ทำความเข้าใจมนุษย์ 4 ข้อ เพื่อสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ดี

1. ชีวิตที่แตกต่างและวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย

ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแสดงออกที่แตกต่างกัน วิธีการเรียนรู้อันหลากหลายแบบนั้นสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง การศึกษาไทยอาจต้องเข้าไปทำความเข้าใจให้ถึงจุดนี้ มากกว่านั้น การศึกษาไทยต้องตั้งคำถามให้ไกลกว่าเดิมว่า ในกระบวนการที่เราเลือกสรรหรือพยายามที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เราใช้วิธีการอย่างไร เรายอมรับคำว่า learning differently (การเรียนรู้ที่แตกต่าง) หรือยังติดกับดักของคำว่า learning disabilities (ความบกพร่องทางการเรียนรู้) เพราะในความจริงนั้น ไม่ใช่ผู้เรียนบกพร่องหรือเรียนรู้ไม่ได้ แต่วิธีการเรียนรู้นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน หลายครั้งที่เรามักมุ่งไปสู่สิ่งที่เราจะพูด หรือ Learning outcomes ที่วางไว้ เมื่อถึงที่สุดแล้ว เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้เอง’ เพราะสิ่งนี้ตั้งอยู่บนความชอบของผู้เรียน และเขาจะทำได้ดี ทว่าเรากลับไม่เคยค้นหาและส่งเสริมสิ่งนี้ให้พัฒนาต่อไปได้

2. การเรียนรู้ที่เกื้อกูล ‘ซึ่งกันและกัน’

การเรียนรู้ก็ไม่ต่างกับต้นไม้ ที่ไม่สามารถเติบโตได้ตลอดว่า สิ่งนี้เรียกว่ากลไกสะท้อนกลับ (feedback loop) เช่นว่า ธรรมชาติไม่สามารถเติบโตได้ตลอดเวลาในอัตราเดียวกัน หรือเพิ่มพูนมากขึ้นตลอดเวลา ธรรมชาตินั้นมีจังหวะในการเติบโตในที่ทางของมัน  คำถามคือ ในกระบวนการเรียนรู้นั้น เรายอมรับปรากฏการณ์นี้ของผู้เรียนได้มากน้อยขนาดไหน หรือเรามีข้อกำหนดมากเกินไปหรือไม่ในการจะทำให้ผู้เรียนเติบโตในบริบทของเรา 

การเรียนการสอนที่ดีจึงไม่ใช่ลักษณะของการไปบอกว่า ‘ต้องเติบโตเป็นขั้นตอนอย่างไร’ แต่หากเราเตรียมดิน เตรียมจุดต่างๆ ไว้ที่เอื้อต่อการเติบโต รากของการเรียนรู้ก็จะสามารถเลื้อยไหลและงอกงามขึ้นได้

3. มนุษย์เติบโตในที่ทางและจังหวะของตน

การเรียนการสอนที่ดีไม่ใช่การไปบอกว่า ‘ต้องเติบโตเป็นขั้นตอนอย่างไร’ แต่หากเราเตรียมดิน เตรียมจุดต่างๆ ไว้ที่เอื้อต่อการเติบโต รากของการเรียนรู้ก็จะสามารถเลื้อยไหลและงอกงามขึ้นได้ การเรียนรู้ก็ไม่ต่างกับต้นไม้ ที่ไม่สามารถเติบโตได้ตลอด แต่มีจังหวะและสปีดที่แตกต่างกัน 

4. ไม่มีขยะความคิดในห้องเรียน

ในห้องเรียนนั้นมีข้อมูลหรือความรู้เหลือใช้อยู่มากมายที่อาจจะอยู่ในหัวของผู้เรียนเอง แต่ไม่เคยถูกนำเอามาใช้ หรืออาจถูกพูดถึงแล้วถูกลืมหายไป ซ้ำร้าย ผู้เรียนอาจถูกลงโทษด้วยข้อหาทิ้งขยะทางความคิดในห้องเรียน

แต่ในนิเวศการเรียนรู้ที่ดี  ไม่มีขยะทางความคิด หรือของเหลือใช้ในการเรียนรู้ และเราจำเป็นต้องคิดหากระบวนการในการย่อยสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ ให้กลับมามีประโยชน์ยิ่งใหญ่กับสิ่งอื่นได้ 
เปรียบได้ว่า การศึกษาอาจต้องมีแร้งแห่งการเรียนรู้ ซึ่งในธรรมชาตินั้น ซากสัตว์ที่ตายไปแล้วมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่กระจายของโรค แต่แร้งจะสามารถจัดการกับซากสัตว์เหล่านี้ได้ ระบบนิเวศการเรียนรู้นั้นจึงไม่ได้เริ่มต้นว่า ครูจะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร แต่ต้องเริ่มตั้งแต่การยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน และยอมรับว่าครู พ่อแม่ หรือชุมชน เป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับความรู้จากผู้เรียน บนความสัมพันธ์แห่งความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

อ่านบทบันทึกจากวงสนทนาฉบับเต็มได้ ที่นี่

ที่มา: ดร.เดชรัต สุขกำเนิด สนทนาในวง ‘ก่อการครู ออนไลน์ เดอะซีรีส์’

 , ,