ามลจะพูดเสมอว่า การปรับเปลี่ยนวิธีคิด ต้องมาก่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากโจทย์ในวันนั้นที่เราได้เรียนรู้ และเราก็หาคำตอบเพิ่มเติมว่า แล้วสิ่งที่ป้ามลทำในทางวิชาการเขาเรียกว่าอะไร
ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับคุณหมอพนม เกตุมาน (ประธานชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย) คุณหมอก็บอกว่าตอนนี้กำลังศึกษาเรื่อง Positive Psychology หรือจิตวิทยาเชิงบวก ให้ผมลองไปดูว่าเนื้อหาใจความของเรื่องนี้ว่าเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงอย่างไรกับสิ่งที่ป้ามลทำ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้มารู้จักกับคำว่าจิตวิทยาเชิงบวก
กระบวนการในบ้านกาญจนาภิเษกเกี่ยวโยงกันอย่างไรกับจิตวิทยาเชิงบวก
ถ้าเรามองในเชิงโครงสร้างจริงๆ สิ่งที่ป้ามลทำเปรียบได้กับการไปสร้างต้นทุนทางจิตใจให้กับเด็ก กระบวนการที่ป้ามลใช้คือการพยายามทำให้เด็กมีโอกาสได้คิดและตัดสินใจ รวมไปถึงให้เด็กมีโอกาสได้สัมผัสกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ในทุกๆ วัน ถ้าเราเอา PERMA (ทฤษฎีชีวิตมีสุข) ไปจับ ซึ่งทฤษฎีนี้ก็จะเริ่มต้นด้วย
P-Positive emotion อารมณ์เชิงบวกของเด็กที่เคยเป็นผู้กระทำความผิดจะเกิดได้จากอะไรบ้าง ป้ามลวิเคราะห์ตรงนี้ก่อน ซึ่งสิ่งแรกที่เด็กบ้านกาญจนาภิเษกจะได้รับ คือโอบกอดจากป้ามล พวกเขาจะได้รับความเชื่อมั่นอีกครั้งว่าเขาเปลี่ยนแปลงได้ ป้ามลเคยพูดว่า เด็กที่เข้ามาในบ้านกาญจนา บางคนในวันแรกอาจจะยังไม่เข้าใจหรอกว่าสิ่งที่ป้ามลพูดในวันแรกหมายความว่าอะไร เพราะว่าหลายคนอาจจะมีคลังคำ คลังภาษาไม่มากพอในการที่จะแปลความหมายของคำพูดที่เป็นเชิงลึก แต่จากเสียงสะท้อนของเด็กบอกกับป้ามลและครูในบ้านกาญว่า ถึงเขาไม่เข้าใจ แต่เขารู้สึกดี นี่คือการเริ่มต้นด้วย Positive emotion
E-Engagement การออกแบบกติกาในบ้าน ถูกออกแบบโดยเด็กที่อยู่ในบ้านกาญจนา นั่นคือการมีส่วนร่วมที่เด็กอาจจะไม่เคยได้รับข้างนอกด้วยซ้ำ เมื่อเขาไปอยู่ในบ้านกาญจนา เขาได้รับการมีตัวตนอีกครั้งหนึ่ง Engagement ทางจิตวิทยาเชิงบวก จะไม่ใช่เรื่องของการเสนออย่างเดียว แต่เป็น Engagement ที่พูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตัวเองทำและเกิดความสนใจ เกิดการลืมวันและเวลาไปเลย นั่นหมายความว่าเด็กเขาจะถูกกระบวนการทำให้มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับเรื่องที่เขาสนใจ เช่นในบ้านกาญจนาภิเษกจะมีห้อง Movie ห้องกีฬา แม้กระทั่งห้องสนุกเกอร์ ในวันที่ป้ามลตัดสินใจร่วมกับเด็กว่าจะเอาสนุกเกอร์เข้ามาหรือไม่ ป้ามลให้เด็กเป็นคนออกแบบว่า โต๊ะสนุกเกอร์นี้จะเป็น “ปัจจัยสร้าง” หรือ “ปัจจัยลบ” สำหรับเด็ก และให้เด็กวิเคราะห์เองว่าทำอย่างไรมันถึงจะเป็นปัจจัยสร้างได้ เมื่อเด็กเขาวิเคราะห์เอง ออกแบบเอง โต๊ะสนุกเกอร์ก็จะไม่ใช่ปัจจัยลบในความหมายเดิมอีกต่อไป การตีความก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม เขาก็จะมีส่วนร่วม และดูแลรักษาสิ่งๆ นั้น
R- Positive Relationship ความสัมพันธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาระหว่างป้ามลและเด็กในบ้าน ก็จะถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการมีความสัมพันธ์เชิงบวก จะนำมาซึ่งความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น อีกครั้งนึง
M- Meaning ความหมายในการใช้ชีวิตของเขาก็ถูกสะท้อนผ่านการเขียน คนที่ทำงานกับเด็กหลายครั้งมักจะมองข้ามเรื่องนี้ และไปมองถึงความไม่พอดีของเด็กว่า เด็กทั่วไปอาจไม่ชอบการเขียน การออกแบบกิจกรรมเราจึงไม่ควรให้เขาเขียนเยอะ เขาตอบรับไม่ได้หรอก เขานู่นเขานี่ แต่สิ่งที่ป้ามลทำคือ เชื่อในตัวพวกเขา และให้เขาเขียนในสิ่งที่เขาอยากเขียน ป้ามลไม่ได้มาตรวจการถูกการผิด เพราะฉะนั้นเขาจะเขียนได้อย่างสบายใจ และการเขียนคือการปลดปล่อยทางความคิดที่ดีมากวิธีหนึ่ง กระบวนการด้านจิตบำบัดหลายๆ กระบวนการก็ใช้การเขียนมาเป็นกระบวนหลักในการสะท้อนการมีตัวตนอยู่ การได้ระบายสิ่งที่ทุกข์ใจ ซึ่งกระบวนการที่บ้านกาญจนาก็ใช้กระบวนการเขียนมาสะท้อนความหมายของเด็ก เขาไม่เคยถูกฝึกการให้ความหมายกับเรื่องต่างๆ มาก่อน แต่การให้เขาเขียนทุกวันในทุกๆ กิจกรรมช่วยเพิ่มพูนความหมายให้กับเขาได้ และที่สำคัญคือ
A-Accomplishment ทุกคนจะรู้สึกถึงความสำเร็จในทุกวันที่เขาอยู่ในบ้านกาญจนา ถ้าถามว่าความเชื่อมโยงคืออะไร บ้านกาญจนาตอบโจทย์ทั้ง PERMA ได้เลย
โดยที่ป้ามลไม่เคยรู้จักกับศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกมาก่อน?
ใช่ครับ ป้ามลออกแบบกระบวนการจากเด็ก ป้ามลพูดเสมอว่า ทุกกระบวนการป้ารู้มาจากเด็กและออกแบบต่อยอดมาจากเด็ก ไม่มีกระบวนการตายตัวที่จะสามารถบอกว่าวิธีนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้วจะได้ผลถ้านำกลับมาใช้ แต่ป้ามองว่าทุกกระบวนการต้องมีพลวัต หมายความว่าทุกๆ วันที่ป้ามลเรียนรู้จากเด็ก ก็จะออกแบบกระบวนการใหม่ เสริมเติมลงไปให้เด็กเขาได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพื่อสอดรับกับความต้องการของเขาจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่า กระบวนการที่เทียบเคียงกับจิตวิทยาเชิงบวก ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำโดยนักจิตวิทยา ไม่จำเป็นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ทำโดยผู้ที่เข้าใจมนุษย์ ตรงนี้สำคัญมาก
อยากให้ยกกรณีศึกษาจากบ้านกาญจนา ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการ
มีหลายกรณีนะ แต่ถ้าจะสื่อสารให้ชัดเจนที่สุดคือ เด็กบางคนที่ผมได้เจอเขาในวันที่เริ่มเข้าบ้านกาญจนา เราสังเกตได้ว่าเด็กมีสายตาที่แข็งในวันแรกๆ ความไม่ไว้วางใจ ความไม่มั่นใจ ความสับสนมีค่อนข้างมาก เวลาตอบคำถามหรือให้ข้อมูลกับอะไรสักอย่างก็จะช้าและคิดหลายสเต็ป ว่าเรื่องที่เขาจะพูด เขาสามารถพูดได้ไหม เป็นตัวเองได้ไหมในที่แห่งนี้
แต่เมื่อกระบวนการของป้ามลได้ถูกถ่ายทอดไปสู่เขาเรื่อยๆ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ สายตาของเด็กที่มองกันเอง สายตาของเด็กที่มองเราเปลี่ยนไป เขามองอย่างมีความเข้าใจ อาจจะดูนามธรรมนะแต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ และที่สำคัญคือเราสัมผัสได้ถึงความเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตที่เขาแปลความหมายใหม่เรียบร้อยแล้ว จากเดิมที่มองอดีตเป็นสิ่งดำมืด ไม่ควรถ่ายทอดให้ใครฟังและเขาไม่อยากจะพูดถึงมันอีก แต่เมื่อเวลาผ่านไปวิธีคิดต่อการมองเรื่องราวในอดีตของเขาก็ต่างไปจากเดิม เขามองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเรื่องจริง เขาไม่ปฏิเสธสิ่งนั้นและรู้สึกผิดในเรื่องนั้นอยู่ แต่พร้อมที่จะเอาเรื่องนี้มาเป็นหัวเชื้อในการเปลี่ยนแปลงสังคม พร้อมจะเอาบทเรียนของตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำในรูปแบบที่เขาเคยเจอ นี่คือสิ่งที่ท้าทายวิธีคิดเก่าของเขา
กระบวนการที่เข้าไปท้าทายวิธีคิดเก่า และเกิดการตีความใหม่ จะส่งผลต่อการเดินไปข้างหน้าของคนๆ หนึ่งอย่างไร
สิ่งที่บ้านกาญจนาทำไม่ได้จบลงแค่ว่าเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไปจบตรงที่เขาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่มีต่อเรื่องราวของตัวเองได้ หมายความว่า เขาเกิดการตีความใหม่ และรู้ว่าอะไรจะมาเป็นต้นทุนในจิตใจให้เขาได้ ตรงนี้สำคัญมากเพราะในทางจิตวิทยาเชิงบวก จะมีทฤษฎีหนึ่งที่เขาพูดถึงเรื่อง The broaden-and-build theory กระบวนการที่พูดถึงอารมณ์ที่ขยายออกแล้ว Build Resource ให้กลับมา ซึ่งมันต้องเกิดจากอารมณ์เชิงบวกเท่านั้น
อารมณ์เชิงบวกจะช่วยให้คนมองเห็นทางเลือกในการดำเนินชีวิต ถ้าเขาจดจำสิ่งที่ทำผ่านทางเลือกเชิงบวกได้ สิ่งนั้นจะถูกเก็บใส่กล่องความทรงจำของเขา และกล่องนี้จะกลายเป็นต้นทุนเชิงบวก ให้เขาสามารถกลับมาจดจำได้ว่า การจะเดินต่อไปในชีวิตข้างหน้าต่อให้เจออุปสรรค แต่เขาเคยมีเรื่องเชิงบวกอยู่ในใจนะ เขาพร้อมที่จะอดทนกับสิ่งที่จะเจอและเดินก้าวต่อไป เรียนรู้ และแปลความหมายให้เปลี่ยนไปจากเดิมได้
เราจะนำ วิชาชีวิต ไปประยุกต์ใช้ในบริบทอื่นที่ต่างกันได้อย่างไร
เรามองวิชาชีวิตของบ้านกาญจนาภิเษกในฐานะ Proven Program หรือว่าเป็นโปรแกรมที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเด็กกลุ่มที่เคยกระทำความผิด ดังนั้นเราจึงมองไปที่องค์ประกอบในการทำงานที่เกิดขึ้น อย่างป้ามลมองว่ากระบวนการงานกับเด็กต้องเริ่มต้นที่การไม่ใช้อำนาจ แต่ใช้กระบวนการเป็นตัวนำ สิ่งนี้กำลังบอกว่าคนที่ทำงานด้านพฤติกรรมของเด็ก ไม่ควรกระโดดไปสู่การบังคับเด็กเร็วจนเกินไป แต่ต้องไปทำงานกับเรื่องของวิธีคิด วิธีการมองโลกของเด็กเป็นหลัก ผมว่าตรงนี้คือคีย์ที่หนึ่ง
และคีย์ที่สองคือต้องไม่ใช่การทำงานกับเด็กแบบโดดๆ แต่ไปทำงานกับครอบครัวของเด็กด้วย และทำอย่างไรให้โรงเรียนมีวิธีการทำงานร่วมกันครอบครัวในเชิงบวกให้ได้ ซึ่งในบริบทนี้ก็เป็นอีกคีย์หนึ่งที่เราเชื่อมโยงมาจากวิชาชีวิต เราจะไม่มองว่า กระบวนการของวิชาชีวิตจะเอาไปปลั๊กอินกับทุกที่ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราจะมองว่าอะไรคือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดวิชาชีวิต แล้วถ้าจะเอาองค์ประกอบเหล่านั้นไปสู่ที่อื่นๆ เราจะต้องประยุกต์อย่างไร และใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ เข้ามาผสม
ถ้าจิตวิทยาเชิงบวกไม่ใช่หน้าที่ของนักจิตวิทยาเพียงคนเดียว ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหน้าที่นี้
จิตวิทยาในรูปแบบจิตวิทยาทั่วไป อาจหมายถึงการทำงานโดยนักจิตวิทยา อันนั้นไม่ผิด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของจิตวิทยาเชิงบวก ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของนักจิตวิทยาเพียงเท่านั้น ถ้ามองให้ง่ายขึ้นคือ จิตวิทยาของการที่เราสามารถทำงานกับมนุษย์ด้วยกัน และทำให้มนุษย์ด้วยกันเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เกิดความรู้สึกที่งอกงามในจิตใจได้ ซึ่งการทำให้เกิดภาวะแบบนี้ จำเป็นที่จะต้องทำงานโดยทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของคนหนึ่งคน
นั่นหมายถึงว่าต้องทำงานโดยพ่อแม่ของเด็ก ครู สังคม ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เมื่อเราบอกว่าทำงานโดยทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเด็ก นั่นก็ไม่จำกัดแล้วว่าต้องทำงานโดยนักจิตวิทยา

เขาเหล่านั้นต้องทำอย่างไร
ผมว่าตรงนี้คือโจทย์ที่จะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กเขามีต้นทุนในการอยู่ด้วยตัวเองได้ มีภาวะเชิงบวกที่มองตัวเองออก ซึ่งภาวะเชิงบวกในตัวเองก็ไม่ได้หมายถึงว่า ภาวะในการมองโลกในแง่ดีเสียทุกเรื่อง หรือตื่นมาต้องยิ้ม หัวเราะทุกวัน แต่หมายความว่าเราต้องหาคำตอบ ว่าทำอย่างไรแม้ในเวลาที่เขาเจอปัญหาที่ยากลำบาก เขาก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญของคำว่า Flourish เขายังคงเจริญงอกงามทางจิตใจได้แม้ในวันที่เขารู้สึกว่าสิ่งรอบข้างมันดำมืดเหลือเกิน และเขามีวิธีการในการผลิตแสงสว่างในหัวใจตัวเองได้
ซึ่งการสร้างกระบวนการเหล่านี้ ต้องทำด้วยกระบวนการที่หลากหลาย ทฤษฎีอย่าง PERMA, Character Strengths, Positive Emotion หรืออีกมากมายที่สร้างโดยจิตวิทยาเชิงบวก แม้กระทั่งกระบวน Proven Program ของประเทศไทยอย่างวิชาชีวิต ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่เราสามารถไปเรียนรู้และเอามาประยุกต์ใช้กับกลุ่มเป้าหมายได้ ถ้าเราเป็นครู ก็ต้องมาดูว่าเด็กของเราต้องการอะไร Proven Program อย่างวิชาชีวิตก็สื่อสารให้เราได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่า ในวันที่คนทั้งประเทศไม่เชื่อว่า เด็กที่กระทำความผิดจะสามารถกลับมาดีได้ด้วยวิธีการเชิงบวก ป้ามลได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำได้ ผ่านวิธีการเชิงบวกด้วย
การจะสร้างกระบวนการเชิงบวกได้ เขาเหล่านั้นต้องยืนอยู่บนความเชื่อแบบไหน
ต้องเชื่อว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเขาไม่ได้ดำมืดขนาดนั้น ชีวิตเขาสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เริ่มต้นด้วยความเชื่อแบบนี้ และเริ่มหากระบวนการว่าทำอย่างไร ผมว่าครูอาจจะเจอวิธีการที่ดีกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตก็ได้ และเป็นวิธีการที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของครูเอง เพียงแต่ว่าครูต้องมีตะกร้าเครื่องมือที่มากพอก่อน
ตอนนี้ Life Education กำลังขับเคลื่อนจิตวิทยาเชิงบวกไปสู่สถานศึกษาอย่างไร
เราทำงานสามด้านหลักๆ คือ หนึ่ง สร้างโปรแกรมพัฒนาครู เพื่อให้ครูมีทักษะ วิธีคิด และเครื่องมือมากพอในการทำงานเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการจัดคอร์สร่วมกับ ก่อการครู ของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และการจัดอบรมให้ครูตามโรงเรียนต่างๆ
สอง การทำโปรแกรม FamSkool เป็นการมาตั้งโจทย์ใหม่ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ว่า จะทำอย่างไรให้ครูเกิดทักษะในการเอื้อมมือไปสู่ครอบครัวของเด็กแบบเชิงบวกได้ และดึงพลังซึ่งมีต้นทุนเดิมคือความรักของพ่อแม่มาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ ขับเคลื่อนพฤติกรรม และวิธีคิดเชิงบวกของเด็กได้ ซึ่งตอนนี้เราทำงานอยู่กับ 11 โรงเรียน
สาม การสร้าง Proven Program ใหม่ๆ แบบที่บ้านกาญจนาภิเษกเคยทำโดยป้ามลมาแล้ว เป็นไปได้ไหมว่าในพื้นที่การทำงานกับเด็ก ที่อยู่ในภาวะเปราะบางอื่นๆ จะเกิด Proven Program ของตัวเองขึ้นมา ทำอย่างไรไม่ให้เด็กที่อาจจะอยู่ในภาวะของการเป็นเหยื่อก็ดี หรือภาวะที่มีปัญหาก็ดี ให้เขารู้สึกว่าเขาถูกกระทำด้วยวิธีการเชิงบวก แล้วเขาเปลี่ยนวิธีคิดได้ วิธีการนั้นจะเป็นวิธีการแบบไหน ตรงนี้เป็นอีกโจทย์ที่เรากำลังหาคำตอบร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) องค์การช่วยเหลือเด็กนานาชาติ (Save the Children) และ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation)

มีตัวอย่างโรงเรียนที่นำจิตวิทยาเชิงบวกเข้าไปใช้บ้างไหม
ที่พยายามทำอยู่คือโรงเรียนเซนโยเซฟ นครสวรรค์ ซึ่งทางผู้อำนวยการค่อนข้างให้ความสำคัญมาก อย่างในวันแรกที่คุยกับผู้อำนวยการ เราคุยตามเงื่อนไขเหมือนที่เซลิกแมน (Martin Seligman – นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน) ทำงานกับโรงเรียนในออสเตรเลียเลย คือถ้าจะทำเป็นโรงเรียนเชิงบวก อันดับแรกขอทำงานกับครูที่ปรึกษาทุกห้องเรียน ไม่ขอทำงานกับครูแนะแนวอย่างเดียวได้หรือเปล่า และการอบรมจะไม่จบในครั้งเดียว แต่ต้องทำเป็นโมดูล (module learning) และมีการโค้ชชิ่งระหว่างทางได้หรือไม่ เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนรับคำว่าได้ ครูที่ปรึกษาทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการ Learn it ร่วมกับเรา และเราจะมีชุดภาษาจิตวิทยาเชิงบวกร่วมกัน
เรากำลังสื่อสารให้ชัดเจนคือ โลกนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มียาวิเศษที่ครูบอกว่า ไปอบรมเรื่องนี้มาแล้วเอากลับมาใช้ ภายใน 3 วันได้แน่นอน ใครการันตีแบบนั้นโกหกครับ เพราะการเปลี่ยนวิธีคิดของเด็กยังยาก การเปลี่ยนวิธีคิดของครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการสร้างหลักฐานใหม่ๆ ทางประสบการณ์ให้กับครูจิงสำคัญมาก และเมื่อเกิดประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ สิ่งที่ตามมาคือความมั่นใจ
ครูเหล่านั้นสะท้อนมาอย่างไรบ้าง
ครูหลายคนเซอร์ไพรส์กับตัวเองมากในวันที่มาสะท้อนกับเรา ว่าเขาไม่เคยรู้เลยว่าเด็กบางคนเคยมีปัญหาในชีวิตเยอะขนาดนี้ เขาเห็นแค่ว่าเด็กมาโรงเรียนสาย หรือไม่ตอบรับคำสั่งใดๆ ของโรงเรียน แต่เมื่อเขารู้ถึงปัญหาที่เด็กเคยเจอ รูปแบบความสัมพันธ์ของครูกับเด็กก็เปลี่ยนไป และไม่ได้เปลี่ยนในแง่ที่อะลุ่มอล่วยให้เด็กนะครับ แค่เด็กรู้สึกว่าปลอดภัยกับครูคนนี้ ครูแทบไม่ต้องใช้คำสั่งกับเขา เขาก็เกิดความเกรงใจ เกิดความรักในตัวครู ความรักเหล่านั้นคือต้นทุนสำคัญที่ทำให้เด็กอยากจะเปลี่ยนตัวเอง นี่คือ case study ที่เกิดขึ้นจริง และกำลังเดินต่อไปสู่การสร้างให้เป็น Proven Program
ในการจะสร้างโรงเรียนเชิงบวก วิสัยทัศน์ของผู้บริหารคือสิ่งสำคัญ?
สำคัญมากครับ วิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการและความมุ่งมั่นของครู เพราะหลายๆ เรื่องจะไปกระแทกกับประสบการณ์เดิม ความเชื่อเดิมของครู เพราะฉะนั้นการอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญ การตั้งหลักที่ถูกต้องของผู้บริหารจึงส่งผลอย่างมาก และเมื่อครูได้ลองไปทำจริงแล้วเกิดผลลัพธ์ดีหรือไม่ดีอย่างไร เราจะไม่บอกว่าครูคนไหนทำผิดและเราจะลงโทษครู ไม่ใช่อย่างนั้นแต่เราจะชวนครูให้มาร่วมเรียนรู้ด้วยกัน หาทางออกและวิธีการที่ดีกว่าด้วยกัน ชวนครูให้มองเห็นว่ามันมีวิธีการที่ดีกว่าเดิมนะ มาเรียนรู้กันไหม