ความสุขของคนทำเพื่อ ‘คนชายขอบ’

ความสุข (Happiness) ของแต่ละคนเป็นเรื่องปัจเจก แต่ความสุขล้นปรี่ของ อู๊ด – ทวีศิลป์ หงษ์​หิน​ ซึ่งเป็นการได้ทำงานเพื่อคนชายขอบ ให้โอกาสแก่เพื่อนร่วมสังคมที่ใครหลายคนมองข้าม อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการมองหาโอกาสที่จะใช้ทักษะความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม และตั้งคำถามเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง (Active citizen) ที่ทุกคนควรมีส่วนในการตระหนักรับรู้และมีส่วนในการรับผิดชอบ

อู๊ดมาทำงานอยู่ในมูลนิธิบ้านครูน้ำได้อย่างไร

ผมเป็นเด็กในอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ก่อนจะมาทำงานกับ ครูน้ำ – นุชนาถ บุญคง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือและอุปการะคนชายขอบ ในวัยเด็กผมก็ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป ทดลองข้ามไปด่านพรมแดน ไทย-เมียนมา ที่เปิดให้ข้ามฟรีเพียงแสดงการเป็นนักเรียน แต่พอข้ามไปที่สะพานข้ามพรมแดนกลับมีเด็กหลายคนดึงทึ้งเสื้อนักท่องเที่ยวเพื่อขอเงิน ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่โดน ผมบอกปฏิเสธไปว่าไม่มีให้  ด้วยคำหยาบคายตามประสาเด็ก วันนั้นเสื้อผ้าเลอะเปรอะเปื้อนหมดเลย

เวลาผ่านไปคำถามก็เกิดขึ้นว่า ทำไมเด็กพวกนี้มาอยู่ตรงนี้ ไม่ไปที่อื่นกันบ้างหรอ ผมไม่ได้มีความเข้าใจพวกเขามากขึ้น จนตอนผมอยู่ ม.ปลาย กำลังจะเลือกมหาวิทยาลัยเข้า สถาพแวดล้อมในชุมชนที่ผมอยู่ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป มันทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้งว่า คนพวกนี้มาจากไหน ทำไมไม่หมดไปเสียที ผมเลยตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อหาคำตอบ

ปี 4 ช่วงเลือกถานที่ฝึกงาน ตอนแรกผมตั้งเป้าไปที่โบสถ์เพราะอยากทำงานให้ความรู้ แม้ตัวผมจะไม่มีความรู้มากนัก (หัวเราะ) แต่กลับมาสะดุดตากับ มูลนิธิบ้านครูน้ำ ที่ตั้งอยู่ในชุมชน แต่ไม่ได้คุ้นชินและมีข้อมูลมาก่อนมากนัก จนมาได้ข้อมูลจากแม่ว่ามูลนิธินีตั้งอยู่ที่นี่มานานแล้วทำเรื่องการช่วยเหลือเด็กชายขอบ ผมเลยฉุกคิดว่า จะดีกว่าไหมถ้าจะเลือกมาฝึกงานที่นี่

ครูน้ำ – นุชนารถ บุญคง

วินาทีแรกที่เข้ามาทำงาน ผมยังไม่รู้แน่ชัดว่าครูน้ำเป็นใคร ตอนนั้นผมคิดว่าครูน้ำแกน่าจะเป็นคนชนเผ่าหรือสายติสต์แน่เลย ด้วยแกมีภาพลักษณ์เป็นแบบนั้น (หัวเราะ) วันแรกของการฝึกงาน ผมก็ใส่ชุดนักศึกษาไปเต็มยศ ทั้งเนคไท แสลค รองเท้าหนัง เพราะคิดว่าระบบของการฝึกงานน่าจะต้องเป็นอะไรแบบนั้น เพราะแบบนั้นมั้งครับท่าทีตอนแรกครูน้ำเลยดูไม่ค่อยอยากคุยกับผม

วันนั้นเป็นวันที่ผมได้โอกาสกลับไปสำรวจสะพานเดิมอีกครั้ง ครูน้ำบอกว่าจะไปดูเด็ก ๆ ผมเองก็มีความสงสัยคาใจเป็นทุนเดิมเหมือนกัน พอไปถึงเด็กคนหนึ่งถามผมด้วยคำหยาบ มึงมาทำอะไร อาจเพราะการแต่งตัวของผมที่ดูไม่เข้ากับสถานที่ด้วย ผมเลยลองนำหลักจิตวิทยาเรื่องการมองคนที่เรียนมาไปใช้ มันใช้ไม่ได้ครับ หลังจากวันนั้นผมก็ยังโดนด่าทุกวัน หลักที่ผมเรียนมาผมทิ้งหมดเลย ตอนนั้นก็ท้อเหมือนกัน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เด็กพวกนี้ด่าเราตั้งแต่อยู่ ม.3 จนมาฝึกงานก็ยังด่าอีกหรอวะ ด่าไม่มีวันสิ้นสุด

ผมเลยไปคุยกับครูน้ำ ครูครับ ผมไม่โอเคเลย โดนด่าทุกวัน ชีวิตผมไม่เคยโดนด่าอะไรขนาดนี้มาก่อน เด็กด่าหยาบคาย มึงมาทำอะไร พ่อมึง ครูสอนว่า

เขาก็เป็นคนเหมือนเรา มันอยู่ที่เราว่าจะทำอย่างไร ต้องลองเปิดใจ ลองคิดว่าเขาเป็นน้องไม่ใช่คนที่เราจะต้องทำงานด้วย ถ้าเราลองมองมุมใหม่ก็จะเห็นมุมต่าง

ทีนี้ผมก็มองใหม่ คิดในใจ เอาวะ น้องๆ แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ร่วมจัดค่ายจิตอาสา ผมก็บิดลูกโป่งเป็นรูปสัตว์แจกเด็ก ๆ มีน้องคนหนึ่งที่ด่าผมตั้งแต่ตอนฝึกงานยืนมองผมอยู่ไกลมาก ผมก็สังเกตปฏิกิริยาว่าเขาจะเข้ามาไหม ผมบิด ๆ ไปสักพักเขาก็เดินเข้ามาถามว่า พี่ ๆ อยากกินน้ำมั้ย เขาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับผมครับ ผมตอบไปว่า อยากสิ น้องเขาไปเอาน้ำมาให้ เราเริ่มคุยกันมากขึ้น ความสัมพันธ์มันเริ่มยืนยาว การที่เรายอมเปิดใจซึ่งกันและกัน มันทำให้เราเชื่อมโยงถึงกันได้ ตอนนี้เขากลายเป็นน้องคนสนิท และเป็นแกนนำในการสื่อสารกับเด็กคนอื่นๆ น้องเขาชื่อ ไข่ปิ้ง

ทำงานมาเรื่อยๆ ปัญหาก็มีบ้าง ความยากมีอยู่แล้ว เพราะการทำงานกับคนเราไม่รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร หลักการง่ายๆ ที่ผมจำที่ครูน้ำสอนมาถึงทุกวันนี้ คือ

การทำงานคือการเปิดใจยอมรับเท่านั้นเอง แล้วทุกอย่างจะตามมา

ในสายตาของอู๊ดเด็กชายขอบเป็นคนแบบไหน

คนภายนอกอาจมองว่าเด็กชายขอบสกปรก ก็สกปรกจริงเนอะ ผมก็คิดว่าอย่างนั้น (หัวเราะ) แต่เด็กก็มอมแมมในอัตลักษณ์ของมัน เราจะทำอย่างไรให้เด็กเนื้อตัวมอมมแมมสะอาด ผมก็จับเด็กมาตัดผม อาบน้ำ ไม่มีใครยอมทำตามดี ๆ ถึงอย่างนั้นผมก็ต้องพยายามทำ และนั่นเป็นเหตุผลให้ผมต้องรักษารูปลักษณ์และบุคลิกให้ดูดีตลอดเวลา เพราะผมต้องการให้พวกเขาเห็นแล้วเอาไปเป็นแบบอย่าง ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ

วันหนึ่งผมไปตัดผมแล้วเดินเข้ามูลนิธิมา น้องคนหนึ่งผมยาวเหม็นมากเลยเดินมาบอกผมว่า ทรงผมพี่เท่จังเลย ผมก็ตอบไปว่า อยากทำผมทรงนี้ใช่มั้ย มาพี่ตัดให้ ตอนนั้นเราตัดไม่เป็นก็ดู YouTube ศึกษาวิธีตัดเอา ผมจัดการไถข้างให้ พอตัดให้เสร็จผมก็บอกว่า พี่ว่าผมมันติดเนื้อตัว ไปอาบน้ำดีมั้ย  ผมทำสำเร็จสองอย่างแล้วครับ พอเนื้อตัวเขาสะอาดเขาก็ดูน่ารักดี

คนอื่นอาจจะมองเขาด้วยแว๊บแรกแต่เราต้องมองให้ลึกเข้าไปข้างใน
คนสามารถเปลี่ยนกันได้

สำหรับเด็กนะ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะยากกว่ามาก อย่างแม่ๆ ที่อาศัยอยู่ชายขอบ ติดยา มีลูกเยอะ เราอยากให้เขาทำหมัน เขาก็จะไม่ยอมบอกว่า มายุ่งอะไรกับชีวิตเขา การทำหมันมันบาป ทำแล้วตาย ไม่อยากทำ เราก็ต้องไปศึกษาข้อมูลมาบอกเขาว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่เขาคิด ความยากง่ายในการทำงานของเราขึ้นอยู่กับคนที่ทำงานเราด้วย

ในมุมของอู๊ด คิดว่าเด็กชายขอบสามารถลุกมาเป็นพลเมืองสำคัญของสังคมได้ไหม

ผมว่าเรื่องนี้อยู่ที่ โอกาสครับ เด็กคนหนึ่งเติบโตในวงจรนี้ ถ้าไม่ได้รับโอกาสในการเดินออกก็คงติดอยู่ในวงจรนั้น แต่ถ้าเราให้โอกาสเขาเหมือนที่มูลนิธิทำเด็กคนหนึ่งก็อาจได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เหมือน พัลลภ – พัลลภ ประสบชับ ตอนก่อนน้องจะเข้ามา น้องก็เคยเป็นเด็กเร่ร่อนวุ่นวายคนหนึ่ง เดินขอเงินฝรั่งตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานที่นี่ ที่มูลนิธิเราให้โอกาสเขาในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้การศึกษา น้องเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปเรื่อยๆ เขาอยากทำงานใช้ภาษาอังกฤษแต่ยังไม่มีพื้นฐาน เราก็สอนภาษาจัดหาตำรามาให้ ตอนนี้เขาโตแล้วครับ และเขาก็อยากจะเป็นแกนนำของเด็กๆ อีกทีหนึ่ง

ตัวภัลลพเองเขาเอาพื้นฐานที่เติบโตมาจากวงจรนั้นมาช่วยเหลือน้อง ๆ
ด้วยความเข้าใจ ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ได้เติบโตในแบบที่เขาอยากจะเป็น

อู๊ดมีบทบาทในการทำให้เด็กๆ ในมูลนิธิฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง

มันเป็นความท้าทายของเราว่า เราจะทำอย่างไรให้เด็กที่เข้ามาในมูลนิธิฯ เดินไปได้ไกลที่สุด อย่างแรกที่ผมให้ความสำคัญสุดคือการศึกษา ภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเรื่องที่สามารถสร้างสรรค์ได้ แต่ความรู้ปลอมไม่ได้ ผมรู้อะไร ผมก็สอนเขาไปอย่างนั้น ทั้งความรู้ตามตำราและทักษะชีวิต เช่น เราระมัดระวังตัวจากภัยอันตรายต่างๆ อย่างไร ตอนออกเดินทางเราจะสอนให้เขาหัดสังเกตป้ายต่างๆ รู้จักถามด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งแต่ละคนสามารถนำไปปรับใช้ในแบบของเขา

เราสอนเขาว่าพฤติกรรมอะไรดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควรกระทำ เช่น การดึงที้งเสื้อเพื่อขอเงิน เราก็ลองทำกับตัวเขาเองว่าเขาชอบหรือไม่ เขาก็รู้สึกไม่ชอบ และได้เรียนรู้ว่าวันหลังไม่ควรทำแบบนั้นอีก

ตั้งใจจะทำงานที่นี่ไปอีกกี่ปี เราก็เป็นเด็กไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสจะทำงานตามฝัน

ทุกคนมีความอิ่มตัวในการทำงานครับ ถ้าวันหนึ่งผมอิ่มตัว อายุเยอะขึ้น มีคนรุ่นใหม่มาทำงานและมีศักยภาพมากกว่าผมก็จะหลีกทางให้และเรียนรู้จากพวกเขา ผมจะไม่ปิดกั้นเพียงเพราะเขาทำสิ่งที่ต่างจากที่ผมคิดหรือถนัด ทุกอย่างสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ สำหรับคำตอบว่าผมจะทำงานนี้ไปถึงเมื่อไหร่ ผมยังตอบไม่ได้ครับ ยังเป็นเรื่องของอนาคต พรุ่งนี้ผมอาจจะลาออกเลยก็ได้นะครับ (หัวเราะ)

ความสุขของอู๊ดคืออะไร

ผมชอบอยู่กับเด็กๆ ผมชอบให้เด็กมีความสุข ชอบให้พวกเขาหัวเราะ คนที่รู้จักกันดีจะรู้ว่าผมไม่ใช่คนนิสัยแข็งกร้าวหรือขรึม ๆ ผมออกจะดูนิสัยปัญญาอ่อนเสียด้วยซ้ำ เข้าหาง่าย คุยสนุก เด็กๆ ก็เลยชอบผมมั้งครับ (หัวเราะ) เป็นเพื่อน พี่ น้อง มันสนุกดีครับ อีกความสุข คือ ผมได้สอน ตัวผมเองชอบสอนภาษาไทยและทักษะชีวิต เราสอนให้เขาได้อยากเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ แล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะผมไม่ได้เป็นคนเก่งอะไร อันไหนไม่รู้ก็เปิดกูเกิลค้นหาคำตอบ เป็นงานที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง ทำแล้วมีความสุข

มาเล่นกับคำ ๆ หนึ่งกัน สุขร่วมสร้าง คิดว่าคืออะไร

เรามาร่วมกันสร้างความสุขด้วยกันเถอะ (หัวเราะ)

ด้วยบทบาทของตัวอู๊ด อู๊ดคิดว่าจะทำอะไรที่เป็นสุขร่วมสร้างได้บ้าง

ทำให้คนอื่นมีรอยยิ้ม ไปที่ไหนก็เป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น ผมก็เหมือนคนทั่วไปมีมุมทุกข์และสุข แต่ผมก็จะพยายามทำให้พื้นที่รอบข้างของผมมีความสุขในขอบเขตที่สมควรครับ

อวยพรปีใหม่

อยากจะฮื้อกุคนตี้อ่านบทความนี้ ขอฮื้อจงมีแต่ความสุข ใจ้ชีวิตฮื้อมีความสุขนักๆ เพราะเฮาก่อบ่ฮู้ว่าชีวิตของเฮาจะสั้นจะเยาเต้าใด ขอฮื้อเฮามีความสุขในวันนี้ คนอื่นก็มีกะความสุข เต้าอั้นก่อปอแล้ว ขอฮื้อกุคนมีความสุขในวันปี๋ใหม่ครับผม

ความสุข (Happiness) แม้จะเป็นเรื่องที่เป็นปัจเจก แต่เราเชื่อว่าความสุขที่ยั่งยืน เป็นสุขที่ทุกคนร่วมสร้างและสุขสมไปกับผลลัพธ์ (Collective Happiness) เหล่านั้นร่วมกัน ด้วยเหตุนี้โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้หยิบยกเอาความสุขที่เรียบง่ายของคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม มูลนิธิบ้านครูน้ำ ภาคีของโครงการฯ ซึ่งเดินหน้าสร้างความสุขให้กับผู้คนแบบไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนมานำเสนอ ด้วยหวังว่าประสบการณ์ ข้อคิด และความสุขในการทำงานของพวกเขา จะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างความสุขแก่สังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งต่อไป

 , ,