คุยกับ อดิศร จันทรสุข รู้จักผู้นำแห่งอนาคต ใครคือผู้นำ อะไรคืออนาคตที่วาดฝัน

ท่ามกลางกระแสธารของการเปลี่ยนแปลงปัญหาที่ถาโถมอยู่ในสังคม ในประเทศ และในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษาไทย ความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่างๆ นานา อีกฟากฝั่งหนึ่งของสายธารนั้น ได้ก่อเกิดคนทำงานตัวเล็กๆ ที่กำลังลงมือกระทำการบางอย่างเพื่อคานงัดกับปัญหา หรือก่อร่างแง่งามที่มีอยู่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม

การกระจัดกระจายของคนตัวเล็กๆ เหล่านั้น คือเหตุผลในการเกิดขึ้นของ ผู้นำแห่งอนาคต โครงการที่ยืนอยู่บนความเชื่อของการทำงานด้วย ‘พลังร่วม’ ของผู้คน บนความเคารพในศักยภาพของมนุษย์ และเชื่อว่าปัญหามากมายที่ปรากฏอยู่นั้น สามารถคลี่คลายได้ สังคมดีขึ้นได้ ทว่ากลไกที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ว่า คือผู้นำที่ไม่ใช่ในความหมายของวีรบุรุษขี่ม้าขาว แต่เป็นภาวะผู้นำที่มนุษย์ทุกคนล้วนมีอยู่ นั่นแปลว่า ‘สังคมที่ดีขึ้น’ ที่ทุกคนล้วนปรารถนา เราล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

อดิศร จันทรสุข
ดร.อดิศร จันทรสุข

“เราพบว่าทุกวันนี้มีปัญหาเกิดขึ้นหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะคนที่พยายามจะทำงานเพื่อสังคม จะรู้สึกว่าตัวเองทำงานในลักษณะของการต้องต่อสู้กับเงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคมค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ระดับการเมืองไปจนถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม

เวลาที่เราทำงานที่รู้สึกว่าโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว ก็จะกลายเป็นปัญหาในแง่การนำไปสู่อุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่รู้ว่าจะก้าวข้ามปัญหาต่างๆ อย่างไร เพราะเราใช้วิธีการแบบเดิมๆ ศักยภาพเดิมๆ ที่เรามีอยู่” 

ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดี​ฝ่ายการนักศึกษา​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือในอีกหน้างานหนึ่ง เขาคือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการผู้นำแห่งอนาคตภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ นั่นทำให้บทสนทนาของเราในวันนี้ คือการชวน ดร.อดิศร เล่าย้อนไปยังที่มาที่ไปในการเกิดขึ้นของโครงการว่า เจตจำนงเช่นไรที่อยู่เบื้องหลังโปรเจ็คต์นี้ โครงการขับเคลื่อนการทำงานแบบไหน แล้วสังคมได้อะไรจากสิ่งที่พวกเขากำลังพยายามทำอยู่

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

ก้าวแรกของโครงการผู้นำแห่งอนาคต คือการวางตนเป็น ‘พื้นที่ตรงกลาง’ เพื่อรวบรวมคนทำงานทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ รวมทั้งปัจเจกบุคคล ที่มีความตั้งใจอยากจะทำงานเพื่อความเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายแง่มุม โดยพื้นที่ตรงกลางที่ว่า คือเวทีที่เขาเหล่านั้นได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนพกพามาร่วมกัน

“เราเลือกคนทำงานในพื้นที่หรือองค์กรของตัวเองมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจในงานที่ทำ เข้าใจในบริบทที่มีความท้าทาย ปัญหาต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ และการที่เราชวนเขาเข้ามาเรียนรู้ในเวทีกลาง ส่วนหนึ่งเราคิดว่าการที่เขาได้มาเจอกับคนอื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกับเขาหรือเครือข่ายที่ข้ามประเด็นจากที่เขาทำเลย ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา หรือภาคเอกชนต่างๆ นานา จะช่วยทำให้เขาได้พัฒนามุมมอง วิธีคิดต่อโจทย์ที่เขากำลังทำอยู่

“เมื่อเขาได้เรียนรู้ว่า มันมีประสบการณ์ของคนอื่นๆ ที่อาจจะคล้ายหรือแตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง ทำให้กระบวนการที่ทำให้คนได้มาเจอกันนั้น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกัน มันสามารถตกตะกอน และเกิดการตระหนักว่า สิ่งที่เราเคยทำมาในอดีตนั้น ถ้าเกิดว่าเราได้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนวิธีการทำงานบางอย่าง อาจจะทำให้งานของเราขยายหรือเติบโตต่อไปได้ในแง่มุมที่เรานึกไปไม่ถึง ถ้าเกิดว่าเรายังทำงานของเราต่อไปคนเดียวอยู่”

การได้มาพบหน้าค่าตา แชร์ความทุกข์ ความสุข วิธีการทำงาน และทัศนะต่อการเป็นไปของโลกในมิติต่างๆ ทำให้ขอบข่ายการรับรู้ถูกขยายกว้างจากพื้นที่ในการเติมเต็มซึ่งกันและกัน  ทว่าอีกส่วนสำคัญของพื้นที่นี้ คือกระบวนการพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ที่ถูกออกแบบไว้ในสามระดับ คือระดับปัจเจก ระดับชุมชม และระดับสังคม ซึ่ง ดร.อดิศรได้อธิบายว่า

ระดับปัจเจก คือเราเชื่อว่าทุกๆ คนสามารถดึงศักยภาพของการเป็นผู้มาในตัวของเขาออกมาได้ ความเป็นผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องลุกขึ้นมานำคน แต่เป็นเรื่องของการนำตัวเราเอง ที่จะมองเห็นปัญหาของสังคม พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเราเองก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงส่วนอื่นๆ ของสังคม นี่คือการทำงานในระดับปัจเจกบุคคล

“ส่วนในระดับชุมชน เราเชื่อว่าจริงๆ แล้วนั้น มีคนที่ทำงานร่วมกันในชุมชนของตัวเอง อยากจะเห็นชุมชนของตัวเองดีขึ้น อยากจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาในชุมชนถูกแก้ไขให้ดีขึ้น แต่บางทีเขาอาจจะขาดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชุมชน หรือโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามชุมชน ข้ามองค์กรของเราเอง

ฉะนั้นการที่เราสร้างพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ระหว่างชุมชน หรือภายในชุมชนของเขาเองก็ช่วยให้เขาเกิดการเรียนรู้ เติบโต และงอกงามในมิติที่เขาจะพัฒนาตัวเขาเอง

ระดับสังคมนั้น เรามองว่าในการทำงานนั้น ถ้าจะสร้างให้เกิดพลังร่วม หรือที่เรียกว่า ‘ความเป็นผู้นำร่วม’ มันต้องอาศัยการสอดประสานระหว่างเครือข่าย คนทำงานทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา หรือคนอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายก็เลยเป็นเป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการผู้นำแห่งอนาคต เราก็ทำงานผ่านการจัดเวที ผ่านการทำเสนอและสื่อสารในที่สาธารณะ รวมทั้งการสร้างสื่อต่างๆ ให้คนในสังคมได้เกิดการรับรู้ และเรียนรู้แง่มุมใหม่ๆ ในการพัฒนาสังคมไปด้วยกัน”

ขัดเกลาข้างใน ลับคมข้างนอก

มากกว่าการมาพบกัน คือการเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะนอกจากโครงการผู้นำแห่งอนาคตจะเป็นพื้นที่ในการรวบรวม ‘ตัวจริง’ ของคนทำงานในแต่ละพื้นที่แล้วนั้น ยังเป็นพื้นที่ในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ ของสังคม ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มาเป็นกระบวนกรในการพาพวกเขาเหล่านั้นเข้าไปสำรวจด้านในจิตใจของตนเอง ว่าสิ่งใดคือคุณค่าที่พวกเขายึดถือ และเลือกเดินทางต่อจากนี้

“เรามีเครือข่ายของคนที่ทำงานพัฒนาเชิงศักยภาพของคน องค์กรและชุมชนค่อนข้างจะเยอะ เพราะฉะนั้น เราจึงมีทรัพยากรที่มาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ ฝึกอบรม หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเวทีที่เราให้ความสำคัญเรื่องของการพัฒนาคุณภาพภายในของผู้นำ การที่เขาเห็นความสำคัญในมิติของสังคม ในมิติที่ว่า งานของเขานั้นไปเชื่อมโยงภาพใหญ่ของสังคมอย่างไร ภาพใหญ่ของกระบวนการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยหรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในแบบไหนบ้าง เพราะฉะนั้น วิทยากรหรือคนที่เราเชิญมาช่วยในแง่ของการจัดกระบวนการเรียนรู้ก็จะมีความหลากหลาย ทั้งคนในประเทศไทยและคนต่างประเทศ” ดร.อดิศร ว่า

เช่นใครบ้าง – เราถามต่อ

“เรามี อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์ ซึ่งทำงานในเครือข่ายภาคประชาสังคมค่อนข้างเยอะ อาจารย์จะมีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการขับเคลื่อนสังคม โดยเน้นเรื่องของการกลับเข้ามาตระหนักก่อนว่า แพชชั่นหรือสิ่งที่เราอยากจะขับเคลื่อนสังคมคืออะไร

เพราะหลายครั้งเวลาที่ทำงาน เราอาจหลงลืมไปว่า จุดกำเนิดหรือว่าเป้าหมายที่เราอยากจะทำงานในการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นคืออะไร เมื่อเรามีความชัดเจนตรงนี้และเกิดการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนร่วมอุดมการณ์คนอื่นๆ จะทำให้เรามีความชัดเจน มีจุดโฟกัสในเป้าหมายที่เราอยากจะทำจริงๆ และแสวงหาวิธีการที่มันอาจจะแตกต่างจากที่เราเคยทำให้อดีต เป็นวิธีการใหม่ๆ

“อีกคนคือ อาจารย์ประชา หุตานุวัตร ผู้ที่เชี่ยวชาญประเด็นปัญหาทางสังคมและความเชื่อมโยง มองเห็นการพัฒนาคุณภาพภายในของคนที่เชื่อมต่อกับการพัฒนาสังคมในเชิงกว้าง อาจารย์ประชาก็สามารถช่วยทำให้เราได้เห็นว่า สิ่งที่เราพยายามที่จะไปเปลี่ยนแปลงข้างนอกนั้น จริงๆ มันเชื่อมร้อยกับคุณภาพภายในของตัวเราเองด้วยเช่นกัน

“หรือคุณ วิแกรม บัตต์ (Mr.Vikram Bhatt) ซึ่งเป็นคนที่ทำงานเรื่องการโค้ชชิ่ง หรือการใช้กระบวนการพัฒนาในเชิงจิตวิญญาณภายใน เพื่อช่วยทำให้คนที่เข้าร่วมในกระบวนการได้เกิดการเรียนรู้ เป้าหมายในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับงานที่เรากำลังทำอยู่ การได้เห็นว่า งานทุกงานที่เราทำอยู่มันมีความเชื่อมร้อยกับชีวิตของตัวเราอย่างไร ทำให้เราไม่แยกงานออกจากชีวิต แต่มองมันเป็นเรื่องเดียวกัน และถ้าเราต้องการที่จะไปสู่เป้าหมายข้างหน้านั้น เราต้องเริ่มต้นอย่างไรกับตัวเราเองก่อน”

ดร.อดิศร ได้ไล่เรียงบุคลากรหลายท่านที่โครงการผู้นำแห่งอนาคตได้เชิญมาเป็นผู้จัดกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน ตั้งแต่การพาเขาเหล่านั้นไปสำรวจตนเองจากภายใน ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีศักยภาพ ทว่าทุกการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องเริ่มต้นจากตนเองก่อน และเมื่อจุดโฟกัสของการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นถูกทำให้ชัดขึ้น การติดตั้งเครื่องมือ ทักษะ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเนื้องาน ของตน จึงเป็นหมุดหมายต่อมาของกระบวนการ

อดิศร จันทรสุข

จากเวทีสู่พื้นที่จริง: เราไปเพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่ผู้รู้

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น คือการทำงานปีแรกของผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งหลังจากการถอดบทเรียนของโครงการในปีแรก พบว่าวิธีการในการรวมคนมายังพื้นที่ตรงกลาง เพื่อให้เขาเหล่านั้นนำความรู้ที่ได้กลับไปทำต่อในพื้นที่ของตน อาจจะยังไม่เพียงพอ นำมาสู่ก้าวต่อไปในการทำงานเชิงพื้นที่ ที่คราวนี้ ดร.อดิศรเล่าว่า

“เราเริ่มคิดว่า ต้องขับเคลื่อนจากระดับเวทีตรงกลาง ไปสู่การทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น ดึงเอาทรัพยากรต่างๆ ไปทำงานเพื่อดึงคนในพื้นที่มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ได้ เพราะเวลาเราทำงานกับเวทีตรงกลาง คนที่จะเข้ามาร่วมในพื้นที่ก็จะมีแค่คนสองคน แต่ถ้าเกิดว่าเราลงไปทำงานกับคนในพื้นที่เลย เขาสามารถที่จะดึงเอาประชากรที่อยู่ในพื้นที่เขามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม การที่เราจะพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น เสริมศักยภาพของสิ่งที่เราคิดว่า จะช่วยทำให้คนในพื้นที่เขามีความเข้มเเข็งได้เป็นจริงมากขึ้น”

ซึ่งการทำงานเชิงพื้นที่นั้น เกิดจากการเห็นศักยภาพของผู้เข้าร่วมกระบวนการในปีแรก ด้วยเพราะเขาเหล่านั้นทำงานในชุมชนของตนเองมาเป็นเวลานาน จนเกิดความเข้าใจต่อปัญหาและความท้าทายในพื้นที่ของตน

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี 
คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“คนทำงานสองคนที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นคนที่เราเลือกทำงานในเชิงพื้นที่ต่อไป คือ พ่อมืด-ประทีป อ่อนสลุง และ พี่ไมตรี จงไกรจักร ทั้งสองคนไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการตัวเปล่านะ เขามีศักยภาพและการทำงานที่ค่อนข้างจะเข้มข้นในพื้นที่ของเขา มีความสามารถในการตกตะกอนความรู้ของตัวเองเยอะมาก การที่ทั้งสองคนได้มีโอกาสมาเข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้เจอวิทยากรและผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ผมเชื่อว่าทั้งสองคนเกิดการมองย้อนมาสู่งานที่ตัวเองทำ มองเห็นจุดเเข็งในงานของตัวเอง มองเห็นจุดที่ตัวเองสามารถพัฒนาได้อีก”

ความน่าสนใจในวิธีการทำงานเชิงพื้นที่ของโครงการผู้นำแห่งอนาคต คือการไม่ได้เข้าไปในลักษณะของ ‘ผู้รู้’ แต่คือการเข้าไปเพื่อ ‘เรียนรู้’ พร้อมๆ กับคนในพื้นที่นั้นๆ โดยการนำศักยภาพและแง่งามที่มีอยู่ของชุมชน ของคนทำงาน มาเชื่อมร้อยผ่านกระบวนการ เพื่อพัฒนาชุมชนนั้นๆ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการทำงาน

“ช่วงแรกนั้น เราส่งทีมนักวิจัยลงไปเพื่อถอดบทเรียนกระบวนการทำงานในพื้นที่ ส่งคนที่มีความรู้ความสามารถในเชิงการจัดการและสร้างธุรกิจบางอย่าง ซึ่งคนเหล่านี้มีความรู้และมีทักษะในการช่วยจัดการให้พื้นที่นั้น สามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในงานของตัวเองได้ ไม่ต้องขอทุนต่อเรื่อยๆ แต่สามารถที่จะสร้างทรัพยากรบางอย่างให้เกิดขึ้น และสามารถนำทรัพยากรนั้นกลับมาใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งพื้นที่บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี และจังหวัดพังงา ก็เป็นสองพื้นที่ในอีกหลายๆ พื้นที่ที่เราเลือกทำงานด้วยในช่วงแรก” ดร.อดิศรเล่า

อดิศร จันทรสุข

“พอทำงานไป 2-3 ปี เราพบว่า หลายๆ พื้นที่เขาเกิดการต่อยอดด้วยตัวเขาเอง คือสามารถดึงเอาความรู้บางอย่างไปประยุกต์ใช้ด้วยตัวของเขาเอง มีกระบวนการในการทำความชัดเจนให้กับงานที่ตัวเองทำก่อน สุดท้ายเราก็เลือกสองพื้นที่ที่มีศักยภาพในแง่ของการทำงานในระยะยาวต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราก็เลือกพื้นที่บ้านโคกสลุง และพังงา เพราะนอกจากคนทำงานที่เป็นตัวหลักอย่างเช่น พ่อมืด และพี่ไมตรี คนในพื้นที่เองก็มีศักยภาพจำนวนมากที่เขาจะสานพลังและทำในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของพื้นที่ตัวเองต่อไป”

ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง

เท้าความไปยังประวัติศาสตร์ของชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ที่แห่งนี้ได้เผชิญกับวิกฤตการณ์หลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากการวางผังเมืองที่กำหนดให้โคกสลุงเป็นเขตอุตสาหกรรม และการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ได้สร้างความกังวลสู่คนในชุมชนต่อการล่มสลายของสังคมชาวไทยเบิ้ง และวัฒนธธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่อาจสูญหาย หรือกระทั่งถูกลืม

“จุดแข็งของโคกสลุงคือวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน มีความน่าสนใจและสามารถเป็นต้นแบบในการสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นได้ค่อนข้างดี ซึ่งจุดแข็งของโคกสลุงไม่ใช่แค่เรื่องของวัฒนธรรมในพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของคนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน รวมทั้งคนทำงานที่เป็นผู้ใหญ่ ที่มีความเข้าใจในเรื่องของการที่จะขับเคลื่อนให้ชุมชนของตัวเองสามารถพัฒนาต่อไปได้ เขามองว่าการจะพัฒนาชุมชนต้องอาศัยสองเรื่องเป็นตัวดำเนินเรื่องคือ

“หนึ่ง-วัฒนธรรม ที่เชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตของเขา และสอง-เรื่องของเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของชุมชนนั้นๆ การที่เขาสามารถสร้างให้เกิดวิธีคิดใหม่ให้กับเยาวชนว่า คุณไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในกรุงเทพฯ แต่คุณสามารถสร้างงานของคุณได้เอง บนฐานวัฒนธรรมชุมชนของตัวเอง มันก็ทำให้เยาวชนเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้และสืบทอดวัฒนธรรมที่ตัวเอง ที่ตัวเองอาจจะมองไม่เห็นเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว

“แต่ว่าวิธีการของโคกสลุง ที่พ่อมืดช่วยสร้างให้เกิดการพัฒนาเยาวชน คือทำให้เยาวชนตระหนักและเห็นความสำคัญ เห็นความงดงามของวัฒนธรรมในพื้นที่ตัวเอง และมองว่า จุดนี้สามารถดึงมาเป็นจุดขายเพื่อทำให้คนข้างนอกที่เขาสนใจการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม สามารถเดินทางมาร่วมเรียนรู้ในพื้นที่นั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าเป็นจุดแข็งมากๆ”

 

พังงาแห่งความสุข

ส่วนพื้นที่พังงา มีสองเรื่องด้วยกันคือเรื่องราวคนทำงานที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา 15 ปี เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้น คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาและพยายามขับเคลื่อนให้พังงาเป็นพื้นที่ที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เกิดการพัฒนาในลักษณะที่ฟื้นฟูวิถีชีวิตในชุมชน ที่หลายๆ ครั้ง พอเกิดวิกฤติไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติหรืออะไรก็แล้วแต่ถูกทำลายไป เขาพยายามจะฟื้นฟูสิ่งที่มันสูญหายไปจากทั้งวิกฤติทางธรรมชาติและวิกฤติของทุนนิยมที่พยายามจะเข้ามาในระบบ 

แง่มุมที่น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ นัยหนึ่งคือ เมื่อเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของพังงา ที่เราจะพบเรื่องราวของหลายชุมชน ที่เกือบถึงคราวล่มสลายหลังการมาของสึนามิเมื่อปี 2547 ทว่าวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ถูกพลิกให้เกิดโอกาสในการฟื้นฟูบ้าน ชุมชน ความสัมพันธ์ จนก่อเกิดเป็นการทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากระดับชุมชนสู่การทำงานระดับจังหวัดพังงา บนฐานของการจัดการตนเอง โดยประชาชน โดยชุมชน

“จุดแข็งคือคนในพื้นที่มีศักยภาพสูงมากในแง่ของการทำงาน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเป็นลักษณะของต่างคนต่างทำ ฉะนั้น เมื่อคนในพังงาเกิดการรวมตัวกัน แล้วพยายามช่วยกันสกัดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา บทเรียนที่เขาได้รับจากการพยายามพัฒนาพื้นที่ของตัวเขาเอง บนฐานความรู้ ความเข้าใจ บนฐานของคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ทำให้เกิดโมเดลของการเรียนรู้และนำไปใช้ต่อในพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า คนในพื้นที่มักจะถูกทำให้อ่อนแอลงเพราะว่า เราเอาคนข้างนอกมาช่วยเยอะ เอาแหล่งทุนมาช่วยเยอะ ฉะนั้นเวลาที่คนหรือแหล่งทุนข้างนอกพยายามจะเข้ามาทำงานพัฒนาในพื้นที่ บางทีก็จะมาด้วยความตั้งใจ หรือเป้าหมายบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับคนในพื้นที่นั้นๆ จริงๆ”

ซึ่งเมื่อโครงการผู้นำแห่งอนาคตได้ศึกษาและทำความรู้จักกับคนและชุมชน วิธีการทำงานของทีมจึงเริ่มจากการพาทีมงานทำกระบวนการเพื่อถักทอความสัมพันธ์ของพวกเขา ด้วยเพราะสุดท้ายแล้ว การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่นั้นๆ จะต้องถูกกระทำโดยคนที่อยู่หน้างานจริงๆ เหตุนี้ วิธีการทำงานของโครงการจึงถูกออกแบบจากบริบทของพื้นที่และธรรมชาติของคนพังงา

“การที่เราสามารถสร้างให้กระบวนการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ เริ่มต้นจากคนข้างใน คนที่เห็นความสำคัญและคนที่อยู่ตรงนหน้างานในพื้นที่จริงๆ มันจะเริ่มต้นด้วยการที่เราทำให้เป้าหมายในการที่จะเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนามีความชัดเจน มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ นี่คือจุดแข็งของพังงาที่สามารถจะเอามาขยายต่อและเป็นบทเรียนให้คนอื่นๆ เรียนรู้ต่อไปได้”

โลกของความรู้ที่ไร้กำแพง

“ช่วงแรกๆ อย่างที่บอกว่าคนทำงานจะทำในลักษณะของการพยายามจะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นข้างหน้า และลักษณะคือเขียนโครงทุนเป็นโครงการๆ ไปเพื่อเอามาทำบางสิ่งบางอย่าง ที่เราเชื่อว่าน่าจะช่วยพัฒนาพื้นที่ของเราได้ การที่คนทำงานทั้งสองพื้นที่นี้มีประสบการณ์ มีการถอดบทเรียน ตกตะกอนเป็นเวลานานพอสมควร เราก็พบว่า จริงๆ เขามีปัญหาใดบ้างที่สามารถจะนำไปขยายต่อให้คนในพื้นที่อื่นๆ ได้เกิดการเรียนรู้ต่อไป 

“เราพยายามนำเอาการถอดบทเรียนในพื้นที่มากระจายให้เป็นหลักสูตรย่อยๆ และพยายามสร้างหลักสูตรตรงนี้บนฐานของการพยายามร่วมคิดของคนในพื้นที่ ของคนในชุมชนนั้นๆ เพราะว่าเขาจะได้เป็นเจ้าของความรู้ที่เเท้จริง”

Gen Next Academy คือโครงการที่ทางผู้นำแห่งอนาคตและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมมือกันเพื่อนำความรู้ในหลักสูตรของแต่ละพื้นที่มาสร้างเป็นคอร์สเรียนออนไลน์ ด้วยความเชื่อว่า ความรู้นั้นไร้กำแพง และการเรียนรู้จึงไม่จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่นั้นๆ ในโลกที่ถูกเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ต

“ซึ่งคอร์สเรียนออนไลน์จะเป็นลักษณะให้คนมาลงทะเบียนได้ตามหัวข้อที่เขาสนใจ โดยที่เราเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระในแต่ละพื้นที่ มีคนทำงานตัวจริงในพื้นที่นั้นๆ เป็นวิทยากร โดยตัวหลักสูตรออนไลน์เราก็ได้เข้าไปถ่ายทำกระบวนการที่เขาจัดการเรียนรู้ให้กับคนต่างๆ ที่เข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ตรงนั้น นำมาตัดต่อและนำมาเสริมกระบวนการเรียนรู้บนออนไลน์ เพื่อให้คนสามารถลงทะเบียนและเก็บสะสมเป็นหน่วยกิตได้ ถ้าในอนาคตเขาอยากนำหน่วยกิตนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในอนาคต ก็สามารถทำได้

อดิศร จันทรสุข

“ผมเชื่อว่าความสนใจของคนมีหลากหลาย บางคนอาจจะเลือกลงทะเบียนเพราะอยากรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง เป็นความบันเทิงในแง่ของการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน รวมทั้งคนที่ทำงานในพื้นที่อื่นๆ ที่อาจจะเคยได้ยินได้ฟังความสำเร็จในแง่ของการทำงานของทั้งสองพื้นที่คือ โคกสลุงและพังงา แล้วรู้สึกว่าอยากจะเรียนรู้เบื้องหลังความสำเร็จนั้น ว่ามันมีกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง เขาก็สามารถมาเลือกลงทะเบียนได้ รวมถึงคนที่อยากศึกษาตัวอย่างของความเป็นรูปธรรมในการทำงานเชิงชุมชน

“ซึ่งหลายครั้งเวลาเราอ่านจากตำรา หรือว่าเรียนรู้ภายในห้องเรียนอย่างเดียว เราก็อาจจะจินตนาการไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เห็นตัวจริงของคนในพื้นที่จริงๆ ที่เขาได้อธิบายและบอกเล่าการเรียนรู้ของเขาและคนในพื้นที่ ทั้งได้เห็นกิจกรรมบางอย่างที่เขาทำร่วมกัน ผมคิดว่า มันจะทำให้เราเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เรามีอยู่แล้วไปสู่การปฏิบัติได้”

เชื่อมโลกการศึกษา และโลกแห่งปัญญาเข้าด้วยกัน

“เราเห็นความสำคัญของ ‘พลังร่วม’ เราไม่อยากจะเป็นแค่คนให้ทุน หรือคนที่ทำงานในเชิงงานพัฒนาและพยายามจะลงไปบอก ไปสอนสั่งคนในพื้นที่ แต่เราเชื่อมั่นว่า คนในแต่ละพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาและประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมาเป็นเวลานาน

ซึ่งที่ผ่านมา พื้นที่และคนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยได้รับความสำคัญโดยเฉพาะกับโลกวิชาการเท่าไหร่ โลกวิชาการมองเขาเป็นเพียงพื้นที่ในการเข้าไปเก็บข้อมูล เก็บเสร็จแล้วก็กลับมาอธิบายภายใต้ทฤษฎีที่ทำงานอยู่ เขียนเปเปอร์ บทความวิชาการต่างๆ แล้วนำไปเสนอต่างประเทศ”

“ซึ่งเราควรต้องพลิกบทบาทระหว่างกัน หมายความว่า โลกวิชาการต้องเข้าไปร่วมเรียนรู้กับชุมชน กับพื้นที่ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น พานักศึกษา พาคนที่ทำงานกับเรา ลงไปร่วมเรียนรู้ในพื้นที่เหล่านั้น แล้วก็ลงไปช่วยกันดูว่ามีความรู้อะไรบ้างที่เราจะสามารถช่วยกันสกัดออกมา เพื่อที่จะสามารถขยายไอ้ความรู้เหล่านี้ให้มันแผ่กระจายออกไปยังวงการหรือพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

โครงการผู้นำแห่งอนาคตภายใต้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งโดยชื่อของคณะแล้วนั้น หมายถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของการเรียนรู้ในการพัฒนามนุษย์ในทุกแง่มุม ซึ่งโดยเป้าหมายตามที่ ดร.อดิศรได้บอกกับเรานั้น ไม่ต่างจากของโครงการผู้นำแห่งอนาคตในมิติของการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ดังที่เขาเล่าว่า

“สิ่งสำคัญที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์พยายามสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ การที่เราพานักศึกษาไปลงชุมชนตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 2 เพราะเราเชื่อมั่นว่าการที่เขาได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริงข้างนอก จะช่วยให้เขาเกิดมุมมองและทัศนคติบางอย่างที่ก่อนหน้านี้ เขาอาจจะไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำไปว่าโลกข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะเขาอยู่แต่ในชั้นเรียน การที่เขาได้เห็นว่าโลกมันมีปัญหา มันมีความท้าทาย และมีคุณค่าบางอย่างที่คนในพื้นที่หนึ่งๆ ยึดถือเอาไว้ ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ตรงในชุมชนกลับมาสู่โลกในชั้นเรียน เชื่อมโยงกับเนื้อหาและความรู้ที่เขาจะสามารถแตกยอดแตกหน่อต่อไปได้ ถ้าเกิดว่าต่อไปเขาจะไปทำงานในบริบทไหนก็แล้วแต่ เขาก็จะมีความยึดโยงกับความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น

อดิศร จันทรสุข

“ในช่วงแรกๆ ทุกคนจะรู้สึกงง ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำงาน ต้องลงพื้นที่ เพราะเขาก็บอกว่ามาเรียนเรื่องวิทยาการเรียนรู้ ก็น่าจะสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับชุมชนเลย แต่หลังจากที่เราค่อยๆ พาเขาไปเห็น ไปสังเกตชุมชนว่าเขาอยู่ร่วมกันอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และที่สำคัญคือ คนมีการเรียนรู้อย่างไรในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน

ผมคิดว่าเขาก็เริ่มมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่เขามองข้ามไป นั่นคือชีวิตคนและสังคมนั้นมีความซับซ้อน เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดสิน วิพากษ์วิจารณ์ หรือสร้างเครื่องมือการเรียนรู้บางอย่างขึ้นมานั้น จำเป็นต้องเข้าใจและเห็นความซับซ้อนนี้ก่อน”

เมื่อวิธีการเรียนรู้ไม่ได้อยู่เพียงหน้าสไลด์การสอน หรือบนหน้ากระดาษของหนังสือเล่มหนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่วิธีการทำงานของผู้นำแห่งอนาคตเชิงพื้นที่และการออกแบบการเรียนรู้ของคณะฯ ถูกทำให้สัมพันธ์กัน นั่นแปลว่าประสบการณ์จริงและห้องเรียนนั้นถูกทำให้ไร้เส้นแบ่ง ความเข้าใจและตระหนักถึงความจริงของสังคมจึงเป็นหมุดหมายของกลไกเหล่านี้

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นความซับซ้อนของโลกที่ไม่ได้สวยงามนักของสังคมข้างนอก เขาก็จะไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วจนเกินไปนัก เขาจะช้าลงและใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์มากขึ้นว่าถ้าในอนาคต เขาต้องไปทำงานกับคนบางกลุ่ม คนบางประเภท เขาจะต้องทำอะไร ต้องคิดถึงอะไรก่อนบ้าง แล้วเขาควรจะต้องมีท่าทีอย่างไรในแง่ของการทำงานกับคนต่างๆ เหล่านั้น”

ดินแดนแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่อยากไปเยือน 

6 ปี คือระยะเวลาการเดินทางของผู้นำแห่งอนาคต ตั้งแต่แรกเริ่มของความเชื่อมั่นในมนุษย์ สู่การลงมือทำ สังเกตได้ว่า รายทางของทีมที่ผ่านมานั้น คือการทดลอง เรียนรู้ และถอดบทเรียนอย่างเข้มข้น เพื่อพัฒนาวิธีการทำงานตลอดจนก้าวไปในพื้นที่ใหม่ๆ จากเวทีการเรียนรู้ สู่สนามชีวิตของคนในชุมชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้เส้นทางนี้พวกเขาจะเดินทางมาไกลไม่น้อย แต่ ดร.อดิศรก็เล่าว่า ยังมีสนามอีกมากมายที่โครงการและทีมงานยังอยากจะไปเยือน

“ยังมีงานอีกหลายอย่างที่เราอยากจะทำ และอยากจะเห็นมันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานภาคการศึกษา ซึ่งตอนนี้ก็เกิดดอกออกผลผ่านโครงการ ก่อการครู เราพบว่ามีครูคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ต่างๆ พอประกายไฟในตัวเขาถูกจุดขึ้น เห็นศักยภาพและการเติบโตของตัวเขาเอง เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงกับเพื่อนเครือข่ายและมันสร้างพลังร่วมบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับไฟที่ถูกจุดขึ้นแล้ว มันก็คงต้องมีการทำงานต่อเพื่อให้ไฟนี้มันถูกถ่ายทอดต่อไปสู่กลุ่มอื่นๆ”

ซึ่งตัวชี้วัดในแง่ความสำเร็จของโครงการฯ คือการที่แต่ละพื้นที่สามารถดำเนินกิจกรรมของตัวเองต่อไปได้โดยที่เราสามารถค่อยๆ ถอนตัวออกมาได้ และนำต้นแบบนี้ไปขยายกระจายต่อ เพราะแน่นอนว่าตอนนี้ความสำเร็จของพังงาและโคกสลุง จะต้องถูกนำไปพิสูจน์ต่อว่าถ้าเอาต้นแบบ วิธีคิด หรือวิธีการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่เอาไปใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป มันจะสามารถทำได้จริงหรือเปล่า หรือต้องปรับประยุกต์เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ก่อนการสนทนาจะสิ้นสุดลง เป้าหมายสูงสุดของพวกเขาคือคำถามที่เราเอ่ยไป โดย ดร.อดิศรก็ยังคงกล่าวด้วยความหนักแน่น ดังที่ย้ำอยู่หลายต่อหลังครั้งในบทความชิ้นนี้ว่า สังคมที่ดีขึ้น คือจุดหมายปลายทางที่พวกเขาอยากเห็น และกว่าจะถึงตรงนั้น สิ่งสำคัญคือการ ‘ร่วมทาง’ ของคนทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน  

“ผมเชื่อว่าถ้าสังคมเห็นความสำคัญแล้วรู้ว่า ‘อ๋อ มันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นนะ’ มันมีต้นเเบบที่เราสามารถมาร่วมเรียนรู้ได้ ผมคิดว่ามันจะช่วยสร้างกระแสบางอย่างภายในสังคม คนจะเกิดการตื่นตัวและจะรู้ว่า

สังคมไม่ควรจะรอคอยผู้นำเชิงเดี่ยว ผู้นำบางคนที่จะมาช่วยเหลือเขา แต่เขาต้องลุกขึ้นมา และทำบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตนเอง ความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเองแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็ก หรือใครก็ตาม”

 , , , ,