Deep Listening หรือ การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นทักษะที่ทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนที่อยู่ตรงหน้าที่กำลังจมอยู่กับความทุกข์ของปัญหา เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร เพียงใช้ทักษะที่ต้องหมั่นฝึกฝนเท่านั้น
ในกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง หัวใจสำคัญคือ การไม่พยายามเข้าไปควบคุมความคิดและอารมณ์ของผู้พูด เมื่อเราได้ยินสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง หรือเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เรายังคงรู้สึกตัวว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นการตัดสินผ่านกรอบความเชื่อของเรา การฝึกนั้นจะทำให้เราเข้าใจเสียงที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา และเท่าทันต่อการแสดงออกต่อคู่สนทนา กระทั่งจัดการปลดปล่อยความคิดหรือการตัดสินผิดถูกของเรา เพื่ออยู่กับการฟังเสียงคนที่อยู่ตรงหน้าด้วยหัวใจแห่งความกรุณา
Deep Listening นั้นฝึกได้ ผ่านการเข้าใจแบบจำลองโมเดลการฟังได้ 4 ระดับ เริ่มตั้งแต่ฟังอย่างหยาบเพื่อด่วนสรุป จนถึงเข้าใจความรู้สึกลึกซึ้งของผู้พูด

ระดับที่ 1 Download
ฟังยังไม่ทันจบก็ด่วนสรุปในแบบของเราเอง หรืออุทานขึ้นว่า ‘เหมือนฉันเลยๆ’ นำมาสู่การเปลี่ยนบทบาทจากคนฟังกลายเป็นคนเล่าโดยปริยาย การฟังในลักษณะนี้ หมายความว่า เรายังอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่เท่าทันการตีความ เสียงข้างในตัวเราดังกว่าเสียงข้างนอก และกลายเป็นการฟังแบบด่วนสรุป ตัดสินเรื่องราวของคนข้างหน้าด้วยประสบการณ์และความคิดของตนเอง
เช่น “ฉันเกลียดพ่อ เพราะพ่อไม่เคยฟังที่ฉันพูดเลย” ผู้ฟังฟังแล้วจึงโต้ตอบว่า “เหมือนพ่อฉันเลย พ่อฉันก็ชอบเอาตัวเองเป็นใหญ่… ”
การฟังเช่นนี้ คือการฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ฟังคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ผู้ฟังจะก็ปิดการรับรู้ไปทันที เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว รอเพียงว่าเมื่อไหร่ตนเองจะได้โอกาสพูดบ้าง
ระดับที่ 2 Debate
การฟังอย่างตั้งใจ แต่เพื่อค้นหาจุดผิดให้คนตรงหน้าเพื่อช่วยปรับปรุง หรือพัฒนาเขา เป็นการฟังแบบ ‘รอจิก’ ด้วยตรรกะเหตุผลของตัวเองเป็นหลัก (logic) ฟังโดยใช้ข้อเท็จจริงไปจับผิดกับเรื่องราวของคนพูดว่า ‘มีเหตุมีผลไหม’ โดยที่เราอาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง
ผู้ฟังอาจมีลักษณะของการมีเหตุผล และอยู่กับข้อมูล เมื่อฟังจึงมักกรองเรื่องราวของผู้เล่าด้วยข้อเท็จจริง สิ่งนี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจอีกฝ่าย เพราะยึดอยู่กับข้อมูลโดยไม่สนใจผู้พูด และทันทีที่ผู้ฟังโต้แย้งกลับผู้พูดในนามของความดีงาม นั่นหมายถึงการทำลายความรู้สึกของอีกฝ่ายทันที เพราะมัวแต่สนใจเนื้อหามากกว่าความสัมพันธ์
เช่น “ฉันไม่ชอบพ่อฉันเลย ฉันเกลียดพ่อ เพราะพ่อเจ้ากี้เจ้าการ” ยังไม่ทันฟังอย่างเข้าใจ ผู้พูดจึงโต้ตอบว่า “คนเป็นพ่อก็ต้องเป็นห่วง และอยากให้ลูกได้ดี เธอคิดมากไปหรือเปล่า”
หนักกว่านั้นคือการทำหน้าที่พิพากษา ส่วนคู่สนทนากลายเป็นจำเลยของการพูดคุย ผลของมันมักไม่เกิดดอกออกผลอะไร นอกจากความคั่งค้างในใจ และการก่อสร้างกำแพงเพื่อปกป้องความเชื่อของตนเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับ 2 ฝ่าย ทั้งเขา-เรา
ระดับที่ 3 Sensing
การฟังที่สนใจความสัมพันธ์มากขึ้น ผู้ฟังจะรู้สึกได้ว่า ผู้พูดกำลังรู้สึกอะไร อยู่ในอารมณ์ไหน รู้สึกได้ถึงสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาจากสีหน้า แววตา โทนเสียงของผู้เล่า ซึ่งการฟังลักษณะนี้ คือการค้นหาว่าสิ่งที่เขาพูดเช่นนั้นมาจากอะไร ขยายกรอบการฟังของตนเองเพื่อค้นหาว่า ข้างในเขาอยากจะบอกอะไร เพราะภาษามีข้อจำกัดที่สูงมาก และมนุษย์ไม่สามารถเล่าหรือแสดงออกได้ทั้งหมดที่รู้สึก จึงต้องอาศัยผู้ฟังอย่างลึกซึ้งเพื่อรับรู้สิ่งที่ผู้พูดต้องการจะบอก
เช่น ผู้พูดเล่าว่า “ฉันเกลียดพ่อ เพราะพ่อเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้” การฟังในระดับนี้คือการรับรู้ถึงความรู้สึกของคนตรงหน้า ว่าเขาอาจจะรู้สึกน้อยใจ เจ็บปวด และต้องการการใส่ใจ เอาใจใส่ หรือต้องการให้พ่อนั้นเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ
ระดับที่ 4 Generative
การฟังที่ลึกขึ้นอีกขั้น เช่น เรากำลังฟังเรื่องของลูกคนหนึ่งที่กำลังบ่นเกี่ยวกับพ่อ ‘ฉันโกรธพ่อ ฉันเกลียดพ่อ…’ การฟังในระดับนี้ คือฟังได้ถึงขั้นว่า เบื้องหลังความโกรธเกลียดนี้ มีความต้องการอะไรซ่อนอยู่ และรับรู้ถึงความสามารถในการให้อภัยและศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของคนตรงหน้า
“ฉันรู้สึกเจ็บปวดจากพ่อ” ในความรู้สึกนี้นั้น เบื้องลึกอาจเป็นความต้องการความใส่ใจจากพ่อ หรือมากกว่านั้น ผู้ฟังจะสามารถฟังและรับรู้ถึงระดับการเปลี่ยนแปลงในตัวของผู้พูด ในระดับความสามารถของเขาที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่ผู้พูดจะต้องกล้าที่จะสื่อสาร กล้าที่จะเปิดใจ การฟังในระดับ Generative นั้นหมายถึงการฟังในขั้นของการรับรู้ถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
การฟังลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่การที่คนฟังจมดิ่งไปกับอารมณ์ของอีกฝ่าย แต่เป็นการฟังอย่างเข้าใจ ซึ่งการจะฟังเช่นนี้ นำไปสู่การเป็นโค้ชที่ดีที่ไม่เพียงเข้าอกเข้าใจผู้พูดเท่านั้น แต่สามารถเข้าถึงศักยภาพที่แฝงอยู่ในตัวคู่สนทนา และเชื่อมโยงสิ่งที่พูด ไปสู่สิ่งที่ผู้พูดอยากจะเป็นหรืออยากจะทำให้ได้
ซึ่งหากไม่มีทักษะการฟังที่ดี เราจะจมอยู่กับความไม่รู้ และไม่เกิดการเรียนรู้ การฝึกฝนทักษะการฟังจะทำให้เราสามารถนำไปใช้ในเหตุการณ์ที่หลากหลายได้ ซึ่งในการสนทนาครั้งหนึ่ง ผู้ฟังอาจไม่ได้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์เรียกร้องให้เราต้องฟังระดับไหน
– จากเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต ตอน ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต นำโดยกระบวนกรจากสถาบันขวัญแผ่นดินโดย ณัฐฬส วังวิญญู, ประชา หุตานุวัตร