ภาพ: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
เมื่อมายาคติของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ใช่แค่ความหมายของการเข้าถึงทรัพยากรเพียงเท่านั้น
คือข้อค้นพบเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่อง ‘มายาคติความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย: การขยายโอกาสและสุขภาวะทางสังคม’ โดย ดร.กิตติ คงตุก และ ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ซึ่งอยู่ในชุดโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำไมจึงสงสัยและตั้งคำถามกับความเสมอภาค โดยเฉพาะความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทุกฝ่ายกำลังตั้งใจรดน้ำพรวนดิน
“บางคนต้องการปริญญา แต่บางคนก็ต้องการแค่ทักษะชีวิต ทำอย่างไรให้ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ตัดสินคนผ่านระดับการศึกษา แต่ตัดสินคนผ่านการใช้ชีวิตที่เขาสามารถอยู่แบบมีความสุขได้”
ความเสมอภาคของบางคน ต้องไม่ถูกใส่กล่องผูกโบว์มาพร้อมความสงสาร
และความเสมอภาคของคนกลุ่มหนึ่ง ต้องไม่ยืนอยู่บนหลังที่แอ่นเกือบหักของคนอีกกลุ่มหนึ่ง
และไม่ควรต้องมีใครยอมศิโรราบเพื่อให้ได้ความเสมอภาคนั้นมา
ทั้งหมดคือเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้
สงสัยอะไรในความเสมอภาคทางการศึกษา
ไอยเรศ : งานชิ้นนี้ เราไม่ได้มุ่งโจมตีระบบการศึกษาแต่อยากชวนคุยเพียงว่า มีไอเดียตัวไหน ระบบวัฒนธรรมชุดไหน หรือประวัติศาสตร์เรื่องไหนที่ทำให้รู้สึกว่าเราเชื่อหรือเข้าใจว่าความเสมอภาคทางการศึกษามีความหมายว่าความเท่าเทียม หรือการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน
โดยส่วนตัว อาจารย์ทั้งสองมีคำถามหรือสงสัยอะไรในเรื่องของความเสมอภาคของการศึกษาบ้าง
ไอยเรศ : พอพูดถึงความเสมอภาคส่วนใหญ่จะนึกถึงความเท่าเทียมในระดับเดียวกัน ก่อนหน้าที่จะตั้งเป็นประเด็นในการทำงานวิจัยชิ้นนี้ เรามีโอกาสไปทำงานอยู่ที่โรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่ง เราพบว่าความเสมอภาคถูกพูดถึงเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม แต่พอเราเข้าไปในโรงเรียนปุ๊บเราพบว่า แค่ความเสมอภาคกันทางความคิดมันยังไม่เท่ากันเลย ต่อมเอ๊ะจึงเกิด เลยสนใจว่าถ้าเราจะทำเรื่องมายาคติเรื่องนี้ มันน่าจะอธิบายความเสมอภาคทางการศึกษาในมิติอื่นๆ มากกว่าสิ่งที่เราเข้าใจ
กิตติ : คำถามของผมจะเป็นเรื่องแรงขับข้างในเยอะ เราเป็นเด็กต่างจังหวัด รู้สึกเหมือนอยู่โรงเรียนวงนอก พอพูดถึงการศึกษา ความเสมอภาคนี้จะอยู่อย่างไรกับความแตกต่างหลากหลาย
ผมเห็นการทำงานของบางโรงเรียนที่เขาต้องเจียดพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อสร้างนาขึ้นมา ให้เด็กจ่ายค่าเทอมในระดับที่คนรายได้ดีเข้าเรียนกัน เพื่อให้เจอการปลูกข้าวทำนาในชีวิตจริง ขณะที่โรงเรียนต่างจังหวัดนาเต็มไปหมด เราวิ่งหาห้องแล็บ ห้องทดลองแล้วก็บอกตัวเองว่าตัวเองมีไม่เท่าเขา รู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจว่าอะไรที่เป็นตัวกำหนดความเสมอภาค
งานวิจัยชิ้นนี้ชวนให้คิดว่าเราอยู่ภายใต้วิธีคิดชุดไหนกันแน่ ที่ทำให้รู้สึกว่าอย่างนี้คือเสมอภาค ทั้งๆ ที่ต้นทุนในแต่ละที่มันต่างกัน
จากงานวิจัยฯ ความเสมอภาคของคนในวงการศึกษาเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ไอยเรศ : งานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ
1. ศึกษาประวัติศาสตร์การศึกษา: ทบทวนวรรณกรรม ดูคร่าวๆ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาว่ามีแนวโน้มการศึกษาอย่างไร กับศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
2. นิยามความเสมอภาคทางการศึกษา: ความเสมอภาคทางการศึกษามีความหมายว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งสรุปผลมาจากการศึกษาประวัติศาสตร์เบื้องต้น
3. การประกอบสร้างความหมายของความเสมอภาค: เอาข้อ 1 กับข้อ 2 สังเคราะห์รวมกันแล้วดูเส้นทางว่า สุดท้ายแล้วความหมายของความเสมอภาคทางการศึกษาที่ถูกสร้างขึ้นมา มาจากใคร/องค์กร/สถาบันใดสร้างบ้าง แล้วปฏิบัติการในสังคมอย่างไร
4. ปรากฏการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษาในบริบทสังคมไทย: มีปรากฏการณ์อะไรบ้างอยู่ในบริบทพื้นที่ของแวดวงการศึกษา เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก การศึกษานอกระบบ การศึกษาในระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นต้น
1
ประวัติศาสตร์การศึกษา
ความเสมอภาคทางการศึกษาในประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ตอนไหน
ไอยเรศ : จากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเมื่อพุทธศักราช 2427 ว่า “เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะให้ได้มีโอกาศเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉนั้น จึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้” นี่เป็นวิธีคิดเรื่องความเสมอภาคแรกๆ ที่เราพบในช่วงการทบทวนประวัติศาสตร์การศึกษา
ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นมายาคติเรื่องความเจริญของบ้านเมือง เพราะนัยความเสมอภาคในยุคนั้น หมายถึง การทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ วิธีคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นภาพของ ‘สถาบัน’ ที่ผลิตสร้างความคิดเรื่องการศึกษา เรื่องความเสมอภาคให้แก่สังคม
ถัดมา เป็นปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อตอนก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”

ตอนนี้เริ่มพูดถึงนัยความเสมอภาคทางการศึกษาว่าเป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งต่างจากพระราชดำรัสที่มองว่าความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกัน ครั้งเมื่อเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับต่างๆ โดยเฉพาะฉบับที่ 3 ที่เริ่มพูดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างชัดเจน ก็จะมีความหมายที่เป็นพลวัต ซึ่งนัยของความเสมอภาคทางการศึกษา คือ โอกาสและสิทธิเท่าเทียมของประชากรที่จะเข้าถึงการบริการด้านการศึกษาของรัฐ
กิตติ : มหาวิทยาลัยแห่งแรก (จุฬาฯ) ถูกพัฒนาขึ้นมาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พอ 2475 ก็ตั้งมหาวิทยาลัยของประชาชนขึ้นมา การติดอยู่ปากแม่น้ำเพื่อที่จะให้เดินทางเข้าถึงตลาดวิชาได้สะดวกก็เป็นการสะท้อนวิธีคิดอย่างหนึ่ง แต่เราพบว่าเรื่องเสมอภาคทางการศึกษามันผูกพันอยู่กับอำนาจตั้งแต่ต้น หนึ่งในนั้นคือการพยายามจัดการกำลังคนด้วยการศึกษา การหล่อหลอมให้คนเป็นหรือคิดให้ได้ในสิ่งที่รัฐอยากให้คิด
2
นิยามความเสมอภาค
มีนิยามอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา
กิตติ : การเข้าถึงของความเสมอภาคคือการมีสิทธิในการเรียน ตั้งแต่ต้นสิทธิในการเรียนถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาชีวะถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เน้นวิชาชีพ ผลิตคนที่รัฐต้องการ
พอเวลาผ่านไป ถึงยุคทุนนิยม จะต้องมีสกิลชุดหนึ่งเพื่อรองรับโรงงานหรืออุตสาหกรรม คำว่าการศึกษาภาคบังคับถูกขยายจากอาชีวะไปสู่มัธยม ไปสู่ประถม ที่เรียนฟรีทั้งหมดจริงๆ แล้วมันมีเหตุผลในการกล่อมเกลาคน ซึ่งสิทธิการเข้าถึงตรงนี้มันอยู่ภายใต้กรอบหลักสูตรที่บอกว่าจะต้องเรียนเนื้อหาอะไรซึ่งถูกคัดมาเพื่อบ่มเพาะคน
คำถามคือ ภายใต้ความเสมอภาคแต่มีภาคบังคับ และทุกอย่างนี้เป็นไปเพื่ออะไร
กิตติ : ภาคบังคับเป็นช่วงวัยที่เรียนเพื่อรู้รอบ คนส่วนใหญ่ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมเป็นช่วงที่หล่อหลอมตัวตน เรียกว่าเรียนรอบเพื่อให้รู้ว่าคนไทยหรือมนุษย์คนหนึ่งในยุคนี้ควรรู้อะไร พอเข้ามหา’ลัยมันจะลงลึกขึ้นเพื่อเจาะจงในอาชีพหรือสิ่งที่จะออกไปทำ
ผมรู้สึกว่าการศึกษาภาคบังคับอิทธิพลมันสูงมาก เหมือนเราโตมาแล้วเราถูกตีกรอบ ถูกวางลู่ไว้คร่าวๆ ต่อให้เรามาเรียนตรี โท เอกเพื่อลงลึก แต่ตัวตนเราจะถูกบ่มเพาะจากรัฐโดยตรงอยู่แล้ว

แล้วอะไรคือมายาคติของความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับ
ไอยเรศ : ความเสมอภาคคือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ในฐานะประชากรของชาติ คุณจะได้เล่าเรียนในการศึกษาภาคบังคับแล้วจะนำไปสู่มาตรฐาน คุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันความซับซ้อนของสังคมมีมากขึ้น เรามีมิติของสังคมที่เป็นมากกว่าการศึกษาภาคบังคับ และคนอีกหลายกลุ่มก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับได้
ในความเสมอภาคทางการศึกษา เรากลับลืมคนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงตัวทรัพยากร เช่น คนชาติพันธุ์ เด็กด้อยโอกาส ผู้พิการต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น cutting point ของงานวิจัยชิ้นนี้ มันเลยไม่ได้หยุดอยู่แค่สิ่งที่เรียกว่าการศึกษาภาคบังคับเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นมันขยายและชวนคิดออกไปนอกกรอบการวิจัยเพิ่มเติม คำตอบหนึ่งที่ชวนให้หาข้อมูลเชิงประจักษ์เพิ่ม คือ ความเสมอภาคทางการศึกษามีความเลื่อนไหลได้ เช่น วิธีคิดเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับ ที่เน้นการสร้างเด็กให้มีคุณภาพ มีความรู้ เพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญหรือสายอาชีพ แล้วก็หลังจากนั้น คนเหล่านี้ก็จะถูกพัฒนาให้กลายเป็นแรงงานของประเทศต่อไป แต่ถ้าเราไปดูการศึกษานอกโรงเรียน บางครั้ง เขาอาจต้องการเพียงทักษะชีวิตที่ใช้หากินเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น นี่ก็เป็นนัยความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีความแตกต่างกันแล้ว
ถึงจุดนี้ เรามีข้อสงสัยกับความหมายหรือคำนิยามว่า ตกลงความเสมอภาคทางการศึกษา คืออะไรกันแน่ ในเมื่อค่านิยมในสังคมไทยกลับมองว่า วิชาที่เรียนทางด้านทักษะหาเลี้ยงชีพเป็นวิชาที่ถูกแบ่งแยกให้กลายเป็นอื่น อย่างกรณีของค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคมต่อคนที่เรียนสายสามัญกับสายอาชีพ
ดังนั้น จากที่กล่าวมา นิยามความเสมอภาคทางการศึกษาจึงมีหลากหลาย มันไม่มีความเสมอภาคที่ถูกต้องอยู่ชุดเดียว เพราะว่าเราเริ่มต้นโดยไม่ได้คิดถึงคนกลุ่มอื่นๆ แต่ต่อมา สังคมซับซ้อนความเสมอภาคก็พร้อมที่จะแตกตัวออกไปตามความต้องการ ความจำเป็น บางคนไม่ต้องการปริญญาแต่ต้องการทักษะชีวิตในการที่จะหาเลี้ยงตัวเองได้ต่อไป ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของความหมายความเสมอภาคมันจึงบังเกิดขึ้น
3
การประกอบสร้างความหมาย
ตั้งแต่ต้นมีใครให้ความหมายความเสมอภาคทางการศึกษาไว้บ้าง แล้วการให้ความหมายแล้วมีความสำคัญหรือสร้างผลกระทบอย่างไร
ไอยเรศ : ประกาศ พระราชบัญญัติ ปี 2561 พูดถึงเรื่องของการเห็นสมควรให้ตรา พ.ร.บ. ว่าด้วยเรื่องของกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้ความหมายความเสมอภาคทางการศึกษาว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับและเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาอย่างเสมอภาคทั่วถึง โดยให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู
ในนิยามนี้เป็นความเสมอภาคที่เน้นเรื่องทรัพยากรและการขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งจริงๆ ทุนทรัพย์ก็สำคัญ

ในประกาศฉบับเดียวกัน พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หมายถึงความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาอันเนื่องมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู หรือฐานะทางเศรษฐกิจสังคม
ผมคิดว่ามันเป็นนโยบายที่ให้ความหมายของความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีพลังมากที่สุดในประเทศตอนนี้ ขณะที่นิยามความหมายอื่นๆ มีการเลื่อนไหลไปตลอดเวลา
แล้วมีอะไรอยู่บ้างในการประกอบสร้างความหมาย
กิตติ : ถ้าย้อนกลับไป มีประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งที่บอกเราว่า เราไม่เท่ากันตั้งแต่ต้น ปัจจุบันสิ่งนี้ยังเป็นโครงสร้างของความคิดอยู่ แต่อาจจะถูกมองแง่ของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแทน วิธีการมันยังมีมิติของผู้ให้และผู้รับ ท็อปดาวน์ลงมา
เพราะฉะนั้นในการประกอบสร้างความหมาย หนึ่ง สถาบันทางสังคมจึงมีอิทธิพลมากที่สุดในการสร้างความหมาย สอง คือองค์ความรู้หรือวิถีชีวิตในยุคนั้นว่าคุณยอมศิโรราบให้กับสิ่งไหน คนในสังคมอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน โรงเรียนขนาดเล็กที่เราไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร พบว่า สิ่งที่เขาสะท้อนว่าขาดคือ หลังคารั่ว ห้องคอมพิวเตอร์ โต๊ะ ทั้งๆ ที่จำนวนนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.ต้น มีอยู่ 80 กว่าคน ครู 13 คน คิดเป็นอัตราครูหนึ่งต่อเด็กไม่ถึงสิบ น่าจะดูแลได้ แต่มันอยู่ภายใต้วิธีคิดว่าเขาขาด นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความเสมอภาคในมุมมองเขา เขาก็เลยรอคอยสิ่งนั้น รอคอยให้เอกชนหรือรัฐจัดสรรไป มันทำงานกับข้างในของคนเยอะมาก
4
ปรากฏการณ์ความเสมอภาคทางการศึกษา
ในบริบทสังคมไทย
จะมีอะไรที่เข้าไปคัดง้างมายาคติเหล่านี้ได้
กิตติ : การศึกษาจะต้องกระโดดออกไปนอกนิเวศการเรียนรู้ได้แล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ empathy ข้างใน ถ้าเขาเรียนในห้องเหมือนเดิม ไม่เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตยังไงมันก็ยาก แต่ผมเห็นแนวโน้มว่าถ้าสังคมเปลี่ยน สิ่งที่หล่อหลอมเราก็น่าจะเปลี่ยน พอเปลี่ยน มันจะไปกันทั้งระนาบ มายาคติด้วย
ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างสุดๆ จะสร้างความเสมอภาคได้อย่างไร
กิตติ : ความเหลื่อมล้ำ มันเกิดขึ้นเพราะว่าเราคิดว่าเราเป็นวงจรหนึ่งในนั้น เราคิดว่าเราไม่มี เราคิดว่าเราไม่พร้อม เราคิดว่าเราขาดศักยภาพ ทั้งๆ ที่เราขาดมันจริงๆ หรือเราทำตัวเองให้มองไม่เห็น
ความเหลื่อมล้ำจริงๆ เป็นเพราะเราต้องการจะเหลื่อมล้ำเองด้วยหรือเปล่า หน้าที่ของงานวิจัยชิ้นนี้คือชวนตั้งคำถาม ไม่ใช่งานหาข้อสรุปแล้วบอกว่าต้องทำอะไร
งานมายาคติคือการตั้งคำถามให้มีอิมแพ็ค เพราะเมื่อต้องอยู่เป็นสังคมเมื่อไหร่ ก็ต้องอยู่ภายใต้สิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่า ควรตั้งคำถาม
ส่วนจะแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำยังไง ผมคิดว่าให้รู้จุดที่ตัวเองยืนอยู่ แล้วก็ถามตัวเองว่าทำอะไรได้บ้างไหมเพื่อให้ไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการ เรามีอิสระมากกว่านั้น
ไอยเรศ : ข้อสรุปหนึ่งในงานชิ้นนี้ ผมมองว่า ภายใต้มายาคติของความเสมอภาค มีภาวะของความจำยอมต่อความไม่เสมอภาค แต่นั่นมันมีเหตุและผลที่เกิดขึ้น เป็นภาวะที่เกิดภายใต้โครงสร้างทางสังคม ทั้งที่เป็นโครงสร้างเชิงวัฒนธรรม และโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดของการบริหารการศึกษาของรัฐ จากข้อมูลภาคสนามในหลายพื้นที่โรงเรียน เราพบว่า มีสิ่งหนึ่งที่ขับเคลื่อนความไม่เสมอภาค และทุกคนก็ศิโรราบให้กับมันคือ ‘อำนาจ’ ในขณะเดียวกันทุกคนก็ใช้อำนาจตัวนี้เป็นตัวที่ขับเคลื่อนทั้งที่ได้ประโยชน์กับตัวเอง และประโยชน์กับสิ่งอื่นๆ
อำนาจ ในที่นี้ อาจไม่ได้แปลว่า การใช้กำลัง หรือการชี้นิ้วสั่ง แต่อำนาจอาจปรากฏอยู่ในรูปแบบของวิธีคิดที่มองว่า การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา คือการสร้างความเป็นมาตรฐานเดียวกัน การทำให้เหมือนกันด้วยฐานคิดในมิติของความเท่าเทียมในเชิงทรัพยากร ดังนั้น การประเมินผู้บริหาร การประเมินโรงเรียน ประเมินครู ประเมินนักเรียน จึงมีกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ที่ออกมาจากส่วนกลาง ซึ่งชี้ให้เห็นถึง มาตรฐานทางการศึกษาด้วยนัยความเท่าเทียม

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากต้องการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผมมองว่าผู้บริหาร หรือครู ต้องเท่าทันความคิดตัวเอง เข้าใจโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เข้าใจมิติความเสมอภาคที่มากกว่าคำว่า การเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม แล้วมันอาจจะเห็นหนทางสู่การปรับเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนแปลง โอเค มันอาจจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้าเกิดเราเท่าทันตรงนี้ รู้ตัวเองว่ามีสิทธิทำอะไรในการพัฒนาการศึกษา เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตัวเรา แล้วค่อยเขยื้อนจากฐานเล็ก แล้วขยับขยายสู่ด้านบน อันนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย ‘มายาคติความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย: การขยายโอกาสและสุขภาวะทางสังคม’ โครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย
ติดตามการนำเสนองานวิจัยทั้งหมดได้ในเวทีเสวนาวิชาการ ‘ก่อการวิจัย: ถอดสลักโลกการศึกษา ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชน’ ในวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้อง 202 ชั้น 2 อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หรือติดตาม Live ได้ที่เพจโครงการผู้นำแห่งอนาคต, ก่อการครู, WAY MAGAZINE