โรงเรียนของเรา เราไม่สร้างกฎเอง แต่เราสร้างข้อตกลงร่วมกัน

โรงเรียนของเรา ครูและนักเรียนจะได้เห็นว่าความสุขของตนเองคืออะไร
และความสุขของอีกฝ่ายคืออะไร เราไม่สร้างกฎเอง แต่เราสร้างข้อตกลงร่วมกัน

สร้างความสุขร่วมกันภายในโรงเรียน (Collective Happiness in School) โดยสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนในการสร้างข้อตกลงร่วม และส่งต่อความสุขให้กัน ประสบการณ์ของครูแกนนำรุ่นที่ 2 โครงการก่อการครู บทสัมภาษณ์ครูแอน – ดร.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ โรงเรียนแนวคิดใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

สำหรับคุณครูแล้ว การมีความสุขร่วมกันในโรงเรียน จะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

โดยส่วนตัวแล้ว ครูมีความเชื่อเริ่มต้นว่า เด็กนักเรียนจะเรียนรู้ได้ดี เมื่อมีความสุขกับการเรียน รักที่จะมาโรงเรียน รักการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข เวลาที่เขามีความสุข สมองเขาก็จะเปิด เขาก็จะเรียนรู้ได้ทุกเรื่องที่เขาอยากรู้ค่ะ

ทีนี้การที่เด็กๆ จะมีความสุขในห้องเรียนได้ ต้องมาจากการที่ครูมีความสุขเช่นเดียวกัน เพราะครูจะสามารถส่งต่อความสุขให้กับเด็กๆ ได้ ดังนั้นครูเองก็ต้องมีความสุขและมีความสนุกกับการสอนเด็กๆ

การสร้างบรรยาการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน
ผู้บริหารเองจะต้องมีความสุขกับงานของเรา
เพื่อส่งต่อความสุขให้กับคุณครูและบุคลากรภายในโรงเรียน

ส่วนผู้ปกครอง ครูคิดว่าถ้าเขาเห็นเด็กๆ มีความสุข เขาก็จะมีความสุขอยู่แล้ว เพราะจุดประสงค์ของเขาคือเขาต้องการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขในโรงเรียน ก็จะกลายเป็นว่า โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งความสุข ที่เราแต่ละคนมาช่วยกันเติมเต็มส่วนต่างๆ ตามเป้าหมายของตัวเอง

บรรยากาศของความสุขร่วมภายในโรงเรียนของครู มีมากน้อยแค่ไหน

โรงเรียนสุจิปุลิเป็นโรงเรียนแนวคิดใหม่ที่เราเพิ่งสร้างขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หรือปรัชญาคือเราต้องการพัฒนาเด็กให้เค้ามีสมรรถนะที่จำเป็น เพื่อให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข เป้าหมายเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่โรงเรียนกำลังพัฒนาไป

ดังนั้น เราจึงอยากจะก้าวข้ามวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมไปสู่การปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ไม่มุ่งเน้นให้ครูสอนเนื้อหาเฉพาะรายวิชา แต่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม โดยพิจารณาว่าเด็กแต่ละคนจะต้องพัฒนาสมรรถนะอะไรบ้างที่จำเป็น เอาฐานความสุขเป็นฐานแรก ตั้งแต่เด็กเดินเข้ามาในโรงเรียน ตั้งแต่การคัดเลือกครู

ทีนี้เราก็ให้ทุกคนร่วมสร้างกฎกติกาหรือข้อตกลงแบบ win-win ร่วมกัน ระหว่างผู้บริหารกับครู ระหว่างครูกับนักเรียน เพื่อจะได้เข้าใจว่าเวลาที่เข้ามาทำงานที่นี่ หรือมาเรียนที่นี่ อะไรคือชัยชนะของเขา เขาได้เห็นว่าความสุขของตนเองคืออะไร และความสุขของอีกฝ่ายคืออะไร

เราไม่สร้างกฎเอง แต่เราสร้างข้อตกลงร่วมกันแบบ win-win

เรามองว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพตามแบบฉบับของตัวเอง เราเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถจะเป็นผู้นำได้ ดังนั้นถ้าเขามีความถนัด มีความสามารถ เขาก็จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าของตนเอง รวมถึงเห็นคุณค่าในความแตกต่างของเพื่อน ๆ ด้วย

การมาเข้าร่วมโครงการก่อการครู รู้สึกอย่างไรบ้าง

จริงๆ ชอบทุกโมดูล ทุกกิจกรรมเลย การเข้าร่วมโครงการก่อการครูทำให้เราย้อนกลับมามองที่ตนเองว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าเราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเราเอง คนรอบข้างก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ที่สำคัญคือเราได้รับพลังจากคนที่คิดบวกด้วยกัน ได้เติมพลังใจ ในการทำงานของเราบางทีระหว่างทางมันเกิดข้อคำถาม แล้วโครงการก็ทำให้เรารู้ว่า

มีคนที่คิดเหมือนกับเรา มีคนที่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นจำนวนเยอะมาก
แล้วเราก็เป็นแรงหนึ่งที่สามารถขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

จากโมดูลหนึ่งซึ่งเริ่มต้นจากฐานใจ บางครั้งเรามุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว จนเราลืมที่มา ลืมตัวตน เพราะฉะนั้นโมดูลนี้จึงเป็นโมดูลที่ทำให้เราย้อนกลับมาหาตัวเองได้ชัดขึ้น เพื่อที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง นอกจากนั้นเราได้เครือข่ายเยอะมาก

การอบรมเชิงปฏิบัติการของโครง ทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย บางครั้งเรื่องที่เราเคยเรียนรู้จากหนังสือเป็นเล่ม ๆ เช่น หนังสือจิตวิทยา เราก็สามารถเรียนรู้ผ่านกระบวนการละคร รวมถึงการวิชาการวิจัยในชั้นเรียนที่ได้ลงเรียนไปวิชาเป็นครูคนใหม่ด้วยวิจัยในชั้นเรียน จากโมดูลที่ 2 โดย ผศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ

สิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นเนื้อหาเชิงวิชาการ ซึ่งค่อนข้างยาก การอบรมนี้ได้นำมาทำให้เป็นเรื่องง่าย ไม่น่าเบื่อ นอกเหนือจากเนื้อหาสาระวิชาแล้ว ยังได้เทคนิคที่จะนำมาใช้ในชั้นเรียนของพวกเรา หรือใช้ในการอบรมพัฒนาครู ได้เรียนรู้กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการรับฟังครูมากขึ้นด้วยค่ะ

 ,