เรื่องเล่าจากชุมชน พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกสลุง

สรุปบันทึกการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง เรื่องเล่าจากชุมชน (Creative Communication for Change) ครั้งที่ 1

วันพุธที่ 21 – วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2561
ณ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
โดยโครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการผู้นำแห่งอนาคตจัดเวิร์กช็อปเรื่องการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ให้กับภาคีเครือข่ายของโครงการจากอุดรธานี ขอนแก่น เชียงราย และโคกสลุง โดยเชิญกลุ่มมะขามป้อมมาเป็นกระบวนกรจัดกระบวนเรียนรู้เรื่องการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยดึงเอาเรื่องราวดีๆ และเป็นประโยชน์ไปให้คนอื่นได้รับรู้ รวมถึงตัวเองเกิดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

ภาพรวมของเวิร์กช็อปเรื่องเล่าจากชุมชน หนึ่ง คือการถ่ายภาพอย่างไรให้เล่าเรื่องที่ดึงเอาเสน่ห์ของความเป็นชุมชน มิติความมนุษย์ออกมาสื่อสาร เชื่อมโยงกับการเขียนที่สื่อสารความคิดภายในด้วยกระบวนการที่สนุก เรียกว่า สอง การเล่าเรื่องชุมชนผ่านวิดีโอคลิป ด้วยกระบวนการวางแผน ถ่ายทำและตัดต่อ สุดท้ายเป็นการสรุปบทเรียนการเรียนรู้ในกระบวนการสื่อสารและการนำไปใช้ต่อในพื้นที่ของแต่ละคน

หลังจากเริ่มต้นเวิร์กช็อปด้วยกิจกรรมสันทนาการและทำความรู้จักกันแล้ว กระบวนกรให้แต่ละคนกลับมาสนทนากับตัวเองและทำงานกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ มากกว่าการมอง ออกไปเดินหาสิ่งที่รู้สึกชอบผ่านเฟรมกระดาษเล็กๆ แล้วเอาไปติดไว้ตรงตำแหน่งที่ต้องการ ก่อนจะพาเพื่อนๆ 4 คนไปดูงานของกันและกันในมุมมองที่ใกล้เคียงกับผู้ถ่ายภาพให้มากที่สุด ก่อนจะช่วยสะท้อนสิ่งที่เห็น รู้สึกและคิดต่อรูปในเฟรม แล้วเจ้าของภาพอธิบายความคิดในการเลือกเฟรมให้ฟังในตอนท้าย แล้วจึงสะท้อนในกลุ่มย่อยถึงความรู้สึกและการเรียนรู้ในตอนเดินหาภาพ รู้สึก ไปติด และตอนที่พาเพื่อนไปดู ก่อนจะแบ่งปันในวงใหญ่ บางคนบอกว่ารู้สึกว่าการมององศา ระยะที่ต่าง จะเห็นภาพที่ต่างกัน เวลาบรรยายออกมาก็ต่างกันไป เพราะประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เลยพูดออกมาจากมุมมองของแต่ละคน หรือการที่เราได้ดูภาพ สะท้อนผลงานของเพื่อนและของตัวเอง ทำให้เราได้เรียนรู้ความเป็นเขาด้วย และเขาได้เรียนรู้เราด้วย

กระบวนกรกล่าวเสริมเรื่องกระบวนการสื่อสารว่า หนึ่ง ผู้สื่อสารต้องรู้ว่าตัวเองจะมองหาหรือให้คุณค่ากับอะไร รวมถึงได้พบเจอมุมมองของคนอื่นที่อาจจะให้คุณค่าต่างออกไป สอง การสื่อสารเป็นเรื่องของภายใน ภายนอก การค้นหาภายในตัวเองและออกไปสัมผัสโลกภายนอกด้วย สาม การสื่อสารเป็นเรื่องในกรอบ นอกกรอบ การเลือกเรื่องที่จะเล่า ผู้สื่อสารต้องกลับมาสู่ภายในว่าตนเองเป็นคนอย่างไร มีมุมมองอย่างไร สี่ ใช้ความรู้สึกก่อนความคิด เพราะเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนจับต้องได้และมีเท่าๆ กัน ทำให้งานมีความจริงใจ การเล่ามีพลังกว่าการใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว ห้า วิธีการพัฒนางานสื่อสารอย่างหนึ่ง คือ ฟังคนอื่นว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งเดียวกัน เพราะจะเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองกันและกัน

กล่าวโดยสรุป เรื่องกรอบในการมองเป็นจุดบรรจบโลกภายในของผู้สื่อสารและโลกภายนอก เป็นเส้นคั่นบางๆ ที่นำเสนอโลกทัศน์ของผู้สื่อสารกับโลกทัศน์นอก สภาวะภายในของการสื่อสารจึงสำคัญมากในกระบวนการเล่าเรื่อง

วันแรก

หลังจากทำความเข้าใจเรื่องกรอบการมองแล้ว กระบวนกรกล่าวถึงเทคนิคการถ่ายภาพสามแบบ คือ การใช้ความรู้สึก ความคิด และจินตนาการ กับนำเสนอเทคนิคการทำให้คนดูภาพเกิดความรู้สึกและเข้าใจแบบเดียวกับผู้ถ่ายภาพที่เรียกว่า Street photo ว่าด้วยองค์ประกอบภาพที่สร้างความน่าสนใจ 5 อย่าง คือ

หนึ่ง ฉากที่โล่งๆ สะอาดๆ จะทำให้สิ่งที่อยู่ข้างหน้าชัดเจน สอง การเล่นกับสี จับสีเดียวกันหรือสีตัดกันมาอยู่ในเฟรมเดียวกัน สาม การเล่นกับแสงเงา ทำให้ลึกลับดึงดูดน่าสนใจ มากกว่าจะถ่ายภาพชัดไปหมด สี่ ท่าทางของคนหรือสิ่งมีชีวิต การจับคนที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาอยู่ในเฟรมเดียวกัน ห้า สัญลักษณ์ การใช้สิ่งของแทนความหมาย เช่น ทำให้นึกถึงเรื่องราว ปัญหา หรือความขัดแย้งบางอย่าง เป็นต้น แล้วให้แต่ละคนใช้มือถือของตนเองถ่ายภาพตามองค์ประกอบ 5 แบบ แบบละหนึ่งภาพ ในเวลา 15 นาที ก่อนจะจับกลุ่มสามคน เลือกภาพ 5 แบบที่ถ่ายไว้มามาแบ่งปันให้เพื่อนดู

หลังจากทำแบบฝึกหัดเทคนิคการถ่ายภาพ เป็นการลงพื้นที่จริง ใช้ sensing ของตัวเองถ่ายภาพในชุมชนหมวดละหนึ่งภาพ คือ หนึ่ง คนที่น่าสนใจในชุมชน สอง สถานที่น่าสนใจ สาม สิ่งของ/สัญลักษณ์ ของดีประจำชุมชน สี่ ท่าทางคน ห้า ภาพที่เรารู้สึกว่าพิเศษ แล้วเลือก 5 รูปที่ดีที่สุด จับคู่แลกเปลี่ยนกับเพื่อน ก่อนจะเลือกเพียงรูปเดียวที่คิดว่าจะเป็นตัวแทนโคกสลุงที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม กระบวนกรอธิบายว่าในการทำงานจริง กระบวนการถ่ายรูปจะไม่ตั้งโจทย์ก่อนว่าในชุมชนมีอะไรน่าสนใจ แต่จะใช้ sensing ของแต่ละคนไปสำรวจสภาพชุมชนแล้วถึงเลือกถ่าย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะไม่ได้แค่เพียงรูปถ่าย แต่ยังเกิดกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอีกด้วย

เมื่อได้ภาพถ่ายที่น่าสนใจแล้ว จึงนำมาเชื่อมโยงกับงานเขียนเป็น Photo essay โดยกระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมแบ่งกระดาษออกเป็นสามส่วน นึกถึง 5 ภาพที่ตนเองถ่ายมาโดยเฉพาะภาพสุดท้ายที่เลือก ช่องแรก เขียนว่าภาพให้ความรู้สึกอะไรจากการดู ช่องสอง การเดินถ่ายภาพชุมชนโคกสลุง ทำให้เห็นอะไร อาจจะเป็นข้อมูลหรือความจริงที่เห็นได้ด้วยตา ช่องสาม สิ่งที่อาจจะไม่เห็นด้วยตา แต่ซ่อนอยู่ในภาพ

เมื่อได้กลุ่มคำมาแล้วจำนวนหนึ่ง ให้แบ่งโครงเรื่องออกเป็น start – story – stop ย่อหน้าแรกสุด ทำหน้าที่เปิดเรื่อง แนะนำสถานที่ เชิญชวนผู้อ่านเข้ามาในโลกของเรื่องเล่า ก่อนจะเปิดตัวละครหลัก แล้วค่อยๆ พัฒนาเรื่องให้เข้มข้น บอกเล่าความจริงที่ซ่อนอยู่ พัฒนาไปสู่ปมขัดแย้ง จนไปถึงจุดสูงสุดของเรื่อง แล้วจึงคลี่คลาย ขยายทางออก หรือขมวดปมความคิดบางอย่างปิดท้าย โดยการเลือกคำที่มีอยู่ มาใส่ในส่วนหัวเรื่องประมาณ 3-4 คำ กลางเรื่องประมาณ 5-6 คำ และท้ายเรื่องอีก 2-3 คำ แล้วเชื่อมโยงขยายความจากคำไปเป็นประโยคและย่อหน้าตามลำดับ วิธีการดังกล่าวเรียกว่า from plot to story

กระบวนการสำคัญถัดไปคือการจับคู่สองคนแลกเปลี่ยนกันด้วยการอ่านออกเสียงงานของตนเองให้เพื่อนฟัง และให้เพื่อนแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้รับสาร แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขอีกรอบหนึ่ง พร้อมกับตั้งชื่อเรื่อง ติดภาพในกรอบรูปกระดาษ แล้วนำไปจัดนิทรรศการ

วันที่สอง

เริ่มด้วยการแบ่งกลุ่มสามคนสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการเมื่อวาน บางคนพบว่าการเขียนเป็นเรื่องสนุกสำหรับตัวเองในการหาคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร บางคนเป็นคนใน แต่กระบวนการดังกล่าวทำให้มีมุมมองที่เปลี่ยนไป เกิดความรู้สึกใหม่และตีความใหม่ต่อสิ่งเดิม คือมีการปรับกรอบ เปลี่ยนแว่น เห็นมุมมองอื่นๆ โดยกระบวนการสื่อสารชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่การนำเรื่องราวออกไปให้คนอื่นรับรู้ แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้สื่อสารอีกด้วย ทำให้รู้จักชุมชนในมิติที่ต่างออกไป กระบวนการดังกล่าวจึงทำกับเด็กที่อยู่ในชุมชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

หลังจากสื่อสารด้วยการถ่ายภาพและเขียนแล้ว จึงขยับมาสู่การทำสื่อวิดีโอ ด้วยการจับกลุ่ม 5 คน ช่วยกันค้นหาสิ่งที่ต้องการจะเล่าเกี่ยวกับโคกสลุง ในเวลา 15 วินาที แล้วจับกลุ่มสิ่งที่เขียน หนึ่ง คน สอง สถานที่ สาม สิ่งที่น่าสนใจ สี่ วิถีชีวิต เป็นต้น แล้วให้กลุ่มเลือกสิ่งที่ต้องการจะเล่ามาหนึ่งหมวด ระดมว่ามีความน่าสนใจอะไร เลือกมาหนึ่งอย่างให้เป็นตัวละครหลัก เขียนเป็นหัวข้อลงกลางกระดาษ ก่อนจะขยายประเด็นที่กลุ่มเลือกให้ชัดเจน ผ่านการถามตอบกันเองหรือเข้าไปค้นข้อมูลในกูเกิลให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเลือกมาประมาณสามคำถามที่กลุ่มอยากรู้คำตอบ เช่น หาว่ากำลังจะเล่าอะไร ขอบเขตว่าประเด็นที่สนใจคืออะไร และจะเล่าอย่างไร เช่น ละคร สัมภาษณ์ สารคดี เอ็มวี จดหมายเหตุ รีวิว เป็นต้น

กระบวนกรเสริมว่าการเล่าเรื่องด้วยวิดีโอให้สนุก มีหลายเทคนิค คือ หนึ่ง สร้างประสบการณ์ร่วมกับคนดู สอง ขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ สาม ตลกแบบจริงจัง ตลกหน้าตาย สี่ ใช้อุปมาอุปมัย ไม่เล่าตรงๆ ห้า ตั้งคำถามท้าทายความเชื่อเดิม หก ผิดที่ผิดทาง นำสิ่งที่ไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยกันแบบมีเหตุมีผล เจ็ด ทำสิ่งไม่มีชีวิตให้มีชีวิต แปด เอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวกันมาเล่าด้วยความจริงจัง ก่อนที่กระบวนกรจะให้ดูตัวอย่างวิดีโอการใช้เทคนิคแต่ละอย่าง

หลังจากแนะนำเทคนิคต่างๆ แล้ว จึงให้แต่ละกลุ่มพูดคุยแบ่งหน้าที่ ใครเป็นผู้กำกับ ใครเป็นตากล้อง สถานที่ถ่ายทำ และวิธีการถ่ายทำที่ต้องการ ก่อนจะลงมือถ่ายวิดีโอจริงในเวลาสองชั่วโมง

เมื่อทุกกลุ่มถ่ายทำเสร็จแล้ว กระบวนกรจึงสอนการตัดต่อด้วยโปรแกรม FilmoraGo พร้อมๆ กับแต่กลุ่มช่วยกันตัดต่อวิดีโอจนเสร็จ และดูคลิปวิดีโอของทุกกลุ่มร่วมกันในช่วงค่ำ

วันที่สาม

เป็นการสรุปบทเรียนสิ่งที่เรียนรู้ร่วมกันมาสองวันที่ผ่านมา เรื่องการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องชุมชน และการนำประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากให้แต่ละคนทบทวนความรู้สึกของตัวเอง แล้วจับคู่นั่งตรงข้ามแลกเปลี่ยนอธิบายความรู้สึกในตอนเช้าให้กันฟัง และแลกเปลี่ยนร่วมกันในกลุ่มทำวิดีโอว่า หนึ่ง กระบวนการทำงานกลุ่มเป็นอย่างไร สอง ผลการเรียนรู้สองวันที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการเรียนรู้อย่างไรในแต่ละคน ก่อนจะแบ่งปันในวงใหญ่ ซึ่งกระบวนการสรุปออกมาได้หลายประการ เช่น

เห็นเรื่องความแตกต่างหลากหลาย เป็นจุดใหญ่มากของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่หรือโลกอนาคตต่อไป เรื่องความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นทักษะที่ต้องดูจากยูทูบไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ได้ ต้องฝึก ต้องทำ จากการเจอด้วยประสบการณ์ของตัวเอง

การต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าไม่เห็นเป้าหมายร่วม จะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์สุดท้ายอย่างไร การเข้าใจเป้าหมายร่วมกันหรือ shared vision จำเป็นสำหรับการทำงานเป็นทีมหรือองค์กรการเรียนรู้

การแตะไปถึงความรู้สึกของผู้รับสารมีความสำคัญมากในการสื่อสาร แต่ก่อนจะสื่อสารไปถึงคนอื่น ผู้สื่อสารจะต้องแตะถึงหัวใจของตัวเองก่อน ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แล้วดึงความรู้สึกออกไปสู่คนอื่น

หลังจากกระบวนกรช่วยขมวดสิ่งที่ทำในสองวันที่ผ่านมาตามลำดับขั้นตอน ยังเพิ่มเติมหลักการทำงานสื่อสารสามข้อ คือ หนึ่ง ถามตัวเองให้ชัดว่า why เรื่องที่ต้องการจะสื่อมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องสื่อสาร สอง what แล้วจะเล่าอะไร ตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การหาคำตอบ และสาม how จะสื่อสารอย่างไร ปัจจุบันภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนสามารถทำสื่อเองได้ อยู่ที่ว่ามีเนื้อหาดีพอที่จะทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกหรือความเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้หรือเปล่า

กิจกรรมสุดท้าย เป็นการแบ่งกลุ่มตามพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง

สามารถรับชมบันทึกฉบับเต็มได้ ที่นี่

 , , , , , ,