เราไม่ได้ตายด้วยสึนามิ แต่เราตายเพราะชุมชนไม่มีความพร้อม
ชุมชนเราไม่มีความเอื้อเฟื้อ และตายเพราะเราไม่ได้เรียนรู้
ต้นปี 2547 คนบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เริ่มได้รับข่าวสารการแจ้งเตือนของ ดร. สมิทธ ธรรมสโรช ถึงการจะเกิดเหตุการณ์สึนามิ แต่ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงเพิกเฉยการเตรียมพร้อมรับมือให้กับประชาชน
“เราเช่าหนังเกี่ยวกับสึนามิมาดูกัน เกือบทั้งปีพอตกกลางคืนเราจะให้ผู้หญิงและเด็กไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เราไม่รู้ว่าจะเกิดตอนไหน แต่เชื่อว่าจะเกิดแน่ๆ วันเกิดเหตุมีคนอยู่ริมทะเลร้องตะโกนว่า มาดูเร็ว ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น น้ำทะเลลดลงเร็วมาก พี่ชายผมก็วิ่งไปดู ด้วยความที่เขาศึกษาจากหนังสึนามิมาก่อน จึงตะโกนบอกว่า นี่แหละสึนามิ ผมและพี่ชายทั้งจูงทั้งลากพ่อแม่หนีไปอยู่บ้านพี่สาวบนที่สูง”
แม้จะมีคนตะโกนให้หนี แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อ เพราะไม่เคยเห็นไม่เคยเจอเหตุการณ์มาก่อน
เราไม่ได้ตายด้วยสึนามิ แต่เราตายเพราะชุมชนไม่มีความพร้อม
ชุมชนเราไม่มีความเอื้อเฟื้อ และตายเพราะเราไม่ได้เรียนรู้
ตอนที่ ดร.สมิทธ เตือน ถ้ารัฐบาลหรือใครให้ความสนใจ เราจะตายน้อยกว่านี้
การช่วยเหลือมาช้าไป 3 วัน ศพบางศพยังอุ่นๆ แสดงว่าพึ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน จากการเก็บข้อมูล การที่ไม่สามารถอพยพได้ทันเพราะถนนแคบ ในตอนต้องหลบหนีหลายคนยังพยายามขนสมบัติไปด้วย ทำให้มีรถกีดขวางทางสัญจร เมื่อคลื่นสงบลงกระแสไฟฟ้ายังคงอยู่ ทำให้บางคนเสียชีวิตเพราะไฟดูด บ้างก็ถูกกระแทกด้วยซากปรักหักพัง และบ้างส่วนก็เสียชีวิตลงด้วยแผลเล็กน้อยแต่ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิตตามทะเบียนราษฎร์ 860 คน แต่คนในพื้นที่ต่างรู้กันดีว่ามากกว่านั้น เพราะยังมีคนมาอยู่อาศัยชั่วคราวจำนวนมาก และยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน รวมแล้วผู้เสียชีวิตไม่น่าจะน้อยกว่า 1,200 คน

สะสางทีละเรื่อง เรียนรู้ทีละอย่าง
หลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติ เมื่อชาวบ้านต่อสู้ที่จะอยู่ที่เดิม รักษาความเป็นบ้านน้ำเค็ม จึงต้องสร้างระบบเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ พวกเขาเริ่มการ ต่อสู้ด้วยข้อมูลที่ละเอียดยิบ ข้อมูลจำนวนคน แหล่งเชื้อเพลิง ถนน รถยนต์ เพราะหากแม้ถนนแคบแต่ถ้าไม่มีอะไรมาขวางก็เพียงพอต่อการสัญจร ตอนนั้นเรารู้แล้วว่า ถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียจุดที่ทำให้เกิดสึนามิรอบนี้ มันมีเวลาการเดินทางของคลื่นกว่าจะมาถึงบ้านเรา 45 นาที เวลาเท่านี้เราจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร แผนงานยังมีอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่การจัดระเบียบชุมชน คนในชุมชนต้องทำตามขั้นตอนอย่างไร แต่ละซอยต้องช่วยกันดูแลกันเอง รับทราบจำนวนคนเปราะบาง เอกสารสำคัญอยู่ในกระเป๋าเดียวกัน รวมถึงมีข้อตกลงจุดที่ปลอดภัย มีการอบรมการปฐมพยาบาล เป็นต้น
“จะบอกว่า พวกเราตลกมาก ทุกเรื่องคือการลองผิดลองถูก
เจอปัญหาเราก็แก้ไปทีละเรื่อง”
การได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก และฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกัน คือ การหลอมรวมความเป็นผู้นำร่วม (Collective leadership) ของคนในชุมชนที่ก้าวมาเป็นทีมงาน แต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่ในฝ่ายต่าง ๆ ตามความจำเป็น เช่น ฝ่ายอาคาร ฝ่ายจราจร ฝ่ายสื่อสาร ฝ่ายปฐมพยาบาล รวมทั้งฝ่ายลงทะเบียน ทีมงานค่อย ๆ ทำ จนเรียนรู้แผนงานทั้งหมดลงตัวในปี 2551 และทำการซ้อมแผนอพยพเป็นประจำจนเป็นวิถีชีวิตของคนบ้านน้ำเค็ม
เพราะมีประสบการณ์ความสูญเสียจากภัยพิบัติมาก่อน ทำให้ทีมงานทุกคนปวารณาตัวที่จะนำความรู้ ทักษะ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยทั่วประเทศ เพราะซาบซึ้งถึงความช่วยเหลือยามเมื่อบ้านน้ำเค็มประสบภัยสึนามิ แต่การไปช่วยเหลือของทีมงานมีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ไม่ได้ไปช่วยแบบสงเคราะห์ แต่เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถลุกขึ้นมาด้วยตัวเองได้ และเมื่อช่วยตนเองได้แล้วก็สามารถช่วยคนอื่นต่อไปได้ด้วย’ ในขณะเดียวกันการออกไปช่วยเหลือตามที่ต่าง ๆ เป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับทีมงานภายใต้ปฏิบัติการจริง จนทุกวันนี้ทีมงานได้หลอมรวมความเป็นทีมอย่างเหนียวแน่น และมีความเชี่ยวชาญการช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติทุกด้าน
เรื่องเล่าจากหนังสือ พังงาแห่งความสุข สุขที่คุณสัมผัสได้
ดาวน์โหลดหนังสือ : https://goo.gl/hDWdqB