จิตวิทยาเชิงบวก สู่การใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจ

จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)

สู่การใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข: จิตวิทยาเชิงบวก (Postive Psychology) เป็นจิตวิทยาแนวทางใหม่ซึ่งศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านบวก มีความสุข และเกิดพฤติกรรมเชิงบวก ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้ การทำงาน และการดำเนินชีวิตได้

โดยนักจิตวิทยาเชื่อว่าถ้าสามารถหลีกเลี่ยงการสร้างอารมณ์ด้านลบ จากการถูกเปรียบเทียบ ตำหนิ และลงโทษ จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะการต้องเผชิญกับความรู้สึกด้านลบอยู่ตลอด จะทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบป้องกันความผิดพลาด ติดอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort zone)

ในวันที่ 17 – 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการก่อการครูจึงได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ จิตวิทยาเชิงบวกและกระบวนการเรียนรู้ (Positive Psychology and Learning) โดยมี ผศ.นพ.พนม เกตุมาน อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.สุรวิทย์ อัสพันธุ์ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกระบวนกร

เวทีนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นครู เข้าใจหลักจิตวิทยาเชิงบวก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน และสถานศึกษาของตนได้

หลักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) โดย Martin Seligman ที่วิทยากรนำเสนอ สามารถสรุปหลักได้ 5 องค์ประกอบ คือ P – E – R – M – A

P – Postive Emotion คือการมีความรู้สึกเชิงบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย อยากรู้ อยากเอาชนะ ชื่นชมตนเอง และชื่นชมผู้อื่น

E – Engagement คือการมีส่วนร่วมในกิจกรรม การเรียนรู้ การทำงาน มีส่วนในการรับผิดชอบ มีส่วนในการเป็นเจ้าของ

R – Relation คือการมีปฏิสัมพันธ์ มีความร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) มีการสื่อสาร (Communication) มีการแบ่งปันทุกข์สุข (Sharing)

M – Meaning คือสิ่งที่ทำมีคุณค่าและมีความหมาย ต่อเป้าหมายของชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นแรงจูงใจให้ทำต่อไป

A – Accomplishment คือการได้กระทำสิ่งนั้นจะทำให้เกิดความสำเร็จ ทั้งเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้เกิดการเรียนรู้ ได้ทักษะ ได้ทัศนคติ รวมถึงเรื่องสำคัญอย่างการสำเร็จโจทย์เป้าหมายของชีวิต

กระบวนกรได้นำเสนอหลัก P – E – R – M – A ผ่านการทำให้เห็นว่าทั้ง 5 ส่วนประกอบนี้เกิดขึ้นในห้องเรียนได้อย่างไร โดยให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสประสบการณ์ตรงเพื่อเรียนรู้หลักการและการนำไปปรับใช้ (Experiencial-based learning)

ตลอดการเรียนรู้ กระบวนกรได้ใช้การเรียนรู้ร่วมกันและสะท้อนคิด จากโจทย์สถานการณ์ต่างๆ ทั้งที่มาจากผู้เข้าร่วมเอง และการกำหนดสถานการณ์จำลอง โดยได้เสริมเติมเต็มทฤษฎีต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วมเพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากขึ้นอีกด้วย

วินัยเชิงบวก (Positive Discipline)

ทำให้คนตระหนักถึงเหตุผลของการที่ควรมีวินัย ว่าจะทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองและสังคมอย่างไร แทนการปฏิบัติด้วยความหวาดกลัวต่อการถูกลงโทษ และเรื่องแรงขับจากภายนอก (Extrinsic Motivation) และแรงขับจากภายใน (Intrinsic Motivation) ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนในระดับต่างๆ ที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการกระทำ เป็นต้น

หากสนใจเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเชิงบวก ยังมีให้สมัครเข้าร่วมได้อีก 1 วิชา จิตวิทยาเชิงบวก สู่การแนะแนวเชิงรุกในสถานศึกษา รับสมัครถึงวันที่ 11 กันยายน 2562 http://bit.ly/2HlGivb

กิจกรรมเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาเชิงบวกและกระบวนการเรียนรู้ (Positive Psychology and Learning) ส่วนหนึ่งของโครงการก่อการครู วันที่ 17 – 18 สิงหาคม 2562 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศีกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 , ,