ลดอัตราการเกิดในประเทศเนปาล : ด้วยการคิดเชิงระบบ

หลายคนคงเคยประสบกับภาวะเมื่อปัญหาบางอย่างได้รับการแก้ไขแล้ว ผ่านไปไม่นานปัญหาเดิมก็กลับย้อนมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากหลายครั้งการแก้ปัญหา เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่ได้จัดการกับ ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราขาดการวิเคราะห์ว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ดังนั้นเพื่อให้เกิดการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบจึงควร คิดเชิงระบบ (System Thinking) เพื่อค้นหา สาเหตุ ที่แท้จริงของปัญหาแล้วแก้ไขอย่างตรงจุด

การคิดเชิงระบบ (System Thinking)

จะพิจารณาการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ 4 ระดับ คือ

1. ระดับปรากฏการณ์ (Event) คือระดับที่ปรากฏให้รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
2. ระดับแบบแผน / แนวโน้ม (Pattern) คือการเห็นถึงลักษณะร่วมบางอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
3. ระดับโครงสร้าง (Structure) คือระบบที่ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ขึ้น
4. ระดับความเชื่อ (Mental Model) คือเห็นถึงความคิดความเชื่อที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการกระทำ

ตัวอย่างการแก้ปัญหาเชิงระบบไปถึงระดับความเชื่อและโครงสร้างที่ขับเคลื่อนให้เกิดแนวโน้มเชิงบวกที่เปลี่ยนแปลงไปจนสามารถรับรู้ได้ในระดับปรากฏการณ์ เช่น การลดอัตราการเกิดในประเทศเนปาล โดย Mr. Anil Chitrakar ผู้ก่อตั้ง Environmental Camps for Conservation Awareness (ECCA) และผู้ร่วมก่อตั้ง Himalayan Climate Initiative (HCI)

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว อัตราการเกิดของชาวเนปาลสูงถึงร้อยละ 2.6 (ระดับปรากฏการณ์) มีสาเหตุมาจากแต่ละครอบครัวมีจำนวนบุตรมากถึง 8 คน (ระดับแบบแผน / แนวโน้ม) เพราะขาดน้ำสะอาดในการบริโภคและระบบสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานส่งผลให้บุตรร้อยละ 80 ต้องเสียชีวิตลง (ระดับโครงสร้าง) จากผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวเนปาลต้องมีบุตรมากขึ้นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าบุตรสักกี่คนจะรอดชีวิต (ระดับความเชื่อ)

ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาของเขาจึงเป็นการสอนวิทยาศาสตร์เบื้องต้นให้กับเด็ก ในการผลิตสารคลอรีนอย่างง่ายเพื่อนำไปใช้ในการฆ่าเชื้อน้ำให้สะอาดก่อนจะนำมาอุปโภคบริโภค ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันหลังจากผ่านไป 30 ปี อัตราการเกิดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ซึ่งนั่นส่งผลถึงการลดลงของความยากจนอีกด้วย หนึ่งในกลไกสำคัญซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการแก้ปัญหานี้ คือ การถ่ายทอดความรู้ ที่ถูกส่งต่อเป็นทอด ๆ จากเด็กที่พร้อมจะเรียนรู้ไปสู่พ่อแม่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการแก้ปัญหาด้วยการคิดเชิงระบบ (System Thinking) ของ Mr. Anil Chitrakar ผู้ก่อตั้ง Environmental Camps for Conservation Awareness (ECCA) และผู้ร่วมก่อตั้ง Himalayan Climate Initiative (HCI)

รับชมวิดีโอวิดีโอการนำเสนอตัวเต็มของ Mr. Anil Chitrakar ได้ที่ https://youtu.be/Zd1eByvCDOI

เวทีสัมนานานาชาติ Leadership for the Future : Nourishing Community for Social Change วันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2561

ข้อมูลเรื่อง การคิดเชิงระบบ (System Thinking)
จากหนังสือ : คลังความรู้ผู้นำแห่งอนาคต (ความรู้ฉบับพกพา)

Download book : https://goo.gl/uvXqud

 ,